“เหตุผลที่ผมเลือกวันสุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็นวันพลีชีพ เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่วิญญาณของวีระชนที่สถิตย์อยู่ที่อนุสรณ์สถานฯ ที่ผมทำการพลีชีพนี้ได้เรียกร้อง กระทั่งได้มาซึ่งประชาธิปไตย และวิญญาณของผมก็จะขอสถิตย์อยู่กับเหล่าวีระชนแห่งนี้ตลอดไป และขอยืนยันว่า ปฏิบัติการทั้งสองครั้งทำด้วยใจ ไม่มีใครจ้าง”
ความในเบื้องต้นปรากฏอยู่ในจดหมายของชายชราคนหนึ่ง ผู้ยอมเอาชีวิตเข้าแลกในวันที่ 31ตุลาคม 2549 เพื่อลบคำสบประมาทรัฐที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”
กระทั่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจัดงานระดมทุนร่วมสร้างภาพยนตร์ “นวมทอง ไพรวัลย์” แท็กซี่สามัญชนผู้หาญสู้เผด็จการ ความหมายจากการตายของ "ลุงนวมทอง" มีคุณค่าและน่าสนใจอย่างไร
“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์นักแสดง คณะกรรมการจัดสร้างและผู้ประพันธ์ภาพยนตร์ เพื่อเปิดมุมมองต่าง ๆ ที่หลายคนอยากรู้
จิตรา คชเดช
อดีตประธานสหภาพแรงงาน บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
ลุงนวมทองมีความหมายอย่างไรกับคนเสื้อแดง
คิดว่าการต่อสู้ของคุณลุงนวมทองเป็นการต่อสู้กับเผด็จการในประเทศไทยมีการต่อสู้กับเผด็จการหลายรูปแบบแต่นี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เป็นการต่อสู้กับเผด็จการโดยใช้ชีวิตเข้าแลก คือการขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นอาชีพของคุณลุงเองชนกับรถถัง แล้วที่สุดจากการถูกเหยียดหยามจากฝ่ายรัฐว่าไม่มีใครที่จะมายอมตายเพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย คุณลุงนวมทองก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งแสดงออกด้วยการผูกคอตาย ได้แสดงออกว่านี่ไง มันมีคนที่ต่อสู้กับเผด็จการโดยที่สามารถเอาชีวิตเข้าแลก จนนำมาสู่ความคิดตอนที่ว่าน่าจะมีการนำมาสร้างหนังเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนได้รู้สึกว่าการต่อสู้กับเผด็จการมีได้หลายรูปแบบ ถึงขนาดแลกด้วยชีวิตก็มี
ในวันนี้เป็นการระดมทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่ทำให้คนรู้ชีวิตคนธรรมดาที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ ไม่ใช่หนังที่เราเห็นส่วนใหญ่ว่าเป็นชีวิตของชนชั้นนำ เป็นชีวิตหลอกลวงที่ทำให้คนเพ้อฝัน ซึ่งคิดว่าหนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นด้วยว่าคุณลุงนวมทองเอาชีวิตตนเองเข้าแลกกับการดูถูกจากฝ่ายรัฐว่าไม่มีใครหรอกที่กล้าจะเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อประชาธิปไตย
ขณะที่ในสังคมโลกเป็นที่รู้กันว่ามีคนที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการเผาตัวตายในเวียดนาม หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในทิเบต ในกรณีของเมืองไทยคือการขับรถชนรถถังซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก และการที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาดูถูก กลับยิ่งตอกย้ำอีกครั้งว่านี่ไง มันมีคนกล้าออกมาและคนสามารถใช้ชีวิตเข้าแลกกับประชาธิปไตยได้
ถ้าอย่างนั้น การที่ชนชั้นนำ (Elite) ชอบดูถูกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในหมู่คนทั่วไป ต้องมาจากชนชั้นนำเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องจริง
เป็นเรื่องหลอกลวง ที่ว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ต้องมีชนชั้นนำเป็นคนบอกเท่านั้น สมควรเรียกว่าเป็นเผด็จการ (Authoritarian) มากกว่า
