เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ และมุมมองต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จุดเปลี่ยนของไทยแบบไม่เหมือนประเทศอื่นที่สูญเสียชนชั้นนำจากผลของสงคราม
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์ภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง “การหลอมความหลากหลายเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันของขบวนการเสรีไทย” ในงานครบรอบ 67 ปี วันสันติภาพไทย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.55 ถึงประวัติศาสตร์เสรีไทย และช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ธเนศ กล่าวว่า จากที่ส่วนตัวทั้งเรียนและสอนประวัติศาสตร์ แต่ไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นประวัติศาสตร์ เพราะโดยส่วนใหญ่นักประวัติศาสตร์มักให้ความสำคัญกับหลักฐานในอดีตอย่างละเอียด ซึ่งก็ยอมรับในแง่ที่เป็นความรู้ แต่โดยส่วนตัวในทางปฏิบัติสิ่งที่ให้ความสำคัญมากกว่านั่นคือปัจจุบัน
“ในที่สุดแล้วประวัติศาสตร์ที่มีความหมาย คือประวัติศาสตร์ที่สามารถถ่ายทอด รับรู้ เข้าใจ โดยคนปัจจุบันได้ ก็คนในอดีตเขาตายหมดแล้ว จะให้เขาเข้าใจอะไร ไม่ต้องแล้ว ไม่ต้องไปเขียนให้เขาเข้าใจ ปัญหามันอยู่ที่ว่าคนรุ่นนี้และรุ่นต่อไป เมื่ออ่านประวัติศาสตร์แล้ว คนรุ่นเดียวกัน รุ่นปัจจุบันนี้รับรู้ไหม ตีความได้ไหม เข้าใจไหม และเอาไปต่อยอดมันได้ไหม” ธเนศกล่าวถึงทฤษฎีที่ตัวเขาเองตั้งขึ้น
เมื่อพูดเรื่องเสรีไทย ธเนศเปิดประเด็นซึ่งมีนักวิชาการรุ่นใหม่ได้ทำไว้ จากวิทยานิพนธ์เรื่องขบวนการเสรีไทยของ สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ อาจารย์ประจำกองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเสนอข้อคิดใหม่ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้นส่วนใหญ่เราจะพูดในเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่น การรักษาเอกราช แต่อีกด้านที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ การเกิดการต่อสู้ของขบวนการการเมืองภายในประเทศเอง ทั้งก่อนและหลังการเกิดขบวนการเสรีไทย
ธเนศ กล่าวว่า ตรงนี้ช่วยตอบประเด็นที่ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้ร่วมเวทีเสวนาที่ทิ้งไว้ว่า “ทำไมจนถึงบัดนี้ ประวัติศาสตร์เสรีไทย รวมถึงตัวตนของเสรีไทยจึงหายไป” ซึ่งคำตอบคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ
เขาขยายความว่า หลังยุติสงครามไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองไทยนั่นคือสิ่งที่ทำให้อนุสาวรีย์ของเสรีไทยจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ช่วงเวลา 7-8 ปี หลังจากที่สงครามยุติ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2490 ประวัติศาสตร์ได้ถูกเปลี่ยนหน้า โดยเป็นการเริ่มต้นของจุดสุดท้ายของขบวนการเสรีไทยในประวัติศาสตร์ และบทบาททางการเมืองไทย
ขบวนการเสรีไทยกับพลัง “กลุ่มการเมืองในประเทศ”
