แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยเลยที่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ขยายอำนาจตนเองมาก้าวล่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา แต่ผู้เขียนก็น้อมรับคำวินิจฉัย และย้ำว่าทุกฝ่ายพึงนำ ‘คำวินิจฉัย’ มาทำความเข้าใจและปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
หากสงสัยว่า หากไม่เห็นด้วย แล้วเหตุใดต้องปฏิบัติตาม ก็อาจย้อนดูคำตอบเรื่อง ‘คำวินิจฉัยพร่าๆ ในพายุที่พรำๆ' แน่นอนว่า ‘คำวินิจฉัยที่ดี’ ซึ่งหนักแน่นชัดเจนในเหตุผล แม้จะมีผู้ใดไม่เห็นด้วย แต่สังคมย่อมนำไปปฎิบัติโดยดุษฎีและมีประสิทธิภาพ
ส่วน ‘คำวินิจฉัยที่มีปัญหา’ แม้จะปฏิบัติตามเพียงใด ก็อาจไม่สำเร็จด้วยเหตุของความคลุมเครือ (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวผู้ปฏิบัติ) ยิ่งหากเหตุผลของศาลขัดต่อ ‘มาตรฐานมโนสำนึก’ ของประชาชน ก็ย่อมนำไปสู่ ‘การโต้ตอบทางประชาธิปไตย’ เช่น การเข้าชื่อถอดถอนตุลาการ หรือการแก้ไขตัวบทรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงอำนาจและที่มาของศาลในที่สุด
ผู้เขียนจึงยินดีที่ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ได้ตั้ง ‘11 อรหันต์’ นำโดย ‘เนติโยธิน’ เช่น โภคิน พลกุล พงศ์เทพ เทพกาญจนา หรือ ชูศักดิ์ ศิรินิล มาศึกษาคำวินิจฉัยว่าจะปฏิบัติตามอย่างไร และหาแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (เช่น การแก้ไข มาตรา 68 มาตราเดียวก่อน เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำซาก)
ท่าทีนี้แสดงว่า ‘เสียงข้างมากในสภา’ ก็ยังยำเกรงและให้เกียรติ ‘ตุลาการ’ แต่ในขณะเดียวกัน ก็พร้อมจะเล่นตามกติกาเพื่อทำให้ ‘ตุลาการ’ ต้องยำเกรงรัฐธรรมนูญเช่นกัน
จะเสียดายอยู่หน่อย ก็ตรงที่ว่า หากมี ‘อรหันต์ ส.ว.’ และ ‘อรหันต์ ฝ่ายค้าน’ มาร่วมจำพรรษาศึกษาคำวินิจฉัยพร้อมเพียงกันได้ ก็คงเป็นปรากฏการณ์ทางประชาธิปไตยที่น่าจดจำยิ่งนัก
แม้จะกระนั้น ใน ผู้เขียนในฐานะ ‘1 เณรน้อย’ ก็ขอฝาก 4 คำถาม ไปยัง ‘11 อรหันต์’ ที่กำลังหั่นคำวินิจฉัย ให้ช่วยแถลงไขให้ประชาชนได้เข้าใจ ดังนี้
1. ใครกันแน่ คือ ‘ผู้ถูกร้องที่ 1’ ?
คำวินิจฉัยกลาง ฉบับศุกร์ที่ 13 นี้ ไม่ได้สำคัญแต่เพียงเนื้อหาและผลของคำวินิจฉัยในหน้าท้ายๆ เท่านั้น แต่มีความผิดประหลาดที่ปรากฎตั้งแต่บรรทัดแรกๆ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อาจมองข้าม เช่น การระบุ ‘ผู้ถูกร้องที่ 1’ ซึ่งแต่แรกศาลใช้คำว่า ‘ประธานรัฐสภา’ แต่สุดท้ายศาลเปลี่ยนเป็น ‘ประธานรัฐสภา ในฐานะรัฐสภา’ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ ‘ประธานรัฐสภา’ สามารถไปต่อสู้คดีในศาลแทนสมาชิกรัฐสภาทั้ง 650 คนได้ หรือศาลจะบอกว่า ‘นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์’ (ประธานรัฐสภา) เพียงคนเดียว สามารถอธิบายจุดยืนและให้คำมั่นสัญญาผูกพันแทน ‘นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ และ ‘พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม’ ตลอดจนฝ่ายค้าน และ ส.ว. ได้ทั้งหมด กระนั้นหรือ ?
