แม้ว-สุริยะ หลุด-ป.ป.ช. ยกคดี "ซีทีเอ็กซ์" หลักฐานไม่เพียงพอ เล็งตั้งชุดไต่สวน ฟัน "บอร์ด บทม." 6 คน

มติชน 29 สิงหาคม 2555 >>>



มติเอกฉันท์ยกคำร้องคดีจัด ซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด "แม้ว-สุริยะ" รอด หลักฐานไม่เพียงพอ เล็งตั้งชุดไต่สวน ฟัน "บอร์ด บทม." 6 คน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (ซีทีเอ็กซ์ 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แถลงว่า กรณีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์นั้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตั้งข้อหามา 2 ข้อหา คือ
1. บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ว่าจ้างบริษัทกิจการร่วมค้าไอทีโอ จัดหาระบบสายพานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2. บทม.ออกหน้าเป็นตัวแทนบริษัทนายหน้าจัดซื้อเครื่องตรวจสอบซีทีเอ็กซ์เสีย เอง หรือไม่ ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดีดังกล่าวนอกจากสำนวนของ คตส. จำนวน 560 แผ่น และเอกสารอื่นๆ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ายังไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมจึงได้ขอความร่วมมือกับทางกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา โดยทางสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ได้ส่งเอกสารเพิ่มจำนวน 5,000 แผ่น มาให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าขาดหลักฐานที่จะนำไปสู่การกระทำผิดโดยปราศจากข้อสงสัย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และข้าราชการระดับสูงใน บทม.ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้ถูกกล่าว หากระทำผิดได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาในครั้งนี้ไม่มี นายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นอดีต คตส. ร่วมพิจารณาด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าเอกสารข้อมูลบางอย่าง มีมูลความผิดบางอย่างที่ คตส. ไม่ได้ไต่สวนไว้ คือกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน คือนายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธาน บทม. พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธาน บทม. นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขะพงศ์ กรรมการ บทม. ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการของ บทม. ได้เดินทางไปดูงานที่นครซานฟานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยมีหลักฐานเป็นใบเสร็จแสดงค่าใช้จ่าย ว่าบริษัทตัวแทนขายเครื่องซีทีเอ็กซ์จ่ายค่าเครื่องบิน ที่พัก ค่าเล่นกอล์ฟ และยังพบว่าบางคนพาภรรยาและครอบครัวไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเข้าความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 กรณีเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ และมาตรา 103 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน ดังกล่าว ว่าเรียกรับผิดประโยชน์หรือไม่ และหากพบว่ามีหลักฐานใหม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาคดีทุจริตจัดซื้อและติด ตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ ก็สามารถที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้
นาย วิชัยกล่าวอีกว่า ยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวของ ป.ป.ช. ไม่ใช่มวยล้ม เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ไม่ได้มาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การจะไปช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่มีเหตุผล และข้อมูลที่ได้มาก็ไม่ได้ถูกตัดตอน จนไม่สามารถเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดได้ แต่ยอมรับว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบอยู่แล้วว่าหลักฐานในการพิจารณาคดีมีน้ำหนักน้อย แต่ก็ได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ และที่ผ่านมาไม่ได้ยื้อคดีแต่อย่างใด