เรียบร้อยโรงเรียนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ฝั่งเลือกตั้ง ภายหลังเพื่อนๆ สมาชิกวุฒิสภาพร้อมใจเทคะแนนให้ นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ไปถึงฝั่งฝันได้นั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภาเป็นประมุขของสภาสูงได้สมใจ แม้จะต้องขับเคี่ยวกันถึงขั้นฎีกาต้องลงคะแนนลับเลือกตั้งประธาน วุฒิสภากันถึง 2 รอบ ด้วยคะแนน 77 คะแนน ชนะคู่ชิง อย่าง นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ภาควิชา ที่ได้ 69 คะแนน ไป 8 คะแนน
หากย้อน รอยเส้นทางการเลือกตั้ง ประมุขสภาสูงคนใหม่ แทน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เหตุศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก แต่รอลงอาญา 2 ปี ฐานขึ้นเงินเดือนตนเองสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ผ่าน มามีผู้ประกาศตัวเป็นแคนดิเดตเข้าชิงเก้าอี้ ประธานวุฒิสภา เพียง 3 คน คือ
1. นิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา ในฐานะรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1
2. พิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา และ
3. เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ที่เสนอตัวเข้ามาร่วมชิงชัยก่อนวันตัดสินเพียงไม่กี่วัน
ในวันชิงชัย 14 สิงหาคม นอกจากแคนดิเดต 3 คน ที่ประกาศความพร้อมศึกเลือกตั้งประธานวุฒิสภา ยังมี น.ส.สุนันท์ สิงห์สมบุญ ส.ว.สรรหา ภาคเอกชน อีกหนึ่งคน ที่ นางเกศินี แขวัฒนะ ส.ว.อยุธยา เป็นผู้เสนอชื่อเข้าร่วมชิงชัยเก้าอี้ประธานวุฒิสภาในครั้งนี้ด้วย หลังจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจับสลากเพื่อเลือกลำดับการขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ และแสดงวิสัยทัศน์
ต่อที่ประชุม คนละประมาณ 10 นาที เสร็จสิ้น สมาชิกวุฒิสภาที่มากันพร้อมเพรียงทั้ง 146 คน จึงได้ลงคะแนนเลือกประธานวุฒิสภาด้วยวิธีการลงคะแนนลับ โดย นางพรทิพย์ โล่ห์จันทรปรีดา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ขานชื่อสมาชิกวุฒิสภาเรียงตามลำดับอักษรไปลงคะแนนครั้งละ 5 คน
ผลคะแนนรอบแรกปรากฏว่าไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา ที่เข้าร่วมประชุม นั่นคือ 73 คน (จากสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 146 คน) โดยนายพิเชต ได้ 63 คะแนน นายนิคม ได้ 46 คะแนน นายเกชา ได้ 35 คะแนน และ น.ส.สุนันท์ ได้ 2 คะแนน และตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 6 ระบุว่า หากไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก คือ 73 คน ให้ลงคะแนนเลือกกันใหม่ โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก นั่นคือ นายพิเชต กับ นายนิคม
ในการลงคะแนนเลือกประธานวุฒิสภาในครั้งที่ 2 คะแนนของคู่ชิงทั้งสองคนเป็นไปอย่างสูสี จนบทสรุปสุดท้าย นายนิคม ชนะ นายพิเชต ไป 8 คะแนน ด้วยคะแนน 77 ต่อ 69 คะแนน
สำหรับผลคะแนนที่ ออกมานั้นถือว่าผิดคาดของนักวิเคราะห์ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่า คะแนนของ นายพิเชต ส.ว.สรรหา น่าจะอยู่ที่ 73 คะแนน บวกลบไม่เกิน 75 คะแนน เนื่องจากเสียงฝั่งสรรหาเป็นเอกภาพมากกว่า ขณะที่นายนิคมน่าจะอยู่ที่ประมาณบวกลบไม่เกิน 60 คะแนน
แหล่งข่าวใน ที่ประชุมวุฒิสภา ให้ความเห็นว่า ที่คะแนนของนายนิคมพุ่งมาที่ 77 คะแนน เพิ่มขึ้นจากรอบแรกที่ได้ 46 คะแนน ส่วนหนึ่งมาจากคะแนนที่สนับสนุนนายเกชา ในรอบแรกที่ถือว่าได้ลงคะแนน
ตามที่ได้หารือกันไว้แล้ว ในรอบที่สองจึงเป็นสิทธิของสมาชิกวุฒิสภาที่สนับสนุนนายเกชา จะเลือกมาเทคะแนนให้นายนิคม ซึ่งเป็น ส.ว.สายเลือกตั้ง ที่ต้องเข้าไปชิงชัยกับนายพิเชต อีกทั้งเพื่อต้องการให้ ส.ว.สายเลือกตั้ง เข้าไปทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาบ้าง เพราะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปีครึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมดเพราะมี 4-5 เสียงของ ส.ว.เลือกตั้ง ที่ไปสนับสนุนนายพิเชต โดย 35 คะแนนของนายเกชา ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.เลือกตั้ง มีเพียง 4-5 เสียง ที่เป็น ส.ว.สรรหา มาสนับสนุน
