เจาะวาระ "11 อรหันต์" พรรคร่วมรัฐบาล ตรวจการบ้าน "10 อรหันต์" แก้ รธน.

ประชาชาติธุรกิจ 31 สิงหาคม 2555 >>>




เมื่อนักการเมือง 11 คน จาก 4 พรรคการเมือง นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล รวมตัวกันภายใต้สูตร 7+2+1+1 แบ่งแยกตามพรรคการเมืองคือ "พรรคเพื่อไทย" 7 คน ประกอบด้วย โภคิน พลกุล-วราเทพ รัตนากร-พงศ์เทพ เทพกาญจนา-ภูมิธรรม เวชยชัย-ชูศักดิ์ ศิรินิล-อุดมเดช รัตนเสถียร-พีรพันธุ์ พาลุสุข พรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน "ชุมพล ศิลปอาชา"-"ภราดร ปริศนานันทกุล" พรรคชาติพัฒนา 1 คน "ประเสริฐ บุญชัยสุข" และพรรคพลังชล 1 คน "สันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์" รวมตัวเป็น 11 อรหันต์ ภายใต้ชื่อ "คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล" มีจ็อบเดสคริปชั่นคือ การหาทางออกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในลักษณะคำวินิจฉัยกึ่งให้ "คำแนะนำ" ทำนองว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐบาลควรทำประชามติถามประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญก่อนว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่
ปัญหาจึงมาตกที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเวลานี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคาอยู่ในการพิจารณาของสภา รอเพียงการลงมติในวาระ 3 ที่ยังไม่สามารถนับเสียงโหวตได้ เพราะติดคำ "แนะนำ" อันเป็นสาระของคำวินิจฉัยกลาง ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่กล้าฝืนคำแนะนำนั้น
แต่เมื่อ "พรรคเพื่อไทย" อยากเดินหน้าลงมติวาระ 3 แล้วทำประชามติหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ผิดกับพรรคร่วมรัฐบาลที่หวั่นเกรงอำนาจตุลาการภิวัตน์ กลัวว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคคำรบ 3 อาการกล้า ๆ กลัว ๆ ส่งผลให้การประชุมคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลผ่านมา 3 ครั้ง ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนใด ๆ ออกมา
"โภคิน" ในฐานะประธานคณะทำงานบอกว่า เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะทำรีบร้อนไม่ได้
   "เพราะศาลรัฐธรรมนูญแนะนำว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรมีการทำประชามติ จึงให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปศึกษาว่า การทำประชามติควรต้องปฏิบัติตามหรือไม่"
สอดคล้องกับ "อุดมเดช" ที่กล่าวว่า "ยังมีการถกเถียงกันอยู่ บางส่วนบอกว่าไหน ๆ ก็จะต้องทำประชามติอยู่แล้ว ก็ให้เดินหน้าโหวตวาระที่ 3 ไปก่อน หลังจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วค่อยทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย แต่อีกส่วนหนึ่งก็บอกศาลว่าอย่างไรเราก็ทำตามนั้น ทำให้ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป" ทำให้การประชุมครั้งที่ 4 ในบ่ายวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม วาระของ 11 อรหันต์โฟกัสไปที่เรื่องการทำประชามติ
เนื้อหาการทำประชามติในรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เรื่องการวัดคะแนนประชามติ โดยใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินจะถูกนำมาพูดถึง เพราะหากวัดผลตามที่มาตรา 165 กำหนด เสียงที่สนับสนุนจะต้องมีถึงประมาณ 24 ล้านเสียง
พรรคเพื่อไทย+พรรคร่วม ประเมินแล้วว่าหากเดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 การทำประชามติอาจไม่ผ่าน ดังนั้น แผนสำรองของเพื่อไทยคือ ทำประชามติโดยใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 แทนมาตรา 165 เพราะในมาตรา 9 วรรค 1 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว เปิดช่องให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์มาออกเสียงเป็นตัวชี้ขาดได้
