ถกวงเสวนา "คุกไทยมีไว้ขังคนจน" นักวิชาการชี้ศาลไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่มีหลักวางไว้อยู่แล้ว แนะใช้หลักเกณฑ์มาปรับใช้เพื่อลดช่องว่างทางฐานะให้คนในการต่อสู้ตามขั้นตอนกระบวนการ เผยมีครอบครัวไม่มีเงินประกันตัวสู้คดีต้องติดคุก จนลูกต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์...
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2555 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีงานเสวนาวิชาการ วันรพี ประจำปี 2555 คณะนิติศาสตร์ ในหัวข้อหารือ "คุกไทยมีไว้ขังคนจน" ซึ่งวิทยากรที่เข้าร่วมในครั้งนี้คือ นายสุรพล ศุขอัจจะสกุล เลขานุการศาลอุทธรณ์ ภาค 7 นายวิทยา แก้วไทรงาม กรรมการบริหารสภาทนาย ภาค 7 น.ส.นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และนายณรงค์ ใจหาญ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสุรพล กล่าวว่า หลักเกณฑ์ทางกฎหมายมีอยู่ แต่ทำไมจึงเลือกปฏิบัติไปในทิศทางนี้ เพราะเป็นเหตุผลในการมองของภาพรวมในกระบวนการทั้งหมด แต่ถ้าปล่อยเป็นหลักหมดเลย สภาพสังคมจะเป็นอย่างไร กรณีที่มีเรื่องเล่าที่ว่าเหมือนฆ่าคนแล้วเอาเงินมาวางตามหลักประกันเขาก็ไปขู่ฝ่ายผู้เสียหาย เมื่อทางผู้เสียหายมีจดหมายมาที่ศาล ศาลก็อาจถอนประกันได้เลย ในเรื่องเงื่อนไขที่ศาลไม่ต้องกำหนดเรื่องวงเงินนั้น ถ้ามองว่าไว้ขังคนจนหรือไม่นั้น ในหลายๆ เรื่อง และเหตุมันก็เป็นทำนองนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้เป็นแบบนี้ทั้งหมด ความจริงมันก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว เช่น แวดวงการศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่แก้ไข แต่กำลังจะบอกว่าไม่ใช่เพราะจนถึงต้องติดคุก
“อันนี้เป็นคำแก้ตัวของจำเลย เมื่อมีเรื่องมาแล้วเราก็ต้องดูเรื่องของเงื่อนไขว่าจะให้ออกมาเป็นอย่างไร ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการปล่อยโดยไม่มีหลักประกัน แต่จะหาอะไรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามกระบวนการได้คุกไม่ได้มีไว้ขังคนจนจริงๆ ซึ่งแบบนี้มีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งก็แล้วแต่กรณี ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นหลายกระบวนการ มูลค่าทางเศรษฐกิจในการนำมาเป็นค่าปรับ” นายสุรพล กล่าว
ด้านนายวิทยา กล่าวว่า การไม่ได้รับการประกันตัว ส่งผลกระทบมาต่อครอบครัว เพราะบางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว บางคนเดือดร้อนจนต้องส่งลูกไปอยู่สถานสงเคราะห์ การประกันตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย แม้ในเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2550 คนรวยหรือจนก็อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน โดยไม่ได้มีสิทธิพิเศษเอาไว้ แต่หลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาที่วางหลักเกณฑ์ละเอียดและดีแต่ไม่ได้เอามาใช้อย่างจริงจัง เช่นในเรื่องแรกถ้าผู้ที่มาประกันเป็นญาติกันหรือของที่มูลค่าใกล้เคียงกัน ถ้าเขาจนก็ควรจะให้มีหลักประกันที่น้อยลงได้ แต่ตนก็ไม่เคยเห็นว่าจะลดหลั่นตามที่ได้เห็น อันนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเห็นใจอยู่ และในคดีที่มีหลายข้อหาเป็นการเพิ่มภาระให้คนจนอยู่
