ตอนนี้ไม่ว่าไปที่ไหน เสียงเตือนที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คืออย่าคุยเรื่องการเมือง เมื่อได้ยินคำนี้เป็นที่เข้าใจได้ว่า เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการทะเลาะกันได้ อย่าว่าแต่กับคนแปลกหน้า หรือคนรู้จักที่ไม่สนิทคุ้นเคย แม้แต่เพื่อนกัน หรือกระทั่งครอบครัวเดียวกันยังหมางใจกันได้ ตรงนี้เป็นปัญหาเหมือนกัน
เรามีปัญหาเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ประชาชนขาดความรู้ในเรื่องการบ้านการเมือง เมื่อเลือกตั้งผลออกมาว่าเราได้ ส.ส. ไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ระบอบประชาธิปไตยต้องการ
เกิดการไม่ยอมรับในนักการเมือง นำมาซึ่งการรัฐประหาร แต่การรัฐประหารก็อยู่ไม่ได้เพราะทิศทางเรามุ่งไปสู่ประชาธิปไตย
สภาพการเมืองแบบวงจรอุบาทว์อย่างที่เข้าว่าจึงเกิดขึ้น คือ เลือกตั้งได้นักการเมืองไม่ดีเข้ามา เป็นเชื้อให้เกิดการรัฐประหาร แต่รัฐบาลทหารก็อยู่ไม่ได้ ต้องกลับมาเลือกตั้งให้ได้นักการเมืองกลุ่มเดิมเข้าไปเป็นปัญหาอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้
หากจะพูดกันถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว ปัญหาเกิดจากประชาชนไม่รู้จักเลือก หากประชาชนเลือกคนที่มีคุณภาพเข้าไปทำหน้าที่ในทางการเมืองเสียแต่ต้นข้ออ้างในการทำรัฐประหารจะไม่มี ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็น
เพราะว่าจะทำให้การตัดสินใจเลือกของประชาชนดีขึ้น จะต้องให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น วิธีการพัฒนาความรู้ทางด้านการเมืองของประชาชนที่ดีที่สุดคือ สนับสนุนให้พูดคุยกันในเรื่องการเมือง
พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกัน
ในช่วงที่การเมืองเป็นวิกฤตของประเทศเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสให้เกิดการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนกันให้มาก แต่กลับกลายว่าเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เรากลับได้ยินเสียงเตือนไม่ให้คุยเรื่องการเมืองอยู่เสมอ
เหตุที่เป็นเช่นนั้น ความแตกแยกทางความคิดรุนแรง ต่างฝ่ายต่างเชื่อเหตุผลของฝ่ายตัว โดยไม่ยอมรับฟังเหตุผลของฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเด็ดขาด
การปิดประตูที่จะรับฟังแบบนี้ ก่อปัญหาว่าหากเป็นคนละฝ่ายกันเสียแล้ว ไม่มีทางพูดกันรู้เรื่องเด็ดขาด เพราะเราจะเชื่อเฉพาะที่เป็นข้อมูลและความคิดจากฝ่ายเรา ขุ่นข้องใจเมื่อรับฟังข้อมูลและความคิดจากฝ่ายอื่น
ต่างฝ่ายต่างพากันมุ่งไปสู่การดำเนินชีวิตแบบ "คับแคบ" มีความสุขกับข้อมูลและความคิดที่จะมาปรนเปรอความเชื่อของตัว และเป็นทุกข์ ทุรนทุราย เมื่อได้ฟังข้อมูลความคิดที่ต่างไปจากที่ตนเชื่อ
เป็นชีวิตที่ต้องตีกรอบตัวเองให้แคบลง อยู่ได้เฉพาะในกลุ่มที่มีความเชื่อเดียวกัน จะพูดจะคุยอย่างเป็นอิสระได้ต้องเหลียวหน้ามองหลังว่าเป็นพวกเดียวกันหรือเปล่า
สังคมที่กว้างขึ้น และสื่อการกันได้รวดเร็วจากหลากหลายช่องทางด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ช่วยให้การดำเนินชีวิตกว้างขึ้นเลย เพราะเราไปตีกรอบให้อยู่ได้อย่างไม่หวาดระแวงเฉพาะกลุ่มที่เชื่ออย่างเดียวกัน
วิธีชีวิตเช่นนี้ไม่เพียงเป็นโทษแก่ตัวเอง แต่ยังเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตยด้วย โดยธรรมชาติ มีความแตกต่างทางความเชื่ออยู่แล้ว ไม่มีทางที่คนซึ่งมีที่มาต่างกัน ความรู้ไม่เท่ากัน จะคิดจะเชื่อเหมือนกันได้ และประชาธิปไตยคือระบบการปกครองที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างแตกต่าง
ดังนั้น หัวใจของประชาธิปไตยคือ ต้องรู้จักที่จะรับฟังกัน ทำใจยอมรับกับความแตกต่างได้
ประชาธิปไตยแบบทนฟังคนที่คิดต่างไม่ได้ คือ "ประชาธิปไตยที่ไร้หัวใจ"