เมื่อเป็นดังนี้ จึงขอถาม ‘11 อรหันต์’ ว่า ประธานรัฐสภาและบรรดาสมาชิกรัฐสภาเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร และจะหลงสับสนตามศาลหรือไม่ ?
2. ใครกันแน่ คือ ‘ตุลาการเสียงข้างมาก’ ?
ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนแสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยกลางประเด็นที่ 2 ซึ่งศาลเห็นว่า ‘ควร’ ทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น หากพิจารณาความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 ท่าน จะพบว่ามีเสียงแตกออกเป็น 4 ฝ่าย แต่หากพิจารณาอย่างละเอียด อาจกล่าวได้ว่า ในท้ายที่สุด ก็มี ตุลาการถึง 5 เสียง ที่เห็นไปแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ
(1) ตุลาการ 3 เสียง (นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี) เห็นว่า ศาลไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยประเด็นที่สอง กล่าวคือ ยอมรับว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
(2) ตุลาการ 1 เสียง (นายชัช ชลวร) เห็นว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้
(3) ส่วนตุลาการอีก 1 เสียง (นายจรูญ อินทจาร) ในความเห็นส่วนตน หน้าที่ 6 ย่อหน้าสุดท้าย เห็นว่า
“อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ...ย่อมกระทำได้โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งอาจแสดงออกโดยการลงประชามติเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งได้รับฉันทามติจากปวงชนชาวไทยผ่านการลงประชามติก่อนที่พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธย”
แม้คำว่า ‘ฉันทามติ’ อาจมีปัญหาว่าจริงหรือไม่ แต่ก็เข้าใจได้ว่า ‘นายจรูญ อินทจาร’ ยอมรับว่า ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ’ มีข้อยกเว้นให้สามารถกระทำได้ โดยอาจใช้วิธีการเดียวกันกับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
หากพิจารณาตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะพบว่า ‘การลงประชามติ’ นั้นได้กระทำ ‘หลัง’ จากที่ ส.ส.ร. ได้ดำเนินการยกร่างเสร็จแล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงประชามติ ‘ก่อน’ ตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างแต่อย่างใด
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามร่าง มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในปัจจุบัน ก็ย่อมสามารถกระทำได้ เพราะมีขั้นตอนให้ประชาชนได้ลงประชามติ ‘หลัง’ จากที่ ส.ส.ร. ได้ดำเนินการยกร่างเสร็จ แต่ทั้งนี้ ‘ก่อน’ ที่พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธย จึงไม่ต่างจากตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ ‘นายจรูญ อินทจาร’ ยกอ้าง
เมื่อเป็นดังนี้ จึงขอถาม ‘11 อรหันต์’ ว่า ในส่วนประเด็นที่ 2 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น มีตุลาการเสียงข้างมากถึง 5 เสียง ที่เห็นว่า รัฐสภาสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ตามที่ดำเนินมาได้ ใช่หรือไม่ ?
3. ใครกันแน่ คือ ‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’ ?
