เปิดร่าง พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำคุก 10 ปีคนปลอมลายเซ็น

ประชาไท 14 สิงหาคม 2555 >>>


ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.... มีความสำคัญในฐานะเป็นกฎหมายแม่บทที่กำหนดขั้นตอนสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร่างดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร โดยมีร่างเข้าสู่การพิจารณาพร้อมกัน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ร่างที่เสนอโดย ส.ส.วิชัย ล้ำสุทธิ พรรคประชาธิปัตย์ และร่างที่เสนอโดยประชาชนสองฉบับ คือฉบับของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และฉบับของสถาบันพระปกเกล้า ใจความสำคัญของร่างกฎหมาย หลังออกจากกรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ
ขณะ นี้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งนำหลักการจากร่างที่เสนอมาทั้ง 4 ฉบับมาผสมกัน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ฉบับล่าสุดที่ผ่านกรรมาธิการ มีสาระสำคัญดังนี้
1. การเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องมีผู้ริเริ่มไม่น้อยกว่ายี่สิบคนแจ้งให้ประธาน รัฐสภาทราบ พร้อมด้วยร่างกฎหมาย เพื่อให้ประธานรัฐสภาพิจารณาก่อนว่าร่างกฎหมายนั้นๆ เป็นกฎหมายตามหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ร่างมาตรา 6)
2. ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทุกคนต้องใช้ข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้และมีรูปถ่าย แนบเป็นหลักฐานประกอบการลงชื่อ (ร่างมาตรา 7)
3. เมื่อประธานรัฐสภาได้รับรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายแล้ว ให้ตรวจสอบให้เสร็จภายใน 45 วัน หากรายชื่อครบถ้วนให้ประกาศรายชื่อทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้ แทนราษฎร และจัดเอกสารไว้ให้ประชาชนสามารถมาตรวจสอบหรือคัดค้านได้ที่สำนักงาน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวลา 30 วัน (ร่างมาตรา 10)
4. หากประธานรัฐสภาตรวจสอบแล้วพบว่ารายชื่อไม่ครบถ้วน ให้ผู้ริเริ่มมีเวลาอีก 90 วันในการหารายชื่อมาให้ครบ หากไม่สามารถหาได้ให้สั่งจำหน่ายเรื่อง (ร่างมาตรา 11)
5. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะเสนอมิได้ (ร่างมาตรา 12)
6. ผู้ใดให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ให้ผู้อื่นลงชื่อหรือไม่ลงชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (ร่างมาตรา 13)
7. ผู้ใดลงลายมือชื่อปลอม หรืออ้างลายมือชื่อปลอมในเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท (ร่างมาตรา 14)
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกบรรจุไว้ในวาระเร่งด่วน เป็นลำดับที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรวาระ 3 ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หากการพิจารณาวาระ 3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการใดเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามเนื้อหาดังกล่าว ก็จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนของวุฒิสภาต่อไป
ทั้งนี้ จากเนื้อหาร่างดังกล่าวจะพบว่า มีหลักการหลายอย่างที่ภาคประชาชนเสนอหายไป เช่น ยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายอาศัยหลักฐานเพียงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้กรรมการปฏิรูปกฎหมาย สภาพัฒนาการเมือง เข้ามามีบทบาทช่วยภาคประชาชนในการผลักดันร่างกฎหมาย ขณะที่หลักการหลายอย่างจากร่างของรัฐบาลที่เป็นเรื่องกังวลใจก็ยังถูกคงเนื้อหาไว้ เช่น การกำหนดให้มีผู้ริเริ่มการเข้าชื่อเสนอกฎหมายส่งร่างกฎหมายที่จะรวบรวมรายชื่อให้ประธานรัฐสภาพิจารณาก่อนการระดมรายชื่อ การกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ปลอมลายมือ หรือแอบอ้างรายชื่อผู้อื่น เป็นต้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายค้าน ร่างเข้าชื่ออาจสร้างอุปสรรคการมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฉบับผ่าน กรรมาธิการ โดยที่ประชุมส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ยังมีปัจจัยที่สร้างอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นที่เป็นความกังวล เช่น การกำหนดให้มีผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายยี่สิบคน เพราะเกรงว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับประชาชนกลุ่มเล็กที่ต้องการขับเคลื่อน และการให้อำนาจประธานรัฐสภาแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสินตั้งแต่ก้าวแรกนั้น อาจไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ กรณีการให้ประกาศรายชื่อประชาชนผู้เสนอกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้คัดค้าน โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภานั้น อาจทำให้ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงช่องทางนี้ได้
ในที่ประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายยังเห็นว่า ประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายควรมีหน้าที่เพียงระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็เพียงพอโดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือเอกสารอื่น เพราะจะก่อปัญหาในด้านต้นทุนค่าใช้จ่าย ความไม่สะดวก เป็นการลดทอนโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน
ในที่ประชุมยังกล่าวถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกองทุนพัฒนาภาคพลเมือง เข้ามาสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิเสนอให้กกต. ช่วยเหลือประชาชนเรื่องการระดมรายชื่อให้ครบ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูล มีเครื่องมือและความเชี่ยวชาญในการจัดการอยู่แล้ว และควรมีสิทธิขอให้กองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วย
สำหรับเรื่องเงื่อนเวลาในการทำงานของภาครัฐนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ร่างนี้น่าจะกำหนดด้วยว่า การพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะ เวลาที่กำหนด เช่น ไม่เกินสองสมัยประชุม และกำหนดว่าร่างกฎหมายของภาคประชาชนควรได้รับการพิจารณาโดยเร็วไม่ว่าจะมี ร่างของรัฐบาลมาประกบหรือไม่ก็ตาม
สำหรับประเด็นที่ถือเป็นเรื่องใหม่ที่สุด คือการกำหนดโทษจำคุกไว้ในร่างกฎหมายนี้ด้วยนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ไม่ควรกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษ เนื่องจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากมีการแสดงเอกสารเท็จก็มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว และการปลอมแปลงเอกสารเพื่อเสนอกฎหมายก็ไม่ได้เป็นการรอนสิทธิบุคคลใดจึงต้อง มีโทษทางอาญา