อัยการนำประจักษ์พยาน 2 แนวร่วม นปช. เบิกความ ระบุเห็นทหารถือปืนบนรางรถไฟ หน้าวัดปทุมฯ

มติชน 30 สิงหาคม 2555 >>>


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 สิงหาคม ที่ห้องพิจารณา 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลได้ไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิตคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ

  • นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 
  • นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2
  • นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 
  • นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 
  • น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และ
  • นายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 

ทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
วันนี้พนักงานอัยการนำประจักษ์พยานเข้าเบิกความรวม 2 ปาก พยานปากแรก คือ นายศักดิ์ชัย แซ่ลี้ อายุ 38 ปี เบิกความสรุปว่า เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. เมื่อเดือนมีนาคมที่บริเวณสี่แยกคอกวัว กระทั่งเกิดเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าขอพื้นที่คืนหรือกระชับพื้นที่เมื่อเดือนเมษายน 2553 จึงย้ายไปปักหลักชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ระหว่างการชุมนุมพยานปักหลักพักอาศัยบริเวณเกาะกลางถนนพระราม 1 หน้าวัดปทุมวนามราม กับพวกกลุ่มแดงชุมแพ 52 ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทราบข่าวจากโทรทัศน์ว่า เจ้าหน้าที่ทหารกำลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่มาถึงบริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯแล้ว ต่อมาทางแกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุม และให้ผู้ชุมนุมรีบเก็บข้าวของแล้วรีบเข้าไปหลบภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นเขตอภัยทานเพื่อความปลอดภัย หรือเดินทางออกจากที่ชุมนุมไปขึ้นรถบัส ที่จอดรออยู่ที่สนามศุภชลาศัยใกล้ห้างมาบุญครอง พยานใช้เวลาเก็บของประมาณ 20 นาที จึงหลบเข้าไปในวัดปทุมฯ แล้วออกมาที่หน้าวัด เพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมคนอื่นซึ่งเป็นเด็ก ผู้หญิงและคนชรา พาเข้าไปหลบในวัดจนหมดแล้ว พยานได้เข้าไปหลบข้างโบสถ์ใกล้สระน้ำ
นายศักดิ์ชัยเบิกความต่อว่า จากนั้นได้เดินดูผู้ชุมนุมที่กำลังหลบภัยอยู่ภายในวัด ได้ยืนเสียงคล้ายระเบิดดังมาจากที่แยกเฉลิมเผ่า และได้ยินเสียงปืนที่แยกราชประสงค์ พยานจึงก้มหมอบลงหลบกับพื้น เห็นชายคนหนึ่งถูกยิงล้มลงที่หน้าวัดปทุม มาทราบภายหลังว่าเป็นนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้เสียชีวิตที่ 1 พยานมองไปบนรางรถไฟฟ้า เห็นทหารถือปืนยืนอยู่ แต่ไม่เห็นว่าทหารยิงปืน พยานจึงเข้าไปช่วยพานายอัฐชัยไปที่เต็นท์พยาบาล พบ น.ส.ณัฐธิดา มีวังป่า หรือหวาน เป็นพยานในเต็นท์ และ น.ส.กมนเกด ผู้เสียชีวิตที่ 5 ทำการปั๊มหัวใจและให้ออกซิเจน แต่ออกซิเจนหมดก่อน น.ส.ณัฐธิดา ยังช่วยปั๊มหัวใจต่อไปอีกเกือบ 10 นาที นายอัฐชัยจึงเสียชีวิต ต่อมาพยานออกจากเต็นท์พยาบาลแรก เพื่อหลบไปอีกเต็นท์พยาบาลอีกเต็นท์หนึ่ง โดยวิ่งออกไปได้ไม่ถึง 10 เมตร พบผู้ถูกยิง 2 ราย รายแรกมาทราบชื่อภายหลัง คือ นายอัครเดช ผู้เสียชีวิตที่ 6 ถูกยิงที่กลางหลัง รายที่สองถูกยิงที่กลางหลังและมือ ร้องขอความช่วยเหลือ พยานจึงพานายอัครเดชไปส่งเต็นท์พยาบาล และกำลังจะไปช่วยผู้ถูกยิงรายที่สอง แต่พยานเห็นท่าไม่ดี เพราะเห็นว่าทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าประทับปืนกับขอบรางรถไฟฟ้าเล็งปืนมาที่พยาน พยานจึงรีบวิ่งเข้าไปหลบหลังรถยนต์ที่อยู่ใกล้กัน จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น เห็นกระสุนปืนมาตกห่างพยานราว 1 เมตร จึงคลานหลบไปอยู่หลังรถยนต์กระบะและมองเห็นเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงใส่เต็นท์พยาบาล เห็น น.ส.กมนเกดที่กำลังก้มลงหลบถูกกระสุนปืนยิง สังเกตเห็นว่าแน่นิ่งไป แต่พยานไม่ได้เข้าไปช่วย เนื่องจากมีเสียงปืนดังอยู่ เมื่อเสียงปืนสงบลง จึงเข้าไปดูพบว่า น.