ประชาธิปไตยคือหลักการที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างเงื่อนไขหรือรัฐธรรมนูญร่วมกันจึงจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญกลับถูกเขียนโดยชนชั้นนำและเพียงแค่ให้ประชาชนไปรับรองว่าเอาหรือไม่เอา การรับรองที่ผ่านมาอยู่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ต้องเรียกว่าประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
คุณลุงนวมทองมีความหมายอย่างไรต่อคนเสื้อแดง
คนเสื้อแดง คุณลุงนวมทองเหมือนสัญลักษณ์ที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ กับการรัฐประหาร รถถังเป็นสัญลักษณ์ของการทำรัฐประหาร การเคลื่อนรถถังออกมาเหมือนกับการเอาเผด็จการออกมาปล้นชิงอำนาจของประชาชนไป เพราะฉะนั้น คุณลุงนวมทองจึงเป็นสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงถือว่าคุณลุงนวมทองเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งและเป็นคนแรกที่ออกมาใช้ชีวิตตนเองเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและต่อไปจะไม่ได้มีแค่คุณลุงนวมทองแต่จะมีต่อไปเรื่อยๆ ถ้าตราบใดที่เรายังมีรัฐประหาร
อภิรักษ์ วรรณสาธพ
ตัวแทนคณะกรรมการจัดสร้างภาพยนตร์ "นวมทอง"
ในฐานะของคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างภาพยนตร์ ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร
ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกลุ่มศิลปิน เรามีความคิดว่าเราน่าจะมีงานของคนเสื้อแดงที่รณรงค์ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย คุณวัฒน์ วรรลยางกูร จึงเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา ว่าการต่อสู้ของคนไทยตั้งแต่ ร.ศ. 130, 2475 ไล่มาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2553 โดยที่ได้แรงบันดาลใจจากคุณลุงนวมทอง จึงขออนุญาตใช้ชื่อของคุณลุงนวมทองเป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เนื้อหาของภาพยนตร์ไม่ได้เป็นประวัติของคุณลุงนวมทองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นประวัติของคนไทยทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หนังเรื่องนี้เราตั้งใจให้มีคุณภาพระดับโลก โดยจะส่งประกวดในเวทีสากลทุกแห่งเพราะเราเชื่อว่าวันนี้ชาวโลกได้รับรู้แล้วว่าประชาชนคนไทยเรามีจิตวิญญาณมีความเข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากแค่ไหน
หนังเรื่องนี้มีนายทุนสนับสนุนหรือเปล่าครับ
งานนี้ไม่มีนายทุนครับ เป็นเรื่องที่พี่น้องคนเสื้อแดงลงขันกันสร้าง ร่วมแรงกันทำ มีคนที่บริจาคเข้ามาตั้งแต่ 50 บาท จนถึงแสนบาท จนวันนี้เรามาถึงจุดที่เราได้ทุนประมาณ 3 ใน 4 แล้ว และคนที่บริจาคกับเราก็อยากทราบความคืบหน้าว่าเราทำไปถึงไหน เราจึงตัดสินใจจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนเพื่อบอกว่าตอนนี้ผู้กำกับของเราเตรียมบทภาพยนตร์ ดารานักแสดง สถานที่ถ่ายทำ
นอกจากนั้น ไหน ๆ ที่เรามารวมกันแล้วจึงมีการเสวนาการเมืองในบรรยากาศสบาย ๆ มีบันเทิงโดยวงไฟเย็น และศิลปิน จึงมีที่นั่งไม่พอ จึงขอประทานโทษคนที่ไม่ได้จองบัตร เราเปิดให้เข้าไปนั่งได้ หลังจากงานในวันนี้ เราจะเริ่มการถ่ายทำประมาณเดือนกันยายนและจะเสร็จประมาณต้นปี พ.ศ. 2556 และจะส่งประกวดในเวทีเทศกาลหนังนานาชาติไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี แต่ที่เทศกาลหนังเมืองคาน ที่ประเทศฝรั่งเศสอาจส่งไม่ทัน
เนื้อหาและลักษณะภาพยนตร์จะทำออกมาในแนวไหน ?
