เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกมีความไม่สบายใจกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีความใน ฐานะพนักงานสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 โดยการให้สัมภาษณ์ของบุคคลดังกล่าวที่เอ่ยถึงผลการสอบสวน และแจกแจงรายละเอียดตามที่ปรากฏข่าวหนังสือพิมพ์ ถือเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงในทางคดี ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ คดียังไม่ถึงที่สุด อาจจะก่อความเสียหายต่อรูปคดีในการพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ในคดีอาญาได้ รวมถึงคำพูดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทหาร ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายต่อจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีสลายการชุมนุมได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผล การสอบสวนคดีโดยระบุว่า บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลักฐานยืนยันว่าการเสียชีวิตน่าจะมาจากการกระทำ ของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมทั้งระบุว่ามีคลิปสไนเปอร์ขณะที่มีการยิงอยู่ด้วย โดยเตรียมจะออกหมายเรียกกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีพยานหลักฐานมาสอบสวนจึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เกิดความไม่สบายใจ เนื่องจากเห็นว่าคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพบก และกระทบต่อขวัญกำลังใจทหารที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จึงสั่งการให้ทีมโฆษกกองทัพบกชี้แจงต่อสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า การสอบสวนคดีสลายการชุมนุมยังไม่เป็นที่สิ้นสุด
วันเดียวกัน (15 สิงหาคม 2555) ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ และนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการเร่งรัดให้ประเทศไทยประกาศยอมรับเขตอำนาจ ศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นรายกรณีตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อ 12 ข้อย่อยที่ 3 กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 โดยมีการยื่นหนังสือส่งมอบคำประกาศต่อ พล.ต.อ.ประชา พหรมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ดำเนินการพิจารณาต่อไป หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศมาแล้ว
นพ.เหวง กล่าว ว่า การที่จะดำเนินการให้ประเทศไทยลงนามในสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมนั้นจะต้องผ่าน การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 และหากประเทศไทยลงนามในสัตยาบันแล้วจะไม่สามารถที่จะดำเนินคดีย้อนหลังได้ จะทำให้การดำเนินคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 53 สูญเปล่าทันที ดังนั้น จึงต้องการให้ประเทศไทยประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศในกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมเท่านั้น
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาต่อไปตามระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ และจะนำมาพิจารณาตามระเบียบ สาระ และแนวปฏิบัติเพื่อศึกษารายละเอียดและดำเนินการต่อไป
นายวรชัยกล่าว ว่า ไม่เกินเดือนกันยายนนี้จะสามารถทราบได้ว่าผู้ที่สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ เมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นใครและสามารถนำตัวมาดำเนินคดีได้แน่นอน