สื่อเลือกสีเลือกข้างผิดจรรยาบรรณหรือ

วอยซ์ทีวี 28 กรกฎาคม 2555 >>>




นักวิชาการและสื่อมวลชน ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการเลือกสีเลือกข้างของสื่อในยุคปัจจุบัน แม้ว่าในเวทีเสวนานี้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็ช่วยให้เห็นถึงพัฒนาการของสื่อ ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ  จัดเสวนาในหัวข้อ 'สื่อเลือกสีเลือกข้าง ผิดจรรยาบรรณหรือ' เนื่องจากสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า ไม่มีความเป็นกลาง และเลือกข้างอย่างชัดเจน จนทำให้สังคมได้รับข้อมูลไม่รอบด้าน และส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาด
นายอธึกกิจ แสวงสุข บรรณาธิการอาวุโสวอยซ์ทีวี กล่าวว่า ความเป็นกลางของสื่อมวลชนไม่มีอยู่จริงในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน เนื่องจากสื่อมักจะถูกผลักจากสังคม หรือเลือกที่จะอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้น สื่อจะต้องเลือกข้างอย่างมีจรรยาบรรณ
นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย บรรณาธิการพิเศษหนังสือพิมพ์แนวหน้า กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ ที่แต่ละคนจะมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน แต่เมื่อต้องมาทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน คนๆ นั้นไม่ควรเลือกสีเลือกข้าง และต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย รวมทั้งต้องพร้อมรับการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังเห็นว่า สื่อที่น่ากังวลมากที่สุดในปัจจุบัน คือสื่อโซเชี่ยลมีเดีย เพราะนำเสนอข้อมูลรวดเร็ว ขาดการตรวจสอบ และไม่รู้ที่มาที่ไป
ด้าน นายสุระชัย ชูผกา อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนยันว่า สื่อมวลชนที่เลือกข้าง ถือว่าผิดจรรยาบรรณและผิดหลักจริยธรรม เพราะบทบาทของสื่อจะต้องมีความเป็นกลาง และให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องที่นำเสนอจะถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน
พร้อมเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรจัดตั้ง "ผู้ตรวจการสื่อมวลชน" แทนการตรวจสอบกันเองในรูปแบบของสมาคม เพราะในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า รูปแบบเก่าไม่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูน ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากจะมีสื่อมวลชนเลือกข้างอย่างชัดเจนแล้ว ขณะนี้บริบททางสังคมยังเป็นผู้กำหนดข้างให้กับสื่อด้วย จึงถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย
เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนที่มีภาพลักษณ์ไม่เป็นกลาง จะต้องยืนหยัดว่าแนวทางที่นำเสนอนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามอุดมการณ์
แม้การเสวนาในครั้งนี้ จะไม่ได้ข้อสรุปว่าความคิดของใครถูกหรือผิด แต่รองศาสตราจารย์ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เปิดประเด็นนี้ เสนอแนะว่า เป้าหมายของสื่อมวลชน จะต้องรักษาวิถีของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยึดมั่นใจอุดมการณ์ประชาธิปไตย และจะต้องเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันอย่างเป็นธรรม