สืบพยานโจทก์คดีแกนนำคนงานไทรอัมพ์ ชุมนุมเกิน 10 คนก่อความวุ่นวาย

ประชาไท 29 สิงหาคม 2555 >>>


สืบพยานโจทก์คดี 3 แกนนำคนงาน ชุมนุมเกิน 10 คนก่อความวุ่นวาย เมื่อปี 52 ผู้การแต้ม อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความระบุคนงานชุมนุมกีดขวางการจราจร ก่อความเดือดร้อน คนมาน้อยแต่นั่งกระจายเต็มพื้นที่
(28 ส.ค. 55) ที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานโจทก์ ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ นายสุนทร บุญยอด และ น.ส.จิตรา คชเดช ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีการชุมนุมของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552
พยานโจทก์วันนี้คือ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ในขณะนั้น เบิกความว่า ตนเองดูแลความเรียบร้อยและเจรจาต่อรองในการชุมนุม โดยในวันดังกล่าว ผู้ชุมนุมคนงานบริษัทไทรอัมพ์ประมาณ 300-400 คนได้ปิดถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรของประชาชน สถานที่ราชการ โรงเรียน และที่สำคัญเป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมวงศานุวงศ์ทุก พระองค์ เมื่อเจรจาต่อรองให้เปิดช่องทางจราจร ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม แต่ยังปิดการจราจรเพิ่มเป็น 3 ช่องทางจากทั้งหมด 5 ช่องทาง รวมถึงปิดประตูทางเข้าทำเนียบ 1-4 ด้วย
พล.ต.ต.วิชัย เบิกความว่า ต่อมาเมื่อผู้ชุมนุมทราบว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้นไม่มารับหนังสือร้องเรียนเพราะอยู่ที่รัฐสภา แกนนำทั้งสามจึงพาผู้ชุมนุมไปหน้ารัฐสภา มีการบอกให้ผู้ชุมนุมปิดการจราจร ทั้งที่มีผู้ชุมนุมเพียง 300-400 คน อยู่บนฟุตบาทได้ แต่ใช้วิธีนั่งกระจายปิดถนนทั้งหมด ซึ่งการปิดถนนเส้นอู่ทองใน ทำให้เกิดความเดือดร้อน คนในรัฐสภาเข้าออกไม่ได้ ประชาชนที่จะติดต่อราชการที่รัฐสภาเข้าไม่ได้ และเส้นทางดังกล่าวยังเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิ ราช สยามมกุฎราชกุมารฯ
ทั้งนี้ พล.ต.ต.วิชัย เบิกความว่า การชุมนุมเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่ได้บอกให้เลิกชุมนุม แต่ขอให้เปิดการจราจร โดยหากเปิดช่องทางจราจร จะไม่ถือว่าก่อความเดือดร้อน และการใช้เครื่อง LRAD ก็เพื่อขยายเสียง ควบคุมผู้ชุมนุมเท่านั้น
ด้านทนายจำเลยที่ 1-3 ซักค้าน พล.ต.ต.วิชัย ย้ำว่า จุดที่ต้องการดำเนินคดีคือเหตุการณ์หน้ารัฐสภา เพราะหน้าทำเนียบ แม้ปิดช่องทางจราจรแต่รถยังผ่านได้ จึงอะลุ้มอะล่วย ทั้งนี้ ทราบว่าเจตนาของผู้ชุมนุมคือเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีถูกเลิกจ้าง ทนายถามว่า ทราบหรือไม่ว่ามีผู้ชุมนุมมาจากบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) และบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ด้วย พล.ต.ต. เบิกความว่า ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามาจากไทรอัมพ์
กรณีการใช้เครื่อง LRAD พยานตอบว่า เคยชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) จากกรณีที่คนงานไปร้องเรียนว่าตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ว่า LRAD ใช้เพื่อขยายเสียงและควบคุมฝูงชน อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าในต่างประเทศ มีการใช้ LRAD เป็นอาวุธสงคราม โดยในวันดังกล่าว เปิดเครื่อง LRAD เพื่อตัดเสียงเครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุมไม่ให้ดังรบกวนในรัฐสภา ไม่ใช่เพื่อตัดการติดต่อ หรือสลายการชุมนุม เพราะถ้าใช้เพื่อสลายการชุมนุม เสียงจะดังมากและยาวนานกว่านี้
ทนายถามว่า เคยมีปากเสียงกับ จิตรา คชเดช จำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยบอกให้ไปจับผู้บริหารบริษัทแทนใช่หรือไม่ พยานยืนยันว่าไม่ได้มีปากเสียงกับจำเลย โดยตนเองเป็นผู้เจรจาที่ดีที่สุด
ทนายถามว่า เหตุการณ์หน้ารัฐสภา เป็นความผิดซึ่งหน้า ทำไมจึงไม่จับทันที พยานระบุว่า มีเหตุผลที่จะจับ แต่ใช้วิธีขอหมายศาลเพื่อความถูกต้อง และไม่จับทันทีเพราะผู้ชุมนุมมีมาก ทั้งนี้ ไม่มีประชาชนมาร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยตำรวจเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอง
พยานกล่าวว่า ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนก่อนเกิดเหตุ มีม็อบที่ทำเนียบจำนวนมาก ถ้ามาเยอะ ก็จะปิดช่องทางจราจรอยู่แล้ว ซึ่งศาลก็เคยมีคำสั่งว่าทำได้ ถ้าไม่ได้จงใจ สำหรับการชุมนุมหน้ารัฐสภา ถ้าจะปิดเต็มพื้นที่ ใช้คน1,000 คนเท่านั้น แต่วันนั้น ผู้ชุมนุมมาไม่เต็มพื้นที่ ฟุตบาทฝั่งเขาดินไม่มีคนยืนเลย
ทนายถามว่า การแจ้งความดำเนินคดีโดยใช้กฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.จราจร เป็นการขัดขวางการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.ต.ต.วิชัย ตอบว่า ไม่ใช่
ด้านอัยการถามติง ถึงผลสอบของ กสม. พล.ต.ต.วิชัย ระบุว่า รายงานดังกล่าวสรุปว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เป็นการละเมิดสิทธิฯ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในการสืบพยานโจทก์วันนี้ นอกจากสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จำนวนหนึ่งแล้ว ยังมี ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.เพื่อไทย และ สุดา รังกุพันธุ์ นักวิชาการเสื้อแดง ร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย
สำหรับการสืบพยานโจทก์ ยังมีอีกสองรายในวันพรุ่งนี้ ได้แก่ พ.ต.ท.สมบัติ เหมันต์ ในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน สน.ดุสิต และนายสิทธิชัย ซื่อสัตย์ดี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำทำเนียบรัฐบาล ผู้เห็นเหตุการณ์