ธเนศ กล่าวด้วยว่า ดังที่รู้กันว่าขบวนการเสรีไทยประกอบไปด้วยหลายกลุ่ม ทั้งในและนอกประเทศ คือสายอเมริกา สายยุโรป โดยสายในประเทศมีทั้งฝ่ายของ ปรีดี พนมยงค์ และสายนักการเมือง กลุ่มผู้นำท้องถิ่น ซึ่งในที่สุดแล้วอยู่ภายใต้ขบวนการใหญ่ที่มีปรีดีเป็นศูนย์กลาง แต่ความจริงแล้วพัฒนาการของกลุ่มการเมืองในประเทศนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างเป็นทางการ และกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มผู้นำในภาคอีสาน ที่เรารู้จักกันคืออดีต 4 รัฐมนตรีอีสาน (เตียง ศิริขันธ์, จำลอง ดาวเรือง, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และถวิล อุดล) ซึ่งเคลื่อนไหวรวมตัว มีบทบาททางการเมืองก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
หากโยงกลับไป ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ผู้นำการเมืองที่ผ่านการรับเลือกตั้งและเข้ามามีบทบาทในรัฐสภา ในระบอบประชาธิปไตยขณะนั้น โดยเฉพาะหลังปี 2477 บทบาทของ ส.ส. ในการควบคุม ดำเนินนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีครบถ้วน จนเรียกได้ว่าข้อกล่าวหาที่มีในปัจจุบันซึ่งได้ยินกันมาตลอดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เรื่องนักการเมืองคอรัปชั่น นักการเมืองไร้ศีลธรรม ซื้อสิทธิขายเสียง ไม่สามารถนำมาพูดกับนักการเมืองในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เลย
ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่างธเนศ สภาผู้แทนราษฎรสยามในขณะนั้น ถือว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพ ที่ติดอันดับถ้าเทียบได้ แต่ก็เทียบยากเพราะในตอนนั้นประเทศแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นอาณานิคม มีแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่มีเอกราชเต็มที่สุด ซึ่งต้องถือว่าเราเป็นประเทศที่โดดเด่นมาก ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤติสงครามโลกขึ้น แน่นอนว่ากลุ่มการเมืองที่มีฐานของการเคลื่อนไหวและมีบทบาทอยู่แล้ว คือกลุ่มนักการเมืองอีสาน จึงรวมตัวกันขึ้น และเกิด “คณะกู้ชาติ” ขึ้น ก่อนที่จะมารวมกับเสรีไทย
ธเนศ กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยในปัจจุบันที่เราจะต้องมาอธิบายกันว่ามันจะต้องยึดโยงกับประชาชน การเลือกตั้งต้องนำมาสู่ประชาชน ไม่ใช่การสรรหา หรือการแต่งตั้ง ซึ่งในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาเราก็ยังวนเวียนอยู่กับปัญหานี้ แต่ว่าหลัง 24 มิ.ย. 2475 จนถึงสงครามโลกนั้นปัญหานี้มันคลี่คลาย คือเรามีทั้งรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎร์ในช่วงแรก และมีการเลือกตั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดทั้ง 2 ส่วนมีความโยงใยในฐานะเป็นตัวแทนของราษฎรที่ค่อนข้างชัดเจนมาก
“ผมคิดว่าความหลากหลาย คุณภาพ ความสามารถต่างๆ นั้น ของกลุ่มการเมืองที่ประกอบกันขึ้นในช่วงเสรีไทย เป็นพลังซึ่งถ้าจะเรียกรวมๆ ไป ก็คือพลังการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย”
สงครามโลกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง แต่นั่นไม่ใช่ในแผ่นดินสยาม
เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของเสรีไทย ธเนศ กล่าวว่าเป็นไปตามบริบทโลกที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สงครามโลกนั้นนำการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และโครงสร้างทางการเมือง มาสู่แทบทุกประเทศ