ส่วนคะแนนเสียงของนายพิเชต ในรอบแรก 63 คะแนน จากที่คาดว่าจะได้เสียงของ ส.ว. ฝั่งสรรหา 73 คะแนน หายไปจากที่คาดการณ์ไว้ 10 คะแนน ใน 10 คะแนนนี้ น่าจะเป็นกลุ่มของอดีตบิ๊กสีกากีและอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดประมาณ 8 คะแนนที่ไปสนับสนุนนายนิคม ส่วนอีก 2 คะแนน น่าจะไปลงคะแนนให้ น.ส.สุนันท์ สะท้อนว่าเสียง ส.ว.สรรหา แตก ถูกเจาะไปจำนวนหนึ่ง
แหล่งข่าวมองว่า สำหรับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ที่ว่างลง ภายหลังนายนิคม ไวยรัชพานิช ประกาศลาออกกลางที่ประชุมหลังได้รับเลือกตั้งเป็นประมุข คนใหม่ของสภาสูง ในส่วนของ ส.ว.เลือกตั้ง ผู้ที่คาดว่าจะเสนอตัวเข้าชิง คือ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ส่วนนายเกชา คาดว่าคงจะไม่ลงชิงชัย เพราะตามมารยาทผู้ที่เสนอตัวชิงประธานวุฒิสภา จะไม่ลงชิงอีก
ขณะที่ฝั่งของ ส.ว.สรรหา ยังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าจะใช้เวลาหารือกันในช่วง 2-3 วันข้างหน้าว่าจะเสนอชื่อใครชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1
ส่วนมุมมองของนักวิชาการอย่าง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นว่า สถาบันวุฒิสภามีบทบาทที่ชัดเจนได้แก่
1. การกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
2. การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ
3. การพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
4. การพิจารณาเห็นชอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และ
5. การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องพิจารณาร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร นับได้ว่าเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญ บุคคลที่จะเป็นประธานวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่ให้มีความเป็นกลาง และเปิดโอกาสให้ ส.ว ทั้งฝ่ายเลือกตั้งและฝ่ายสรรหาแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย
จากผลคะแนนที่ปรากฏออกมาในการเลือกประธานวุฒิสภาโดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ได้คะแนน 77 คะแนน และนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา ได้คะแนน 69 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่ใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น นายนิคมจะต้องปฏิบัติตัวให้มีความเป็นกลางมากขึ้น และต้องระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม การที่นายนิคมได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภาก็อาจจะเป็นเพราะว่าการทำหน้าที่ ที่ผ่านมาได้ดีพอสมควร และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกให้เป็นผู้ที่ดำรง ตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภาในที่สุด
น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าวาระ ร้อนๆ ทางการเมืองที่รอรับประธานวุฒิสภาคนใหม่มาคุมเกม ทั้งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งประเด็นที่น่าจับตา อย่างการถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ภายหลังที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด กรณีส่ง ส.ส.ปชป. และบุคคลรวม 19 คน ไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการใช้ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการ ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งจะมีผลให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
โดยที่ประชุมวุฒิสภากำหนดให้วันที่ 27 สิงหาคมนี้ เป็นการประชุมนัดแรกในการดำเนินการถอดถอนนายสุเทพ ซึ่งกระบวนการถอดถอนจะต้องใช้เสียงของสมาชิกวุฒิสภา 3 ใน 5
นี่คือ 3 เรื่องร้อนๆ ที่รอท้าทายความสามารถของ ประมุขสภาสูง คนใหม่ที่ชื่อ นิคม ไวยรัชพานิช