สุเทพไม่เซ็นคลิป เม.ย.53 ให้การ 10 ชม.

มติชน 29 สิงหาคม 2555 >>>




สอบสวน 'สุเทพ' ข้ามวัน

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เข้าให้ปากคำในคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน 98 ศพ จากเหตุชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่งกรณีนายสุเทพเข้าให้ปากคำนานกว่า 10 ชั่วโมง โดยเสร็จสิ้นในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 28 สิงหาคม โดยนายสุเทพให้สัมภาษณ์ในทันทีที่ให้ปากคำเสร็จสิ้นลงว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอถามเยอะ และได้นำคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินตอนกลางวันมาให้ดูและบอกว่าเป็นคลิปที่แสดงให้เห็นว่า ทหารยิงคนเสื้อแดง และตนได้ตอบไปว่าไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่เซ็นรับยิงคนตาย

นายสุเทพกล่าวต่อว่า การยิงและมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นช่วงค่ำของวันที่ 10 เมษายน 2553 ดังนั้น เมื่อดีเอสไอนำเอกสารการยอมรับมาให้เซ็นชื่อรับรอง จึงไม่ได้เซ็นชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว คลิปที่พนักงานสอบสวนดีเอสไอนำมาให้ดู ไม่เคยเห็นมาก่อนจริงๆ พนักงานสอบสวนอ้างว่าเป็นคลิปนำมาจากยูทูบ เป็นภาพเหตุการณ์ตอนกลางวัน มีเจ้าหน้าที่ทหารถือปืนเอ็ม 16 และปืนทราโว และในภาพไม่เห็นผู้เสียชีวิต ส่วนวันเวลาที่ระบุอยู่ในคลิปไม่ได้สังเกตเนื่องจากให้ดูช่วงดึกแล้ว นอกจากนั้นตนได้นำคำสั่งที่ลงนามทั้งหมดให้ พนักงานสอบสวนได้สอบถามว่านายอภิสิทธิ์เข้ามาสั่งการ ศอฉ. หรือไม่ ตนชี้แจงว่า อดีตนายกฯมีภารกิจมาก ได้มอบหมายคำสั่งในเชิงนโยบาย ซึ่งตนในฐานะ ผอ.ศอฉ. จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในขณะนั้นอย่างไร งานใน ศอฉ. นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกคำสั่งใน ศอฉ. ตนเป็นผู้ลงนามเอง

ยันคดีชายชุดดำอยู่ในศาล

   "เรื่องชายชุดดำ ที่ผมนำคลิปมาชี้แจง พนักงานสอบสวนถามผมว่า หากมีชายชุดดำเข้าร่วมจริง มีผู้ก่อการร้ายใช้อาวุธทำร้ายประชาชน ไม่เห็นเจ้าหน้าที่จับใครได้สักคน ผมเลยตอบเขาว่า คุณถามผมเหมือนกับเสื้อแดงเขียนคำถามให้มาถามผมเลย ผมก็อธิบายให้เขาฟังว่าชายชุดดำมีจริง และดีเอสไอได้ส่งฟ้องศาลแล้วขณะนี้คดี อยู่ที่ศาล หากมีคนตายอยู่ในพื้นที่ควบคุมของผู้ชุมนุมจริงเราจะทราบว่าเขาตายก็ต่อเมื่อได้รับแจ้งจากศูนย์นเรนทรของกระทรวงสาธารณสุข และหากผู้ตายเป็นผู้ก่อการร้ายชุดดำจริง อาจจะมีคนปลดอาวุธให้เขาไปหมดแล้วก่อนจะนำส่งโรงพยาบาล" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ในคดีก่อการร้ายที่ดีเอสไอสอบสวนเสร็จจนส่งอัยการ มีผู้ต้องหา 26 คน โดยจำนวนนั้นมีหลายคนเป็นผู้ก่อการร้ายและเป็นชายชุดดำ หลายคนให้การรับสารภาพว่าได้รับการฝึกอาวุธจากต่างประเทศ เป็นกลุ่มนักรบพระเจ้าตาก และยังเอาปืนทราโวยิงใส่โรงแรมดุสิตธานี บางคนเอาปืนเอ็ม 79 ไปยิงที่นั่นที่นี่ มีอยู่ในรายงานของดีเอสไออยู่แล้ว แต่การที่พนักงานสอบสวนชุดนี้ระบุว่าไม่มีข้อมูลชายชุดดำ เข้าใจว่าพนักงานสอบสวนชุดนี้เป็นคนละชุดกับที่เคยมีการสอบสวนไว้เดิม