ยกตัวอย่างในยุโรป มีการศึกษาว่าสงครามโลก 1 เป็นสงครามที่ลูกหลานชนชั้นนำในยุโรปเข้าสู่สมรภูมิและล้มตายเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นประวัติการณ์ ส่วนตัวเห็นว่าตรงนี้เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ยุโรปมีการเปลี่ยนโครงสร้าง มีการเปลี่ยนชนชั้นใหม่ โดยขึ้นมาจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เหลืออยู่ การเมือง ประชาธิปไตยของยุโรป สังเกตดูหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 นั้นนำมาสู่ความเท่าเทียมกันเสมอ มากๆ ขึ้น
แต่จากตัวอย่าง หากนำมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสยาม กับเมืองไทยของเรา มันจะอธิบายได้เลยว่า ผลกระเทือนทางสงครามที่ประเทศอื่นๆ ได้ ในการไปเปลี่ยนโครงสร้าง ของเก่าจะถูกทำลายไปด้วยธรรมชาติ ด้วยสงคราม ด้วยอะไรต่างๆ นั้นไม่เกิดขึ้นกับสังคมและโครงสร้างของสยามมากเท่ากับที่อื่น ตรงกันข้าม ชนชั้นนำของสยามยังคงอยู่เกือบครบถ้วน และกลับมีความมั่นคงมากขึ้นประเทศอื่น
ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้เอกราช ยกตัวอย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีการประกาศเอกราช รวมทั้งมีการต่อสู้เพื่อเอกราชและล้มตายไป แต่ละประเทศไม่มีความเป็นเอกภาพ ศูนย์กลางของแต่ละประเทศไม่มี แต่สยามศูนย์กลางยังแข็งอยู่ และคนที่เข้าสู่ศูนย์กลางก็ยังเป็นคนในกลุ่มอีลีต (ชนชั้นนำ) ที่มาตั้งแต่ก่อน 24 มิ.ย. 2475 ตัวอย่างพระยาศรีวิสารวาจาที่อยู่กับรัชกาลที่ 7 จนมาหลังสงครามก็ขึ้นมาอีก เป็นการสืบทอดของกลุ่มอีลีตที่ยาวนานมาก
“พลังอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยนั้นเข้มข้น แน่นเหนียว ยืดยาว ยาวเหยียด ยั่งยืน กว่าที่อื่นในโลก” ธเนศ ให้ข้อสรุป
ธเนศ กล่าวขยายความว่า มีข้อสังเกตจากรายชื่อรัฐมนตรีในแต่ละยุคหลังสงครามลงมา ซึ่งมีแต่พระยา มีแต่คนอายุมาก ซึ่งในประเทศอื่นๆ จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา โดยในคณะราษฎรเองก็มีแต่คนรุ่นใหม่ๆ อายุ 30 ต้นๆ
เขากล่าวด้วยว่า ตรงนี้เป็นพลังอันหนึ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 จึงเกิดขึ้นได้ง่ายและประสบความสำเร็จ รวมทั้งสามารถพลิกประวัติศาสตร์ โดยรัฐประหารครั้งดังกล่าวเป็นการ counter revolution ของ 24 มิ.ย. 2475 ซึ่งมีการตั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน สถานการณ์ตอนนั้นอำนาจราชาธิปไตยกับอำนาจประชาธิปไตยยังขับเคี่ยวกันอยู่ แม้ฝ่ายคณะราษฎร์ยึดอำนาจได้แต่ก็ต้องประนีประนอมเพราะไม่ใช่การโค่นอำนาจ เป็นการปฏิวัติที่ไม่มีการนองเลือด ทุกอย่างยังอยู่คงเดิม
จนมาหลังยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) จึงสามารถสถาปนาประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จึงไม่เคยใช้ในตอนนั้น คือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ “พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
แต่หลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 และมีรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2492 ระบอบประชาธิปไตยได้เปลี่ยนกลับมาใช้ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และสถานะของกษัตริย์ก็ถูกดึงกลับขึ้นมา รวมทั้งมีการตั้งสภาองคมนตรีมาถึงปัจจุบันนี้ ตรงนี้เป็นการรื้อฟื้นกลับไปสู่ระบอบราชาธิปไตย
