เพจในเฟซบุ๊คของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีดี รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. (31 ก.ค.) กลุ่มอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไป นำโดยนายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ รวมตัวที่ "อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อชูป้ายข้อความที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ภายใต้ชื่อกิจกรรม “1 ภาพ 1 พระราชกรณียกิจ ย้ำเตือนธรรมศาสตร์” เตือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้นิสิตนักศึกษา ชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รู้สำนึกถึงประวัติศาสตร์และความดีงามของสถาบันอย่างแท้จริง
ไทยทีวีดี รายงานถึงสาเหตุของการจัดกิจกรรมนี้ของกลุ่มดังกล่าวด้วยว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เองว่า “ไหนๆ วันนี้ มาศิริราชแต่เช้า เดี๋ยวแวะเยี่ยมคนรู้จักบางคนดีกว่า ได้ข่าวว่ามานอนโรงพยาบาลอยู่นาน บ้านช่องไม่ยอมกลับ” ซึ่งในข้อความนี้ มีการโพสต์ รูป เป็นรูปอาคารของโรงพยาบาลศิริราช และมีรูปของพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2555 ได้มีการโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยกล่าวว่า “ตกลงว่าบรรดาคนที่จงรักภักดี รู้หรือพิสูจน์ได้อย่างไรนะครับว่า ในหลวงทำงาน ในหลวงทรงงานหนัก” คำเหล่านี้ทำให้อดีตนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประชาชนทั่วไปพบเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ และตระหนักถึงระบบการศึกษาซึ่งมีนาย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นอาจารย์อยู่ จึงเชิญชวนประชาชนทั่วไป ออกมาจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อบ่งบอกกับเยาวชนนิสิตนักศึกษาให้ตระหนักถึงความจริงว่า ในหลวงทรงงานหนักอย่างไร และทำไมคนไทยถึงรู้สึกรักต่อพระองค์อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ทางกลุ่มดังกล่าวยังได้มีการนำหนังสือเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริมามอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียกร้อง ต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการตักเตือนอาจารย์และนักศึกษาที่มีพฤติกรรมดังกล่าวด้วย
ด้านนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้มีการโพสต์โต้ในเพจเฟซบุ๊คของกลุ่มยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม - Social Sanction: SS ซึ่งมีการนำภาพกิจกรรมนี้มาเผยแพร่พร้อมข้อความด่าทอนายสมศักดิ์ โดยสมศักดิ์โพสต์แสดงความเห็น เช่น “อิอิ ตกลงก็ไม่เห็นจะตอบที่ผมถามได้นี่ครับ ต่อให้ไปยกป้ายสักหมื่นแผ่น เอาหนังสือ "พระราชกรณียกิจ" อีกหมื่นเล่มมา ก็ไม่ตอบคำถามนี่ครับ เพราะข้อมูลและมุมมอง ในป้าย ในหนังสือ เป็นข้อมูลด้านเดียวทีใช้การบังคับยัดเยียด ไม่อนุญาตให้เสนอด้านอื่น ไม่อนุญาตให้ประเมิน ตรวจสอบ วิพากษ์วิจาณ์นี่ครับ”
นายสมศักดิ์ ยังโพสต์อีกว่า “ประเด็นนี้ ไม่เห็นพวกคุณตอบได้สักคน ปล. อย่างที่ผมเขียนไปแล้วว่า ยิ่งคุณด่าผมเท่าไร ยิ่งคอนเฟิร์มสิ่งที่ผมเขียนไงว่าคุณจะประเมินใคร ประเมินอะไร ต้องให้คนมีเสรีที่จะเสนอด้านต่างๆ คุณด่าผม บางคนชมผม ก็ว่าๆกันมา แล้วให้แต่ละคนตัดสินเอง พิลึกมากที่คนรักเจ้า กลับไม่กล้าใช้บรรทัดฐานธรรมดาๆ แบบนี้ในกรณีเจ้า กลัวอะไรหรือครับ ? กลัวว่าที่ตัวเองพูดๆ นี่พิสูจน์ไม่ได้ ? เลยต้องยังใช้วิธีบังคับแบบนี้ ?”
“ทุกองค์กร ทุกบุคคลที่เป็นสาธารณะ ตั้งแต่นักการเมือง ถึงข้าราชการ ถึงนักวิชาการอย่างผม หรือกระทั่งถึงละครทีวี ร้านอาหาร พวกเราไม่ใช่ว่าใช้วิธีเปิดให้เสนอข้อมูลมุมมองต่างๆ ได้ ประเมิน ตรวจสอบ วิจารณ์ได้ แล้วก็ให้แต่ละคนเลือกที่จะตัดสินใจว่าอะไรหรือใครดี ไม่ดีจริง แค่ไหนหรือ มีแต่กรณีสถาบันฯ นี่แหละที่พวกคุณเชื่อเอาแบบหัวปักหัวปำ ทั้งๆ ที่มีวิธีการเผยแพร่ข้อมูลแบบที่ผมว่ามา” นายสมศักดิ์ โพสต์ย้ำ
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มธ. ยังได้โพสต์ถึงหลักการปรัชญาการศึกษาร่วมสมัยทั่วโลกว่า “เขาถือว่า ที่สอนๆ กันนี่คือให้นักศึกษารู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม (ที่ฝรั่งเรียกว่า Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์-ประชาไท))”
“ข้อมูล มุมมอง เรื่องสาธารณะทุกเรื่อง คุณต้องเปิดโอกาสให้เสนอได้ในทุกๆ ทาง เปิดให้วิพากษ์ตรวจสอบประเมินอย่างเสรี ผมเคยพูดหลายครั้ง ขนาดทฤษฎีวิทยาศาสตร์อย่างไอน์สไตน์ เขาก็ทำกันแบบนี้ครับ แต่คนรักเจ้าที่มีการศึกษา กลับไม่ "เก็ต" แฮะว่า ข้อมูล มุมมองเรื่องสถาบันฯ ที่เชื่อกันเอาเป็นเอาตายนี่ ไม่ได้มาด้วยมาตรฐานแบบนี้ (ตรงข้าม ได้มาด้วยการบังคับโปรแกรมด้านเดียว แล้วห้ามเสนอแบบอื่น ห้ามตรวจสอบ วิจารณ์) เป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมเขียนๆ นี่ คือเพื่อไม่ให้การศึกษาที่เราทุ่มเทกันไปเยอะนี่มันสูญเปล่า ได้คนที่มีการศึกษาที่ไม่รู้จักคิด เอาแต่เชื่ออะไรที่ไม่ยอมให้พิสูจน์นี่แหละครับ” สมศักดิ์ระบุ