หลายฝ่ายอาจเข้าใจว่า ‘นายชัช ชลวร’ เป็น ‘ตุลาการเสียงข้างน้อยผู้เดียว’ ที่เห็นว่าศาล ‘ไม่มีอำนาจรับพิจารณา’ คดีนี้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณา ‘ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน’ ของ นายชัช ชลวร โดยเฉพาะในหน้า 6-7 จะพบความเห็นว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจจะตรวจสอบอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญหรืออำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ …แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรใช้อำนาจตุลาการอาจใช้อำนาจปฏิเสธไม่บังคับรับรองบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญที่เห็นโดยชัดแจ้งว่าบัญญัติขึ้นโดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย…”
กล่าวคือ แม้ ‘นายชัช ชลวร’ จะไม่ติดใจหากรัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายชัช ชลวร กลับระบุว่าตนมีอำนาจ ‘จิ้มเลือก’ มาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ หากตนพอใจว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของปวงชนก็บังคับให้ แต่หากตนไม่พอใจดังที่ว่า ก็จะไม่บังคับให้เกิดผล
ผู้เขียนย้ำว่าตุลาการย่อมผูกพันภายใต้ตัวบทรัฐธรรมนูญและต้องตีความบังคับให้เกิดผลสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของปวงชน แต่ ‘นายชัช ชลวร’ กลับคิดว่ารัฐธรรมนูญบางมาตราสิ้นผลได้หากตนพอใจ ซึ่งเป็นการขยายดุลพินิจของตนอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าตุลาการเสียงอื่นที่ขยายอำนาจตนเองตาม มาตรา 68 เสียอีก
หากจะมี ‘เสียงข้างน้อย’ ตัวจริง ก็เห็นจะเป็น ‘นายนุรักษ์ มาประณีต’ ซึ่งเป็น ‘ตุลาการเพียงหนึ่งเดียว’ ที่ไปไกลถึงขนาด ‘วินิจฉัยสั่งการ’ ให้ผู้ถูกร้องทั้งหก ‘เลิกการกระทำ’ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและยกคำร้องส่วนอื่น (ต่างจากตุลาการอีก 7 ท่านที่วินิจฉัยยกคำร้องโดยไม่ได้มีการสั่งการให้เลิกการกระทำ)
หากพิจารณาความเห็นส่วนตนในหน้าที่ 4-6 จะพบว่า ‘นายนุรักษ์ มาประณีต’ สรุปอย่างสับสนและกำกวมว่า ในประเด็นพิจารณาที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นการทำผิด มาตรา 68 แต่ในประเด็นพิจารณาที่ 3 นายนุรักษ์เห็นว่า แม้ผู้ถูกร้องจะไม่มีเจตนาในการล้มล้างการปกครองก็ตาม แต่ก็อาจสำคัญผิด จนนำมาสู่การวินิจฉัยที่ปะปนกัน นายนุรักษ์ จึงเป็นตุลาการหนึ่งเดียวจาก 8 ท่านที่ ‘สั่งการให้เลิกการกระทำ’ (ซึ่งขัดกับข้อมูลของสำนักงานศาลที่ชักนำให้เข้าใจว่า ตุลาการมีมติเอกฉันท์ 8-0 ว่าไม่มีการทำผิด มาตรา 68)
นอกจากนี้ ‘นายนุรักษ์ มาประณีต’ ยังเป็นตุลาการเพียงหนึ่งเดียว ที่เคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญที่ได้มาโดยอำนาจของ คมช. ที่ก่อการรัฐประหารล้มล้างการปกครองเมื่อ 19 กันยายน 2549 อันเป็นการขัดต่อหลักการ มาตรา 68 อีกด้วย (สำหรับข้อสังเกตเกี่ยวกับความเห็นตุลาการท่านอื่น)
เมื่อเป็นดังนี้ จึงขอถาม ‘11 อรหันต์’ ว่า หากยังมีตุลาการที่พร้อมจะ ‘จิ้มเลือก’ หรือ ‘ป่นขยี้’ รัฐธรรมนูญ ให้ผิดเพี้ยนได้มากเพียงนี้ แม้หาก ‘11 อรหันต์’ จะเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 ให้ชัดเจนก็ตาม แต่ปัญหาจากการตีความที่พิสดาร ก็ยังตามมาอีกได้หรือไม่ ?
จากคำถามทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา โจทย์สำคัญสำหรับ ‘11 อรหันต์’ และ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ จึงไม่ได้อยู่เฉพาะการทำความเข้าใจกับคำวินิจฉัย หรือ การแก้ไขรายมาตราในส่วน มาตรา 68 เพียงมาตราเดียวเท่านั้น
แต่ต้องคิดไกลไปถึงการแก้ไข ‘มาตราอื่น’ ไปพร้อมกันด้วย (ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ) เช่น การปรับปรุงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีบทเฉพาะกาลให้มีตุลาการเพิ่มมาทันที อาจเพิ่มอีก 6 ท่านรวมเป็น 15 ท่าน คล้ายรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ปรับปรุงวิธีการเสนอสรรหาและรับรองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
เพื่อให้มี ‘เสียงแห่งเหตุผล’ ที่ยึดโยงกับประชาชน มาช่วยถ่วงดุลบรรดา ‘เสียงส่วนตน’ ที่อาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายหรือแม้แต่ ‘พระปรมาภิไธย’ !