เปิดคำแถลงปิดคดี "ปชป.-พท." ชี้ชะตาศึก "ร่างรัฐธรรมนูญ"

มติชน 12 กรกฎาคม 2555 >>>




สาระสำคัญบางส่วน จากคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องที่ 3 และผู้ถูกร้องที่ 3 พรรคเพื่อไทย ในคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

แถลงการณ์ปิดคดีของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องที่ 3

ประเด็นที่ 1: ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ปรากฏชัดเจนจากการเบิกความของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ที่เบิกความต่อศาลว่า "...เป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กำหนดเอาไว้โดยเฉพาะเพื่อที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ... มาตรา 68 เป็นบทบัญญัติที่ประสงค์จะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามที่มาตรา 68 กำหนดไว้ ... มาตรา 68 เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือคดีนี้ได้"
ทั้งนี้ ตามที่ผู้ถูกร้องทั้งหกกล่าวอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับพิจารณาคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยอ้างอิงความเห็นของ นายโภคิน พลกุล นั้นแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในชั้นร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวอย่างชัดแจ้งในสาระสำคัญว่า ผู้เห็น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวต่อตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการได้
ประเด็นที่ 2: การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมให้มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
   1. พิจารณาจากถ้อยคำในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่บัญญัติว่า "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการต่อไปนี้..."
กำหนดให้ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้เพียง 2 ประการเท่านั้น คือ "การแก้ไข" และ "การเพิ่มเติม" รัฐธรรมนูญ แต่ไม่สามารถ "ยกเลิก" หรือ "ล้มล้าง" รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับได้
   2. พิจารณาตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีที่มาจากรัฐธรรมนูญในอดีต ได้แก่
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 211 บัญญัติว่า "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้..."
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 313 บัญญัติว่า "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำได้..."
ต่อมาผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เห็นว่าควรเปลี่ยนถ้อยคำดังกล่าวจากคำว่า "จะ" เป็นคำว่า "ให้" โดยบัญญัติในมาตรา 291 ว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กระทำได้..."
   3. มาตรา 68 ให้สิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้คงอยู่สืบไป ดังนั้นเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญย่อมไม่มีเจตนาให้บุคคลใดๆ กระทำการด้วยวิธีการใดๆ ให้มีผลเป็นการล้มล้าง หรือ ยกเลิก รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ลงทั้งฉบับได้
   4. พิจารณาจากอำนาจ "สถาปนา" รัฐธรรมนูญ คำปรารภรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ตอนหนึ่งบัญญัติถึงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ว่า "เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การออกเสียงลงประชามติปรากฏผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป ทรงพระราชดำริว่าสมควรพระราชทานพระบรมราชานุมัติตามมติของมหาชนจึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ..."
จึงเห็นได้ว่า "ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550" คือ พระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย
   5. มาตรา 291 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำการแทนได้
   6. ข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบในชั้นศาล
อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาตาม 1 ถึง 6 เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มีเจตนาให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มีความไม่เหมาะสมตามสภาพการณ์ต่างๆ เป็นรายมาตราเท่านั้น แต่ไม่มีเจตนาให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนกระทั่งมีผลเป็นการล้มล้างหรือยกเลิกทั้งฉบับได้
ประเด็นที่ 3: การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหกเป็นการ "ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" หรือไม่
   1. ประเด็นว่าผู้ถูกร้องทั้งหกใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น อย่างไรนั้น
การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 และที่ 5 เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้น เป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองในมาตรา 291
   2. ประเด็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหกเป็นการกระทำ "เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้" หรือไม่ ควรพิจารณาแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
       1. ข้อกฎหมาย อาทิ หากมีการพิจารณาเทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 2512-1515/2497 ที่มีคำวินิจฉัยในสาระตอนหนึ่งว่า "การที่จำเลยนำเอารัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยฉบับอื่นมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักร..."
และ
       2. ข้อเท็จจริง อาทิ ผู้ถูกร้องที่ 2 ของพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 3
นายสุนัย จุลพงศธร ผู้ถูกร้องที่ 5 และ ส.ส.เพื่อไทย มีแนวคิดส่อว่าต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องห้ามตามมาตรา 68
ผู้ร้องที่ 2 และที่ 5 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนเสื้อแดงมีพฤติกรรมส่อว่าเป็น "ขบวนการล้มล้างสถาบัน" โดยพิจารณาจากการกระทำของผู้เกี่ยวข้องที่กระทำการเป็น "ขบวนการ" ในลักษณะที่สอดคล้องและสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ อาทิ มีการปราศรัยของ ส.ส.เพื่อไทย ที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีเสื้อแดง ด้วยวาทกรรมต่างๆ นานา โดยยึดรูปแบบ "เนปาลโมเดล" จึงต้องถือว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันกระทำ การขัดต่อมาตรา 291 และมาตรา 68 ดังกล่าว

แถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้องที่ 3 (พรรคเพื่อไทย)

1. ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ผู้ทราบการกระทำนั้นมีสิทธิเพียงเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น หากอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีมูลจึงจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยให้เลิกการกระทำนั้น ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
2. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้หรือไม่ เมื่อผู้ร้องไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจวินิจฉัยเพียงผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง จึงให้ยกคำร้อง โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นอื่น
3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถกระทำได้หรือไม่ การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับก็จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือจำกัดห้ามแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และโดยหลักการร่างรัฐธรรมนูญแล้วผู้ร่างก็จะไม่กำหนดข้อห้ามในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ เพราะการห้ามเช่นนั้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว ในเรื่องนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ในขณะที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเป็นรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ขณะนี้บุคคลทั้งสองเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เคยให้ความเห็นไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้
4. มีการกระทำอันจะถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
พรรคผู้ถูกร้องที่ 3 ไม่ได้กระทำการใดเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่มีการร้องในคดีนี้เลย การเสนอและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา โดยเป็นกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้รับอนุมัติให้ประกาศใช้ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2 550 ทุกๆ หมวด ทุกๆ บทมาตรายังคงมีอยู่เช่นเดิม ยิ่งไปกว่านั้นในขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็ยังไม่ได้รับอนุมัติ สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มี ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังไม่เห็นรูปร่าง ยิ่งไม่เข้าเงื่อนไขการล้มล้างการปกครองหรือการให้ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ข้ออ้างของผู้ร้อง เรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันหลักๆ เป็นเพียงจินตนาการของผู้ร้อง เพราะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291/11 วรรคห้า ได้บัญญัติห้ามไว้อย่างชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ หากศาลรัฐธรรมนูญรับฟังตามที่ผู้ร้องอ้างก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญจินตนาการผิดๆ ตามผู้ร้องไปด้วย
ข้ออ้างที่ว่าการให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำเสร็จแล้วแทนที่จะให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้องค์กรใดเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ในทางปฏิบัติก็ถือเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาก่อนที่จะบรรจุญัตติอยู่แล้ว การที่ร่างรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็มีเหตุผลมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวแทนประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้ก็ต้องการให้ประชาชนลงประชามติ เท่ากับเป็นการใช้มาตรฐานเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กรณีเช่นนี้ก็เคยปฏิบัติมาแล้วเมื่อครั้งร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็นำไปให้ประชาชนลงประชามติเลยโดยไม่ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ
ผู้ร้องทำให้ดูน่ากลัว โดยใช้ถ้อยคำเสมือนกับการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ในครั้งหนึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2549 เคยวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง โดยอาศัยอำนาจจากประกาศของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตามข้อเท็จจริงแล้วก็คือการใช้อำนาจของผู้ที่กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้อง ความชอบด้วยหลักนิติธรรม ทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มากกว่าครั้งใดๆ ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องนี้ไว้ได้
ผู้ถูกร้องที่ 3 ใคร่ขอแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกาต่อไป และแม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะถือเป็นที่สุดเด็ดขาดผูกพันองค์กรอื่นๆ แต่ผู้ถูกร้องที่ 3 ก็ขอแถลงว่า คำวินิจฉัยอันจะมีผลผูกพันดังกล่าวนั้น ตามหลักสากลทั่วไปและหลักกฎหมายมหาชน คำวินิจฉัยนั้นๆ จะต้องอยู่ในเขตอำนาจศาลนั้นๆ เป็นประการสำคัญ