“ถ้ามีการแก้ปัญหาดีนั้น ก็คงหากมีโครงการ แต่ควรจะเป็นปัญหาเพราะคดีความมีจำนวนมาก ในเรื่องหลักประกัน ปกติคนจนก็ไม่มีหลักทรัพย์ จะมาประกันตัวก็ลำบาก หยิบยืมก็ไม่ได้ และนี่คือปัญหาว่าจะทำอย่างไร ทางออกก็คือไปพึ่งนายประกันอาชีพ แต่ก็ต้องมีค่าจ้าง” กรรมการบริหารสภาทนาย ภาค 7 กล่าว
ขณะที่ นายณรงค์ กล่าวว่า ในเรื่องการปล่อยชั่วคราวจะเริ่มเมื่อมีการต้องขัง อาจจะมีเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวไปก่อน และต้องสร้างความมั่นใจว่าจะอยู่ที่บ้านไปไหนมาไหนก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่รัฐต้องการพิจารณาฟังคดี เราก็จะต้องได้ตัวจำเลย ถ้าหลักประกันไม่เพียงพอ ฉะนั้น ที่มีการตั้งประเด็นไว้ว่าคุกมีไว้ขังคนจนหรือไม่นั้น ตามกฎหมายคือผู้ที่มีโทษจำคุก แต่ที่มีปริมาณคนที่อยู่ในคุกมากนั้น คนคนนั้นยังไม่รู้เลยว่าทำผิดหรือไม่ แต่ต้องไปอยู่ในคุก การจะลงโทษใครต้องมีหลักฐานให้ชัด บางคนก็อาจจะมีการหลบหนีไป อย่างน้อยต้องมีหลักประกันที่ว่าจะไม่หลบหนี แต่หลายคนเป็นคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ที่เป็นจำนวนเยอะมาก หลักประกันสำหรับคดีนี้อาจจะเอามาไว้ได้ เพราะเขาเป็นคนมีฐานะ แต่ว่าชาวบ้านอาจจะจำเป็นต้องขายที่ดินทั้งหมดเพื่อมาประกันตัวเพียงแค่เงิน 5 หมื่นบาท
“เราต้องหาหลักประกันว่าทำอย่างไรคนจนจะได้ประกันตัว เมื่อข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถ้าจะปล่อยตัวชั่วคราวไม่ต้องมีหลักประกัน ถ้าคดีที่มีโทษอย่างสูงคือ 5 ปีขึ้นไป ถ้าจะปล่อยตัวต้องมีสัญญาประกันไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์ก็ได้ เพียงแค่สัญญาว่าจะมาตามเรียก อันนี้คือเงื่อนไขของกฎหมาย ถ้าไม่มีเงินจะทำได้หรือไม่ คือเอาข้าราชการที่ลำดับขั้นตามซีเอา กฎหมายเองไม่ได้ต้องวางหลักประกัน แต่ในทางปฏิบัติก็มีการใช้” นายณรงค์ กล่าว
ด้าน น.ส.นงภรณ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งมีเสมอในเรื่องความยุติธรรม กลุ่มหนึ่งคือปัจเจกบุคคล ต้องมีปัจเจกการคุ้มครองเท่าเทียมกัน อีกกลุ่มคือทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกันจากรัฐบาล และกลุ่มสุดท้ายคือ ทุกคนต้องได้รับตามความเหมาะสมเท่ากัน รัฐธรรมนูญบอกไว้ว่าบุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายและเท่าเทียมกัน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่คนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ความเป็นจริงนั้น คนจนเหมือนคนอ่อนแอ แต่คนรวยเหมือนคนแข็งแรง เราต้องมาคิดร่วมกันว่า อะไรจะเอาต่อแต้มคนอ่อนแอเหล่านั้น และยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นการเข้าถึงยาก ต้องใช้วิชาเฉพาะ อีกทั้งต้องใช้เงินอีกต่างหาก และคนจนจะเข้าไปได้อย่างไร ตรงนี้กระทรวงยุติธรรมต้องมีหน้าที่ให้ประชาชนเข้าถึงความเสมอภาคได้เท่ากัน แต่วันนี้ขอพูดเรื่องโครงการส่งเสริมเข้ากระบวนการยุติธรรมตามขั้นต้น แต่ก็ยังมีปัญหา