ธเนศ ให้ความเห็นว่า ช่วงที่เปลี่ยนผ่านหลังสงครามเป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะในตอนนั้นฝ่ายเสรีไทยมีทั้งกำลัง มีทั้งคน รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆ ดังที่อาจารย์ปรีดีเสนอให้รัฐบาลขณะนั้นซึ่งนำโดยควง อภัยวงศ์ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2489 เพื่อที่จะอนุวัตรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตอนนั้น โดยเลิกบทที่ว่าห้ามเชื้อพระวงศ์เล่นการเมือง ห้ามกีดกัน เพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ รวมทั้งให้มี 2 สภา คือสภาผู้แทน และสภาสูง ซึ่งทั้ง 2 สภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2489 ถูกใช้ในเวลาเพียง 2 เดือน ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ
“ถ้ารัฐธรรมนูญ 2489 ใช้ต่อมา ก็แสดงว่าประชาธิปไตยไทยก็จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2489 มาถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นการตีกัน ทะเลาะกันแบบที่เราเจอกันตอนนี้น่าจะไม่มี และรัฐประหารอีก 10 ครั้งก็น่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะกองทัพจะไม่มีบทบาท ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เข้าสู่สิ่งที่พูดง่ายๆ ว่ามาตรฐานสากล”
ธเนศ กล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเพราะว่าหลังสงครามโลกเป็นต้นมา พลังประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นไม่มีพลัง คือออร์กาไนซ์กันไม่ได้ เพราะว่าฐานมวลชนยังไม่เข้มแข็ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคมยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง พูดง่ายๆ ว่าความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญยังไม่กว้างขวาง แน่ชัดเหมือนในปัจจุบัน
“หากเราทำได้ในปี 2489 ผมคิดว่าประเทศสยามจะเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่จะมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงที่สุด และถ้าเป็นอย่างนั้นก็หวังว่าระบอบเศรษฐกิจของเราก็น่าจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้”
เสียงของ ส.ส. เป็นสิทธิราษฎร ซึ่งรัฐบาลต้องเคารพราษฎร
ธเนศ กล่าวต่อมาว่า อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากคือ ปัญหาการบริหารบ้านเมืองและระบบการเมืองในปัจจุบันนั้น เนื่องจากการควบคุมจากท้องถิ่นและประชาชนทำไม่ได้อย่างเต็มที่ แม้เราจะมีการกระจายอำนาจในปัจจุบัน แต่อำนาจยังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลุ่ม ส.ส.อีสานในอดีต ที่มีการรวมตัวตั้ง “พรรคสหชีพ” หลังสงครามโลกสงบลง ได้เสนอทุกอย่างที่เราพูดกันในปัจจุบัน คือ ต้องมีการกระจายอำนาจ ราษฎรต้องเป็นคนควบคุมรัฐบาล รัฐบาลต้องมาจากประชาชน ดังนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยไม่รู้ คนที่พูดบอกว่าประชาชนเลือกผิดๆ ควรไปอ่านประวัติศาสตร์ก่อน ไปดูของจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับเมืองไทย
