กลายเป็น ปมร้อน อีกครั้งกับการทำคดีสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรง เม.ย.-พ.ค. 2553 กับยอดผู้เสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บร่วม 2,000 คน
เมื่อกองทัพบกโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ส่ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ทบ. ไปปะทะกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ หัวหน้าคดีนี้ ไม่พอใจที่ดีเอสไอเตรียมเอาผิดเจ้าหน้าที่ทหารว่าเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชน
นี่เป็นคดีสำคัญที่ดีเอสไอซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนที่มาการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุม็อบแดงไล่รัฐบาลเมื่อปี 2553 ซึ่งที่ผ่านมาดีเอสไอได้ปรับแผนการทำคดีใหม่ ตามทิศทางที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ปักธงต้องเอาผิด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ–สุเทพ เทือกสุบรรณ” ให้ได้ จนมีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษร่วม 50 นาย ไปเสริมทัพทำคดีนี้
ที่ผ่านมาพรรคเสื้อแดงหาเสียงกับมวลชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะต้องเอาคนฆ่าประชาชนมาลงโทษให้ได้ จะไม่ยอมทอดทิ้งวีรชนที่ต่อสู้จนพรรคเพื่อไทยชนะเป็นรัฐบาล โดยพาดพิงไปยัง อภิสิทธิ์ นายกฯ และสุเทพ รองนายกฯ อดีต ผอ.ศอฉ. ณ เวลานั้น รวมถึงกองทัพที่เป็นหน่วยปฏิบัติให้ร่วมรับผิดชอบ
จนถึงวันนี้ข้อเท็จจริงเหตุการณ์พฤษภา 53 ใครสั่งยิง ใครคือชุดดำ ใครยิงเอ็ม 79 ใครสั่งเผา มีหลายหน่วยงานเข้าไปสอบสวน เช่น ดีเอสไอ ตำรวจ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง คือ “ดีเอสไอ–ตำรวจ–อัยการ” ซึ่งได้ทำเสร็จไปแล้วหลายสำนวน และเข้าสู่การไต่สวนของศาลอาญากระจายอยู่หลายคดี อาทิ
คดีการเสียชีวิตของช่างภาพรอยเตอร์ส ฮิโรยูกิ มูราโมโต ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งศาลรวมการพิจารณาคดีที่สอง นปช. ถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา วันที่ 10 เม.ย. เข้าด้วยกัน
คดีการเสียชีวิตของ พัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อาชีพขับรถแท็กซี่ ผู้ชุมนุมเสื้อแดง บริเวณถนนราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.
คดีการเสียชีวิตของ ชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับแท็กซี่ ถูกยิงที่หน้าปั๊มน้ำมัน ถนนราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.
คดีการเสียชีวิตของช่างภาพชาวอิตาเลียน ฟาบิโอ โปเลงกี หลังถูกยิงบริเวณสวนลุมพินี วันที่ 19 พ.ค.
คดี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม วันที่ 19 พ.ค. เป็นไฮไลต์ของเหตุการณ์กระชับพื้นที่ พ.ค. 2553
รวมถึงคดีเผาสถานที่ราชการ เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้วบางคดี
ดีเอสไอ สรุปภาพรวมว่า ที่ผ่านมาได้ส่งสำนวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนกลับไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล 22 คดี ส่งศาลไปแล้วและอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลอีก 19 สำนวนคดี และอยู่ระหว่างการพิจารณาของตำรวจแต่ละพื้นที่อีก 3 สำนวน
กระนั้น มีบางคดีที่ “ดีเอสไอ-ตำรวจ” อยู่ระหว่างการสอบสวน เช่น คดี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล “เสธ.แดง” ถูกยิงเสียชีวิต รวมถึงคดีหลักที่เป็นข่าวร้อนระหว่างกองทัพกับดีเอสไอขณะนี้
ยังมีคดีที่แกนนำ นปช.ยื่นฟ้องเองต่อศาลไทยและศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อเอาผิด “อภิสิทธิ์–สุเทพ”
ส่วนคดีดีเอสไอฟ้องแกนนำ นปช. ข้อหาก่อการร้าย อยู่ในชั้นศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการฟ้องในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์
ประเมินว่าภายในปีนี้ ข้อเท็จจริงในชั้นศาลกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์อาจตัดสินได้ในบางคดี
ขณะที่ดีเอสไอเร่งขยายผลคดี เม.ย.-พ.ค. 2553 ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย เพราะใกล้ครบ 6 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ในเดือนหน้า ซึ่งจะมีชุมนุมใหญ่เสื้อแดง ทวงถามความคืบหน้าคดีทุกครั้ง
อีกหน้าที่ซ่อนไว้ คือ การเร่งนโยบายปรองดองล้างผิดของพรรคเพื่อไทย ที่จะใช้คดีนี้เอาผิด “อภิสิทธิ์–สุเทพ” เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความผิดกันถ้วนหน้า นำไปสู่การนิรโทษกรรมทุกคดี โดยเฉพาะล้างคดีทุจริตทักษิณ จึงต้องเร่งสางคดีให้เสร็จ