นอกจากนี้ คณะ 11 อรหันต์ยังตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาอีก 1 ชุด ทำงานควบคู่ไปกับ 11 อรหันต์ชุดใหญ่ มี "วราเทพ รัตนากร" ร่วมกับ "ภูมิธรรม เวชยชัย" ทำหน้าที่เปิดแผลที่มาอันไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านทางสื่อหลัก-สื่อรอง โดยจัดหาทีมงานไปพูดตามงานเสวนาวิชาการ-วิทยุ- โทรทัศน์ เพื่อสร้างกระแสความชอบธรรมให้กับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่ทิศทางการลงมติวาระ 3 ในวันข้างหน้า
ทุกความคิด ทุกการกระทำของ 11 อรหันต์ ภายใต้ชื่อ "คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล" จะเห็นผลสัมฤทธิ์ในการลงมติวาระ 3 ที่จะเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ในทางคู่ขนานการเมือง องค์กรอิสระอย่าง "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ได้ตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ภายใต้ชื่อ "คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ" รวบรวม "บิ๊กเนมและกูรู" กฎหมายเอาไว้ 10 อรหันต์ ประกอบดัวย
1. ศ. (พิเศษ) นรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นประธาน
2. ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี
3. ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
4. ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์
6. ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ คณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
8. ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ
10. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10 อรหันต์องค์กรอิสระ มีการประชุมไปแล้ว 8 ครั้ง มีการชุมนุมมอนิเตอร์สถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายการเมือง ตั้งแต่อยู่ในชั้นกรรมาธิการวาระที่ 1 จนเข้าสู่วาระที่ 2 ซึ่งเป็นวาระพิจารณารายมาตรา
ห้องประชุม 10 อรหันต์ บนชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จึงกลายเป็นห้องประชุมสภาขนาดย่อม ทุกความคิด ทุกทัศนคติ มีการถกเถียงในหลักการ-เหตุผล ไม่ต่างจากบรรยากาศของ ส.ส. ทำให้ความเห็นบางอย่างไม่ได้ออกมาในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ได้ ก็มีความคิดแตกเป็น 2 ฝ่าย
แต่ข้อเสนอแนะที่ถือเป็นผลงานชัด ๆ ชิ้นเดียวของคณะ 10 อรหันต์ ปรากฏออกมาจากการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 55
ข้อเสนอที่ 1: ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ร่าง การบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแทนนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 195 วรรค 1
ข้อเสนอที่ 2: ควรบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ภายใน 15 วัน
ข้อเสนอที่ 3: ควรบัญญัติให้มีการลงประชามติ แล้วให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ดังที่เคยบัญญัติมาในอดีต
ทั้ง 3 ข้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปให้ "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา และ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี
ประเด็นล่าสุดที่ 10 อรหันต์กำลังระดมสมองคือ ศึกษาคำว่า "ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ที่มีอยู่ทั้งหมดแต่ละประเทศเป็นอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร
"รศ.ดร.กิตติศักดิ์" ในฐานะโฆษก 10 อรหันต์ ขยายภาพอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ว่า "ไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญแข่งกับฝ่ายสภา แต่จะมาดูว่าฝ่ายสภาพิจารณาอะไร และเราพิจารณาตามนั้น เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้เห็นอย่างไร และนำไปสู่ข้อเสนอไปถึงสภา"
เดิม 10 อรหันต์เคยประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เปลี่ยนมาเป็นเดือนละ 1 ครั้ง ตามจังหวะการเมืองฝ่ายรัฐสภา ทำหน้าที่คู่ขนานเพื่อตรวจสอบ-ถ่วงดุล
เป็นการเปรียบ 2 คณะทำงานที่ถูกขนานนามว่า "อรหันต์" ด้านหนึ่ง เป็น 11 อรหันต์การเมือง ที่ประกอบด้วย 4 พรรคร่วมรัฐบาล กับอีกด้านหนึ่งเป็น 10 อรหันต์ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้เห็นภาพว่าขับเคลื่อนงานไปถึงไหน