ส.กมนเกด และนายมงคล เข็มทอง เจ้าหน้าที่อาสา ผู้เสียชีวิตที่ 3 เสียชีวิตแล้ว จึงพานายอัครเดชซึ่งไม่ตายเข้าไปหลบภายในวัดและให้พระในวันปทุมวนารามโทรศัพท์แจ้งให้รถพยาบาลมารับคนเจ็บไปรักษา แต่ได้รับแจ้งว่ารถพยาบาลไม่สามารถเข้าไปรับได้ ผ่านไปหลายชั่วโมงนายอัครเดชจึงถึงแก่ความตายในเวลาประมาณ 23.00 น. จึงได้รับแจ้งว่าจะให้รถพยาบาลมารับคนเจ็บ แต่ห้ามผู้ที่อยู่ภายในวัดออกจากพื้นที่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ พยานหลบอยู่จนกระทั่งเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม 2553 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารับไปหลบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ผู้ชุมนุมหลายคนไม่กล้าออกไป เนื่องจากยังเห็นทหารอยู่ที่รางรถไฟฟ้า กระทั่งช่วงสายพยานจึงออกจากวัดปทุมวนารามเดินทางกลับบ้าน
นายธวัช แสงทน หรือพระธวัช ที่กำลังบวชเป็นพระ เบิกความสรุปว่า เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.เนื่องจากเห็นความไม่ถูกต้องของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จึงเข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง ระหว่างชุมนุมพยานพักอยู่บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม เวลาประมาณ 12.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุม และให้ประชาชนที่ต้องการเดินทางกลับบ้านสามารถไปขึ้นรถที่จัดเตรียมไว้ที่สนามศุภชลาศัยได้ พยานจึงรีบเดินทางออกจากแยกราชประสงค์เพื่อไปขึ้นรถบัส แต่ปรากฏว่าระหว่างเดินทางไปได้ยินเสียงปืนที่บริเวณสยามสแควร์ เมื่อไปถึงสี่แยกมาบุญครอง พบเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแถวเป็นระนาบถือปืนกำลังเดินเข้ามาประชิดเพื่อกระชับพื้นที่ โดยทหารบางนายยิงปืนขึ้นฟ้า ทหารบางนายยิงปืนในแนวราบ พยานวิ่งย้อนกลับเข้ามาหลบที่บริเวณเต็นท์พยาบาลหน้าวัดปทุมวนาราม พบการ์ด นปช.บอกกับพยานว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะยิงทุกคนที่สวมเสื้อสีดำ ซึ่งขณะนั้นพยานสวมเสื้อสีดำ ด้วยความกลัวถูกยิง จึงรีบเปลี่ยนมาสวมเสื้อสีเทา
พระธวัชเบิกความต่อว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเดินกระชับพื้นที่เข้ามาถึงบริเวณสยามสแควร์แล้ว ด้วยความกลัวจึงออกจากเต็นท์พยาบาล และรีบหลบเข้าไปในวัดปทุม บริเวณซอกตึกหน้าห้องน้ำใกล้กุฏิพระ โดยไปหลบรวมอยู่กับผู้ชุมนุมที่รอเข้าห้องน้ำอยู่บริเวณนั้นประมาณ 5-6 คน 1 ในนั้นมีนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 รวมอยู่ด้วย โดยพยานสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่ทหารถือปืนอยู่บนรางรถไฟฟ้า และเห็นนายสุวัน ที่หันหน้ารอเข้าห้องน้ำเหลียวหันมองไปทางรางรถไฟฟ้าที่มีเจ้าหน้าที่ทหารยืนอยู่ จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 ชุด และเห็นนายสุวัน ผู้ตายที่ 1 ถูกยิงล้มฟุบลงต่อหน้า พยานและผู้ชุมนุมจึงก้มหลบ เมื่อสิ้นเสียงปืนได้ช่วยกันนำร่างนายสุวันไปหลบมุมตึกอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากคิดว่านายสุวันยังไม่ตาย แล้วใช้จีวรพระทำเป็นเปลหามร่างนายสุวัน ไปที่ศาลาที่มีเต็นท์พยาบาลอีกเต็นท์ แต่ปรากฏว่านายสุวันเสียชีวิตแล้ว จึงนำศพไปรวมกับศพอื่น ซึ่งก่อนหน้านั้นมีศพผู้ถูกยิงตายถูกนำมาวางแล้ว 1 ศพ ต่อมามีการทยอยนำศพผู้ถูกยิงตายมาวางไว้อีก 4 ศพ รวมเป็น 6 ศพ รวมทั้ง น.ส.กมนเกด ที่พยานได้เข้าไปช่วยอุ้มศพมาวาง จากนั้นพยานจึงไปล้างคราบเลือดแล้วหลบอยู่ในวัดจนกระทั่งเช้าวันที่ 20 พฤษภาคม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมารับให้ไปหลบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานจึงเดินทางออกไปและกลับไปพักที่บ้านเพื่อน
พระธวัชชัยเบิกความด้วยว่า ภายในวัดปทุมวนาราม ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก ผู้หญิงและคนชรา โดยทุกคนไม่มีอาวุธติดตัวและไม่มีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารแต่อย่างใด
ภายหลังศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 6 กันยายน เวลา 09.00 น.