จากรายงานการประชุมสภาฯ พระยาพหลพลพยุหเสนา ถูก ส.ส.อีสานโหวตไม่ไววางใจ 2 ครั้ง จึงลาออก โดยบอกว่า รัฐบาลนี้ต้องออก เพราะว่าเสียงของ ส.ส.เป็นสิทธิราษฎร ซึ่งรัฐบาลต้องเคารพราษฎร โดยรัฐบาลเป็นตัวแทนอำนาจของรัฐ คือต้องรักษาความมั่นคงซึ่งเป็นปัญหาในตอนนั้น ไม่สามารถจะทำเรื่องที่เป็นของราษฎรได้ทั้งหมด ตอนนั้นไม่ได้มีการใช้คำว่าประชาธิปไตยอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่พระยาพหลพูดตรงๆ ตามหลักการว่านั่นคือเสียงของราษฎร คือผลประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลต้องทำตาม รัฐบาลจะอยู่ทำไมถ้าประชาชนเขาไม่ไว้วางใจ
“ถ้าใครบอกว่าประชาชนไทยไม่รู้เรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นนักการเมือง ถ้าพูดอย่างนั้นแล้ว ผมคิดว่าเป็นนักการเมืองที่ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยจริงๆ มันแปลว่าอะไร”
“แบ่งแยกดินแดน” วาทะกรรมที่ถูกยัดเยียด จากถิ่นอีสาน สู่ชายแดนใต้
ธเนศ กล่าวต่อมาถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในภาคใต้ว่า ไฟความขัดแย้งในภาคใต้โหมแรงขึ้นหลังปี 2490 มีการจับตัว “หะยีสุหลง” ในข้อหากบฏ แต่ต้องเปลี่ยนเป็นดูถูกรัฐบาลไทยเพราะมีหลักฐานไม่เพียงพอ ทั้งนี้ในขณะนั้นไม่มีการตั้งข้อหาแบ่งแยกดินแดน แต่กลุ่มการเมืองที่โดนข้อหาแบ่งแยกดินแดนคือนักการเมืองอีสาน จากการร่วมกับกลุ่มลาวอิสระ ลาวรักชาติ ต่อสู้กับฝรั่งเศส และมีความคิดถึงขั้นช่วยปลดปล่อยลาวแล้วรวมลาวเข้ากับอีสาน แต่เมื่อถูกจับกลับถูกฟ้องแบ่งแยกดินแดน ซึ่งตรงนี้กลายเป็นเรื่องตลกเพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความคิดรวมดินแดนไม่ใช่แบ่งแยก
“ที่มันตลกต่อมาก็คือ พอภาคใต้เกิดเป็นเรื่องขึ้นมา ไอ้ป้ายยี่ห้อแบ่งแยกดินแดนก็ถูกย้ายลงไปให้กับพวกภาคใต้ แล้วจากนั้นมา เราก็เรียกกลุ่มเคลื่อนไหวภาคใต้ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด”
ธเนศ กล่าวว่า จากหลักฐานที่ได้จากการพูดคุยกับคนมลายูมุสลิมทั่วไปที่พอรู้เรื่องราวต่างๆ ถึงคำศัพท์ภาษายาวีที่ตรงกับคำว่า “แบ่งแยกดินแดน” เขาบอกว่าไม่มี เขาไม่เคยเรียกตัวเองว่าแบ่งแยกดินแดน และไม่เคยมีศัพท์ว่าแบ่งแยกดินแดน เขาจะต่อสู้เพื่อดารุสสลาม หรือเพื่อสิ่งต่างๆ แต่ไม่ได้สู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน
ทั้งนี้ ผู้ที่จุดเพลิงตรงนี้ให้เกิดขึ้นไม่ใช้จอมพล ป. แต่คือรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในสมัยที่ควง อภัยวงศ์ เป็นนายก ได้ส่งรัฐมนตรีไปจับหะยีสุหลง เมื่อต้นปี 2491 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์ของเราถูกบิดโดยไม่ตั้งใจ จากกระแสของอำนาจที่ไปตีความให้เข้ากับความต้องการ ความสะดวก แล้วก็ผลประโยชน์ของกลุ่มที่อยู่เท่านั้น
พลังอนุรักษ์นิยมเข้มข้น ตัวฉุดการเมืองไทยถอยหลัง
ธเนศ กล่าวว่า จากตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะเสรีไทยเท่านั้นที่ไม่มีที่อยู่ ขบวนการ การเคลื่อนไหวของประชนก็รวมอยู่ด้วย ซึ่งตั้งแต่ตอนนั้นหากเขาได้ทำต่อไป ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจริงๆ มันเกิดแล้ว ไม่ต้องมากระจายอำนาจเหมือนในตอนนี้ ที่กระจายยังไงก็กระจายไม่ออก
“ในตอนนั้น นักการเมืองท้องถิ่นทุกที่เขาพร้อมจะทำงานและก็ทำอยู่แล้วด้วย แต่ว่าบรรดาพลังแน่นเหนียว พลังอนุรักษ์ พลังเก่าทั้งหลาย พลังที่ที่อื่นเขาถูกกวาดไปด้วยสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง แต่ของเราไม่ได้ถูกกวาดไปไหน อันนั้นแหละคือตัวที่ทำให้การเมืองไทยถอยหลังยืดยาวกลับไปสู่อดีตที่ไม่มีอนาคต”