ลักษณะเนื้อหาเป็นหนังในแนวแฟนตาซี (fantasy) เป็นการต่อสู้ของคนไทยเพื่อประชาธิปไตย โดยเท้าความมาตั้งแต่กบฏหมอเหล็ง คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยลองย้อนว่าถ้าบุคคลเหล่านี้กลับมาแล้วมาดูพัฒนาการของประชาธิปไตยหลังจากที่ท่านเหล่านี้ต่อสู้กันมา 100 ปี 80 ปี วันนี้สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในรุ่นต่าง ๆ รุ่น 14 ตุลา 16 รุ่น 6 ตุลา 19 จนถึงคนเสื้อแดงในปัจจุบัน รวมถึงมีข้อคิดเห็นจากนักคิดเรื่องประชาธิปไตยชาวต่างชาติด้วย งานนี้ถือว่ามีสีสันครับ
ทีมผู้สร้างและนักแสดงเป็นใครบ้าง
เป็นคนเสื้อแดงทั้งหมด ความจริงเรื่องนี้คุยกันไว้ตั้งแต่ 5-6 เดือนที่แล้ว จึงค่อย ๆ พัฒนาความคิด พัฒนารูปแบบจนวันนี้ลงตัว เราถึงจัดงานเปิดตัวและเผยแพร่ต่อสาธารณชนและมีคนมาร่วมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งครับ คิดว่าภาพยนตร์เสร็จประมาณต้นปีหน้า ทันที่จะส่งประกวดในเทศกาลหนังต่างประเทศแน่นอน
วัฒน์ วรรลยางกูร
นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "นวมทอง"
ช่วยเล่าบทบาทในฐานะผู้ประพันธ์
เดิมทีกลุ่มที่เริ่มต้นคือกลุ่มวิศวะเพื่อประชาธิปไตยโดยมีทีมงานที่เข้ามารับภาระทั้งหมดชัดเจนแล้วซึ่งตอนแรกทางผู้กำกับมีบทละครแล้วส่วนหนึ่งแต่ยังไม่พอใจจึงโยนงานมาให้ผมเป็นผู้รับผิดชอบ และมีคุณทองขาว ทวีปรังสีนุกูล นักเขียนบทละครเข้ามาร่วมด้วยส่วนหนึ่ง ผมทำเนื้อเรื่องย่อเสร็จไปตั้งแต่เดือนธันวาคม
ตอนแรกคิดกันว่าจะสร้างเป็นหนังใต้โดยให้นักแสดงสวมหน้ากากแต่ผมมองแล้วว่ายังไงเราต้องสร้างให้ชาวบ้านดูแล้วสนุกเพราะคนเสื้อแดงก็เป็นชาวบ้านเป็นรากหญ้า ทำยังไงให้หนังดูง่าย ดูสนุก แต่ได้สาระ ความรู้ ดังนั้นในแง่ของเค้าโครงเรื่องจึงได้รวมเอาความรู้สึก ความเข้าใจของประวัติศาสตร์ประมาณร้อยปีไว้ด้วยกัน
ความจริงชื่อเรื่องผมอยากให้เรียกว่า“นวมทองร้อยปีแห่งความอ้างว้าง” และตัวละครก็มีมาตั้งแต่รุ่นกบฏหมอเหล็ง ในปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) ปีนี้ 2555 ถือว่าครบร้อยปีพอดี ซึ่งประชาธิปไตยไทยกำลังอ้างว้าง การต่อสู้ของคนในแต่ละรุ่นอย่างกบฏหมอเหล็ง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หรือนายปรีดี พนมพงค์ ก็ยังไม่ถึงความจริงที่จะเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย จึงทำให้แท็กซี่อย่างนวมทอง ไพรวัลย์ ต้องขับแท็กซี่ชนกับรถถังเมื่อปลายเดือนกันยา 2549 ขณะที่คนไทยส่วนหนึ่งนำดอกไม้ไปให้รถถัง นี่ถือเป็นสีสันให้แง่คิดหลายอย่าง แล้วลุงนวมทองก็ผูกคอตายในเดือนตุลา 49
คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่านี่เป็นหนังชีวิตของลุงนวมทอง ซึ่งผมขอชี้แจงว่าคุณลุงนวมทองเป็นแรงบันดาลใจ เราใช้ชื่อคุณลุงนวมทองเพราะท่านเป็นผู้ที่จุดแรงบันดาลใจให้เราในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แรงบันดาลใจอันนี้จึงมาสร้างเป็นเรื่องราวให้เป็น “บันเทิงคดี” ไม่ใช่ “สารคดี”
ปัญหาของการสร้างภาพยนตร์มีอะไรบ้าง
ปัญหาตอนนี้อยู่ในช่วงของการหาทุนซึ่งยังไม่เข้าเป้าโดยฝ่ายโปรดิวเซอร์ตั้งเป้าไว้ 3 ล้าน ซึ่งถ้าดูโดย “หน้าหนัง” ต้องมีฉากปีศาจประชาธิปไตยซึ่งต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก หรือฉากเมืองสมมติ ดินแดนแห่งปีศาจประชาธิปไตย มีจิตร ภูมิศักดิ์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เช เกวารา เป็นเมืองสมมติที่ต้องสร้างฉากขึ้นมา ต้นทุนการสร้างจึงสูงตามไปด้วย ตั้งเป้าไว้ 3 ล้านตอนนี้ได้ 2ล้านต้น ๆ ตอนนี้จึงอยู่ในช่วงของการหาทุน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ วางบทบาทของคุณลุงนวมทองไว้อย่างไร
ลุงนวมทองจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งในตัวละครสามตัวซึ่งเดินเรื่องอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ฉากส่วนใหญ่จะอยู่ในดินแดนสมมติที่เรียกว่า“ดินแดนของปีศาจประชาธิปไตย” โดยปีศาจจะมาชุมนุมกันและติดตามดูการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจากทีวีของ Devil Café ไม่ใช่ Divas Café (หัวเราะ) ซึ่งจะมีตัวแทนปีศาจจากรุ่น 14 ตุลา 2516 และตัวแทนปีศาจจากรุ่น 6 ตุลา 2519 จะมาทำภารกิจในการช่วยเหลือการสู่เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง นี่เป็นหนังการเมืองในรูปแบบของหนังผี จะมีทั้งตลก เศร้า ซาบซึ้ง กินใจ
มีคนท้วงว่าทำไมเราใช้คำว่าปีศาจ คำว่า “ปีศาจ” มีความหมายได้ในแง่บวกและลบ ในแง่บวกของเราคือจากประวัติการต่อสู้ของประชาชนชนชั้นที่เกิดใหม่เปรียบเสมือนปีศาจที่มาหลอกหลอนชนชั้นนำที่นับวันมีแต่จะล่มสลายลงไปดังเช่นปณิธานของสาย สีมา ในนิยายปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือชนชั้นกรรมาชีพก็เป็นปีศาจในสายตาของชนชั้นนายทุน ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ หรือ “Communist Manifesto” ของ มาร์กซ์ และเองเกิลส์
ความจริงก็คือสังคมไทยเปลี่ยนแปลงช้ามากในแง่ของประชาธิปไตย ตอนนี้ในอาเซียนรู้สึกว่าไทยจะอยู่รั้งท้ายในแง่ของประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันผลักดันซึ่งภาพยนตร์ก็เป็นวิธีการสื่อสารทีดีอย่างหนึ่ง