เงื้อง่ามาหลายครั้ง ก็เป็นอีกครั้งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เสนอร่างรายงานผลการตรวจสอบของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้ง 9 ชุด ที่แต่งตั้งโดย กสม.
กรณีการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553รายงาน 80 หน้า สรุปได้ว่า จากเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่
1. กรณี 10 เมษายน 2553
2. กรณีระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง 22 เมษายน 2553
3. กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ 28 เมษายน 2553
4. การบุกตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 29 เมษายน 2553
5. การสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม 13-19 พฤษภาคม 2553 การจลาจลการวางเพลิง และการทำลายทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ของเอกชน รัฐ และรัฐวิสาหกิจ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด
6. กรณีวัดปทุมวนาราม
7. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การปิดทีวีพีเพิลชาแนล
8. การชุมนุมปิดล้อมสถานที่ต่างๆ ของ นปช. และ
9. การเสียชีวิต ความรุนแรงต่อสื่อในรูปแบบต่างๆ
"กสม." ระบุว่า นปช.ชุมนุมโดยไม่สงบ จึงเกิดความรุนแรง และรัฐบาลใช้อำนาจ สั่งการ กำหนดมาตรการโดยถูกต้องแล้ว เว้นแต่กรณีวัดปทุมฯ ที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง และเสนอแนะให้รัฐบาลเยียวยาผู้เสียหาย กรรมการสิทธิมนุษยชนฯชุดนี้ ผ่านการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา และประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2552 จากผู้สมัครเข้ารับการสรรหา 133 คน มีผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7 คน ประกอบด้วย
นาย แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี, นายปริญญา ศิริสารการ อดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดนครราชสีมา, นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ที่ปรึกษา (สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นางวิสา เบ็ญจะมโน ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ศ.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นประธานกรรมการด้วยในครั้งนั้น มีเสียงวิจารณ์ว่าผู้ผ่านการคัดเลือก ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการ ขณะ ที่บุคคลในสายพัฒนาสังคม สายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านเด็กสตรี และผู้ด้อยโอกาสมาอย่างยาวนาน และเป็นที่ยอมรับจากสังคมไม่ผ่านการคัดเลือกแม้แต่คนเดียวเมื่อ ปลายเดือน มิ.ย.2554 ก่อนจะเลือกตั้งไม่กี่วัน ก็มีข่าวแย้มๆ ว่า กสม.จะเผยแพร่ผลการสอบคดี 98 ศพ โดยมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน ผลคือ มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์และกล่าวหา กสม.ว่า ต้องการให้เกิดผลทางการเมืองกับบางพรรคถึงขนาดมีผู้นำตำราสิทธิมนุษยชนและ "แว่นขยายขนาดยักษ์" ไปมอบให้ เพื่อเตือนสติขณะที่องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุว่า ผลสรุปของ กสม. เหมือนตีเช็คเปล่าให้รัฐบาล สำหรับ "กสม." เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ตามความหมายของรัฐธรรมนูญปี 2550และเป็นอีกองค์กร ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ร่วมกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วยเหตุจาก "ที่มา" อันล่องลอย ไม่ยึดโยงเกาะเกี่ยวกับประชาชน "สถานการณ์" ได้ทำหน้าที่พิสูจน์คนและองค์กรต่างๆมาอย่างยาวนานและซื่อสัตย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเกิดการล้มตายมากมายกลางเมือง ก็กำลังทำหน้าที่พิสูจน์ "กสม." เช่นกัน