ขับ "เทพเทือก" ตัดสิทธิ์การเมือง เอี่ยวเดิมพันเก้าอี้ “ประธานวุฒิ”

ผู้จัดการ 30 กรกฎาคม 2555 >>>




ถึงคราวงานเข้าพรรคประชาธิปัตย์บ้างแล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (1) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่ผ่านมา แต่งตั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 19 คน เข้าช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ
แม้ "เทพเทือก" จะแก้ลำว่าความผิดยังไม่สำเร็จ เพราะเป็นเพียงการขอคำปรึกษาไปยังกระทรวงวัฒนธรรมว่าจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ เมื่อรู้ว่าหมิ่นเหม่ข้อกฎหมาย จึงหยุดเรื่องเอาไว้ แต่ ป.ป.ช. ก็ชี้เปรี้ยงไปว่าความผิดสำเร็จแล้ว
ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของลิ่วล้อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยยกคำร้องเรื่องนี้ไปแล้ว
ก็ไม่รู้ว่าเหตุผลกลใด ป.ป.ช. ถึงเล่นเกมแรงกระแทกใส่พรรคประชาธิปัตย์เยี่ยงนี้ หรือจะเป็นการพลิกบทบาทในฐานะองค์กรอิสระที่โดนค่อนขอดตลอดมาว่าเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ถอนรากถอนโคนพรรคเพื่อไทยและเครือข่าย "ทักษิณ" นักโทษหลบหนีคดีเท่านั้น
วันนี้หรือภัยจะมาถึงตัว เลยหันมาเล่นบทกลางๆ ต่อยซ้ายที ขวาที ไม่ให้ถูกมองว่าเลือกข้างเกินไป
ขั้นตอนหลังจากนี้ ป.ป.ช. จะต้องส่งสำนวนต่อไปยังวุฒิสภา เข้าสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอน โดยให้นายสุเทพมาชี้แจงเพิ่มเติม ซึ่งการจะถอดถอนได้นั้นต้องใช้เสียง ส.ว. จำนวน 3 ใน 5 หรือประมาณ 90 เสียง เบื้องต้นวุฒิสภาระบุกรอบเวลาหลวมๆ ไว้ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม เป็นประเวลาประจวบเหมาะที่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ตกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ด้วยข้อหาขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองสมัยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อ 7 ปีก่อน แต่ถึงกระนั้นวุฒิสภาก็ยังรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาได้ไม่เป็นปัญหา
นั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่น่าจับตาคือการเดินเกมลึกลับในสภาสูงหลังจากนี้ ?? เพราะเมื่อประธานวุฒิคนเก่าต้องหลุดเก้าอี้ไป ย่อมต้องมีการสรรหาคนใหม่เข้ามาแทน ซึ่งวางกำหนดไว้ในวันที่ 10 สิงหาคม เวลาไม่หนีห่างจากการถอดถอน "เทพเทือก" เท่าไรนัก ฉะนั้นในทางการเมืองหลายคนมองตรงกันว่า 2 เรื่องนี้ มันจะต้องมาพันกัน อย่างมีนัยยะสำคัญแน่นอน !!
ไม่ทันไรในสภาสูงก็เริ่มวิ่งล็อบบี้กันวุ่นวาย ผลักดันคนในกลุ่มตัวเองขึ้นเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ ซึ่งก็พอเปิดชื่อชิมลางกันมาบ้างแล้ว เช่น พิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เหล่านี้เป็นส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.แต่งตั้ง ทั้งหมด
โดยมีชื่อ ส.ว.เลือกตั้ง เพียงหนึ่งเดียวคือ นิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา รองประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน ซึ่งครั้งที่แล้วก็ลงชิงชัยแต่แพ้ พล.อ.ธีรเดช ส.ว.สรรหา ที่เพิ่งตกเก้าอี้ไป เป็นตัวเก็งเต็งหาม