สอบสวนนานกว่า 10 ชม.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังเชื่อมั่นในการทำงานของดีเอสไอหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า เชื่อมั่นในระบบ และองค์กร ส่วนตัวบุคคลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หัวหน้าพนักงานสอบสวนถามว่าตนเคยมีเรื่องโกรธแค้นใครใน ศอฉ. หรือไม่ จึงได้ตอบไปว่าในอดีตไม่เคยโกรธเคืองใคร แต่ในอนาคตไม่แน่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเทพเดินทางมาถึงดีเอสไอก่อนเวลานัด รวมใช้เวลาอยู่ที่ดีเอสไอทั้งสิ้น 13 ชั่วโมง ขณะที่ใช้เวลาในการสอบปากคำนานเกือบ 10 ชั่วโมงและภายหลังให้ปากคำแล้วเสร็จเดินออกมาพบนักข่าวยังรอสัมภาษณ์ และสอบถามถึงสาเหตุที่ใช้เวลาสอบปากค่อนข้างนาน นายสุเทพพูดว่า "ชีวิตก็เป็นอย่างนี้เอง"

สอบพลซุ่มยิง 29 ส.ค.

พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายอภิสิทธิ์และนาย สุเทพ อย่างครบถ้วน ไม่มีประเด็นใดต้องที่จะต้องซักถามเพิ่มเติม โดยการสอบปากคำเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พนักงานสอบสวนได้ตั้งประเด็นคำถามครอบคลุมถึง 40 คำถาม ซึ่งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพตอบด้วยตนเองอย่างครบถ้วน
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวอีกว่า ระหว่างการสอบปากคำเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ได้นำคลิปภาพบุคคลแต่งชุดทหารยิงใส่ประชาชนช่วงเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่เผยแพร่ในยูทูบมาให้นายสุเทพดู ซึ่งนายสุเทพก็บอกว่าไม่เคยเห็นภาพดังกล่าว หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะพิจารณาว่าบุคคลใดบ้างที่มีความจำเป็นต้องเรียกมาสอบเพิ่มตามคำให้การของนายสุเทพ ที่ระบุว่ามีบุคคลเกี่ยวข้องในการร่วมลงมติของ ศอฉ. เช่น นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. หรือแม้กระทั่งนายธาริต อธิบดีดีเอสไอ แต่ขอย้ำว่าขึ้นอยู่กับความจำเป็นทางคดีที่เกี่ยวข้องจริง
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศ ไม่ได้ตึงเครียด ตอบข้อซักถามคล้ายๆ กับการอภิปรายในสภา การสอบปากคำนายสุเทพใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มสอบปากคำตั้งแต่ 14.00 น. ของวันที่ 27 สิงหาคม กระทั่งเวลา 01.00 น. วันที่ 28 สิงหาคม เมื่อพิมพ์เอกสารคำให้การเสร็จสิ้น นายสุเทพขอเวลาในการอ่านทบทวนคำให้การอีกครั้งและลงนามรับรองคำการให้จำนวน 600 หน้ากระดาษ โดยเป็นคำให้การ 20 หน้ากระดาษ แต่ต้องเซ็นชื่อรับรองอีก 30 ชุด เพื่อใช้ประกอบ 30 สำนวนคดี ซึ่งนายสุเทพต้องเซ็นซื่อทุกแผ่น โดยรวมใช้เวลา 2 ชั่วโมง ก่อนทางกลับออกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษประมาณ 04.00 น. ของวันที่ 28 สิงหาคม
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 29 สิงหาคม เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวน ได้เรียกให้พลซุ่มยิง 2 นาย เข้าให้การเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในจุดที่ได้รับมอบหมายให้เข้าประจำจุด