สภาทนายชน กกต. ตัดสิทธิ์ 'สัก' อีก จะฟ้องดำเนินคดี

ไทยรัฐ 24 สิงหาคม 2555 >>>




สภาทนายความพร้อมเปิดแนวรบกับ กกต. ยัน กกต.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติ "สัก กอแสงเรือง" อีก ประกาศกร้าวถ้ายังวินิจฉัยตัดสิทธิ์ "สัก" รอบ 2 จะฟ้องร้องดำเนินคดีแน่...

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายวิชาการสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีสภาทนายความยืนยันเสนอชื่อ นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปี 2555 แม้ศาลฎีกาจะพิพากษาเพิกถอนการเป็น ส.ว. ว่า สภาทนายความยังมีความเห็นแย้งกับคำสั่งศาลฎีกาอยู่จึงขอตั้งประเด็นไว้เป็นประเด็นศึกษาทางนิติศาสตร์ต่อไป ว่าคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ที่เป็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 115 (9) ให้หมายความถึงสมาชิกวุฒิสภาด้วย
นอกจากนี้ ในการสรรหานายสัก เป็นสมาชิกวุฒิสภา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาคุณสมบัติของนายสัก พร้อมด้วยอดีต ส.ว. คนอื่นในสมัยเดียวกัน ซึ่งกรรมการสรรหาเห็นว่านายสักพ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ว. เกิน 5 ปีแล้ว การวินิจฉัยของกรรมการสรรหาจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 130 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. ดังนั้น กกต. ย่อมไม่มีอำนาจนำมาวินิจฉัยได้อีก
นายเจษฎา กล่าวต่อว่า ที่ศาลฎีกาอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/43 ว่าผูกพันศาลฎีกานั้น ตนเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่เคยวินิจฉัยเรื่องสมาชิกภาพของ ส.ว. สมัยเดียวกับนายสัก ว่ามีการเริ่มต้นนับอย่างไร ดังนั้น การอ้างคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงคลาดเคลื่อน
ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปคือ ส่งชื่อนายสักเข้ารับการสรรหา ทาง กกต. จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเป็นชุดกลั่นกรอง เมื่อส่งชื่อไปแล้วทางสภาทนายไม่มีโอกาสชี้แจงอีก ถ้าวินิจฉัยแล้ว "ตัดสิทธิ์" นายสัก อีก ก็จะไม่เสนอชื่อคนใหม่เพราะคงเลยเวลาไปแล้ว แต่จะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทันที ขึ้นอยู่กับว่าคดีนั้นจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด เช่นอาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม และถ้าผ่านชั้นอนุฯกลั่นกรองไปแล้วเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา อีก 1 ชุด แล้วยังขืนตัดสิทธิ์นายสักอีก เราก็จะดำเนินคดีกับกรรมการอีกเช่นกัน
ด้านนายสัก กอแสงเรือง กล่าวว่า เรื่องที่ผ่านมาทั้งหมด ขอให้ทุกฝ่าย ทุกองค์กร ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายมอบให้ ขอให้ปฏิบัติด้วยความสุจริตและเป็นธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีกับองค์กรอื่นและประชาชน การเคารพในทุกความเห็น ทุกเรื่องย่อมต้องมีข้อยุติในช่องทางของกฎหมาย แม้ความเห็นในเชิงวิชาการก็ยังต้องรับฟังด้วยเหตุด้วยผล