เพราะดูเหมือนว่าส.ว.เลือกตั้งจะไม่มีรายชื่ออื่นใดอีก รายของ ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ก็ออกตัวแล้วว่าจะเปิดทางให้ "นิคม"
หลายคนมองถึงความเหมาะสมว่าที่ผ่านมา ส.ว. แต่งตั้งนั่งประธานไปแล้ว 2 คน ทั้ง ประสพสุข บุญเดช พล.อ.ธีรเดช มีเพียร น่าจะถึงเวลาของ ส.ว.เลือกตั้ง บ้าง แต่ไม่รู้ทำไมเลือกทีไรเสร็จ ส.ว.แต่งตั้ง ทุกที อาจเป็นเพราะกลเกมล็อบบี้สู้กันไม่ได้ ส.ว.เลือกตั้ง อยู่แบบตัวใครตัวมันมากกว่า ไม่เหมือนกับ ส.ว.แต่งตั้ง ที่มีกลุ่มก๊วน เช่นกลุ่ม 40 ส.ว. นั่นไง
กระนั้นก็เชื่อว่าในยกแรกจะมีการล็อบบี้จนเหลือตัวเลือกเพียง 2-3 ราย แล้วค่อยชิงดำกันรอบสุดท้าย แต่คราวนี้เชื่อว่าจะมีการเมืองจากภายนอก จากสภาล่าง เข้ามาทุ่มปัจจัยสนับสนุนกันแบบหูตาเหลือก
โดยเฉพาะเครือข่ายพรรคเพื่อไทย และ นายใหญ่หลบหนีคดีที่งานนี้มีเดิมพันถอดถอน "เทพเทือก" เป็นเงื่อนไขพ่วงอยู่ด้วย
นายใหญ่ ณ ต่างแดน พร้อมพลพรรคแดงเผาเมือง คงต้องควักกระเป๋าจัดหนักล็อบบี้ ส.ว. ให้ได้เป็นกอบเป็นกำ แนวโน้มก็น่าจะเทไปให้กลุ่มของ ส.ว.เลือกตั้ง ที่มี "นิคม" เป็นหัวหอก แต่ถึงกระนั้นก็ต้องจับทิศทางของ ส.ว. กลุ่มต่างๆ เช่นเดียวกัน หากส่วนใหญ่ไม่เอา "นิคม" แล้ว ก็เป็นงานยาก
เกมล็อบบี้ในสภาสูงที่ผ่านมาๆ ก็พิสูจน์มาแล้วว่าเครือข่ายนายใหญ่เข้าไปครอบงำไม่ได้ง่ายๆ
ฉะนั้นงวดนี้นายใหญ่คงไม่ยี่หระว่าแกนนำถอดถอน "เทพเทือก" จะเป็น ส.ว.เลือกตั้ง หรือลากตั้ง เอาให้ได้ 3 ใน 5 ก็พอ เป้าหมายหลักคืออัปเปหิศัตรูการเมืองตัวฉกาจ อริหมายเลข 1 ของคนเสื้อแดง ให้พ้นจากสนามการเมืองไป
เพราะในวัย 64 "เทพเทือก" โดนตัดสิทธิไปอีก 5 ปี คงเซ็งบรม รอไม่ไหวที่จะกลับมาหวนสู่การเมืองอีกรอบ ถึงชั่วโมงนั้นก็ย่าง 70 กลับบ้านไปเคี้ยวน้ำหมากเลี้ยงหลานแล้ว จึงเป็นเดิมพันสำคัญของนายใหญ่ และคนเสื้อแดงเช่นกัน แน่นอนว่าต้องสาดกระสุน เป็นตัวเลขเจ็ดหลัก แปดหลักต่อคน พร้อมด้วยการสนับสนุนให้หัวเรือใหญ่เดินเกมนี้เป็นประธานวุฒิสภาคนต่อไป แลกกับเงื่อนไขตัดอนาคตการเมือง "เทพเทือก"
จะว่าไปมันก็เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะขจัดศัตรูตัวฉกาจแล้ว ยังได้เสียง ส.ว. ส่วนใหญ่มาไว้ในมือ ใช้สอยในโอกาสถัดๆ ไป ฉะนั้นปัจจัยกระสุนดินดำจะหลั่งไหลเข้าสภาสูง รับทรัพย์กันจุกแน่ !!
ไม่สนแล้ว ส.ว.เลือกตั้ง หรือลากตั้ง แค่บรรลุเงื่อนไขเป็นพอ ที่ผ่านมาไปยึดติดกับ ส.ว.เลือกตั้ง มากเกินไป ปรากฎว่า ส.ว.เลือกตั้ง หลายคนเขาก็ไม่เอาด้วยกับเครือข่ายแดงเผาเมืองเหมือนกัน สำคัญตัวผิดว่าฝ่ายที่เลือกตั้งเขาจะเอาตัวเองตลอด..พุดโธ่
สุดท้ายก็หนีไม่พ้นวิธีการใช้เงินแบบเดิมๆ เป็นวิธีการสามานย์ที่ถนัดสุด ไม่ต้องใช้สมองอะไรมาก เวรกรรมโดยแท้ ซึ่งก็น่าอนาถใจที่สภาสูงก็เปรอะเลอะเทอะไปกับเรื่องเหล่านี้ การล็อบบี้มีให้เห็นตลอดไม่ว่าจะเลือกตั้งประธาน รองประธาน กลายเป็นข่าวคราวที่เห็นกันจนเอือมระอา
จะเลือกตั้งกันมา หรือลากตั้งกันมา สุดท้ายก็หนีไม่พ้นวังวนเกมล็อบบี้ มีเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่ประชาชนพึ่งหวังได้ เป็นไม้ใหญ่ไม่ไหวเอน แต่ส่วนใหญ่ล้วนกลืนไปกับวัฒนธรรมการเมือง วงจรอุบาทว์ ที่ถูกพรรคการเมืองบางพรรคสร้างขึ้น วัฒนธรรมเงินนำหน้าการเมือง..