เมื่อคดีเดินหน้า และ “ทหาร” ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่ดีเอสไอต้องต่อให้ถึง “อภิสิทธิ์–สุเทพ” จึงจำเป็นต้องเรียกทหารสไนเปอร์สอบ ตามที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุเมื่อกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่า มีภาพปรากฏผ่านสื่อมวลชนว่าทหารใช้ปืนยิง
พ.ต.อ.ประเวศน์ บอกว่า ดีเอสไอจะสอบถามว่าทหารใช้ปืนอะไร นำกระสุนมาจากไหน ใช้กระสุนจริงหรือกระสุนยาง โดยจะออกหมายเรียกไปยังต้นสังกัดเพื่อมาให้ข้อมูล และจะประสานไปยังหน่วยงานความมั่นคง เพื่อขอคำสั่งการปฏิบัติหน้าที่ในการกระชับพื้นที่ เพื่อนำมาตรวจสอบว่าทหารได้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่
แน่นอนว่าการรุกของดีเอสไอครั้งนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำกองทัพที่เป็น ผบ.ทบ. ขณะนั้น เพราะสุดท้ายเชื่อว่าดีเอสไอภายใต้เงาของรัฐบาลเพื่อไทยเสื้อแดง จะต้องส่งฟ้องผู้บังคับหน่วยและผู้นำเหล่าทัพในคดีนี้
ถึงแม้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพในการกระชับพื้นที่ เม.ย.-พ.ค. 2553 จะได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางวินัย หรือทางแพ่ง ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และไม่สมควรแก่เหตุ ซึ่งฝ่ายกองทัพได้ยืนยันตลอดว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างรอบคอบ รักษาความสงบตามคำสั่งของรัฐบาลอภิสิทธิ์
แต่การถูกเรียกไปสอบครั้งนี้ ย่อมกระทบกับภาพลักษณ์ของทหารพอควร ทั้งที่ฝ่ายเพื่อไทยพยายามปลอบประโลมใจ กองทัพอาจเป็น “เป้าหลอก” เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการลากให้ถึง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” จึงจำเป็นต้องเอาผิดทหารก่อน เหมือนจะขึ้นที่สูงก็จำเป็นต้องเหยียบบันไดขั้นแรก
เพื่อ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ไม่ให้ดึงกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้อง พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องกดดันมาที่ดีเอสไอไม่ให้เอาผิดผู้บังคับหน่วยที่รับผิดชอบตามพื้นที่ต่างๆ เช่น แยกคอกวัว สวนลุมพินี ราชปรารภ บ่อนไก่ รวมถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ เอง เพราะหากทหารต้องขึ้นศาล และท้ายสุดถูกลงโทษ กองทัพในยุค “บิ๊กตู่” จะถูกจารึกว่าทำร้ายประชาชน
ทว่า เพื่อยืนยันว่าทหารปฏิบัติตามหน้าที่รักษาความมั่นคง จึงเป็นไปตามที่ พ.อ.สรรเสริญ โฆษก ทบ. ถามกลับดีเอสไอ ว่า แล้วทหารที่ถูกชุดดำถล่มด้วยเอ็ม 79 จนเสียชีวิตไปหลายนาย มีความคืบหน้าหรือไม่ และดีเอสไอได้สอบหรือไม่ว่าชายชุดดำคือใคร
อีกทั้งข้อมูล หลักฐานทั้งหมด กองทัพได้ส่งให้ดีเอสไอแล้ว ขณะที่ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอก็เป็นกรรมการอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ร่วมประชุมทุกครั้ง และร่วมกันตัดสินใจมาโดยตลอด จึงน่าจะเข้าใจว่าทหารทำตามหน้าที่
หลัง “บิ๊กตู่” คำรามใส่ดีเอสไอ ธาริต จึงมีท่าทีอ่อนลง และปกป้องทหารว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนใช้อาวุธทำร้ายประชาชนโดยพลการ และถ้ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องในบางคดี ไม่ได้หมายความว่าจะมีความผิดเสมอไป และอาจไม่ต้องรับผิดในการกระทำ เพราะอาจกระทำไปในภาวะจำเป็น หรือปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
นัยของ ธาริต จึงแจ่มชัดว่าทหารไม่ผิด แต่ทหารต้องถูกฟ้องด้วยเพื่อเป้าหมายให้ถึง “อภิสิทธิ์-สุเทพ”
กระนั้น การทำคดีนี้อาจเป็นกลลวงหลายด้าน เมื่อวันนี้เป้าหมายทุกอย่างเปลี่ยนไป
พรรคเพื่อไทยหลังได้เป็นรัฐบาล ต้องการประนีประนอมกับกองทัพและฝ่ายชนชั้นนำเพื่อรักษาอำนาจรัฐไว้
ขณะที่แกนนำ นปช. ลึกๆ ก็ต้องการปรองดองกับทหารตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย น้ำเสียงของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็บอกว่า “ต้องการเอาผิดคนสั่งฆ่า หาใช่ทหารไม่”
ทว่า ที่สุดหากคดีขึ้นสู่ศาล จะตัดสินอย่างไรไม่มีใครรู้และไม่แน่กว่าจะถึงขั้นตอนอุทธรณ์ฎีกาก็อีกหลายปี เมื่อนั้น พ.ร.บ.ปรองดองนิรโทษกรรม ทุกฝ่ายอาจมีผลไปแล้วก็ได้
เพียงแต่ที่พรรคเพื่อไทยและดีเอสไอขึงขัง เพราะต้องเอาใจมวลชนว่าเดินหน้าสอบจริง ไม่เว้นกระทั่งทหาร
แน่นอน กองทัพบกยุค พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องเข้าเนื้อบ้าง และไม่พอใจกับบทบาทของดีเอสไอ แต่อย่างไรเสีย หากเข้าใจสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยต้องแชร์อำนาจกับเสื้อแดงเพื่อประคองมวลชน ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะวันนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่กล้าชนกองทัพอย่างจริงจัง และคงอยู่ร่วมกันพักใหญ่เพื่อประคองอำนาจรัฐให้ยั่งยืน