มติชน 13 กรกฎาคม 2555 >>>
ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ?
มีประเด็นที่พรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 3 ยื่นคำร้องคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อกฎหมายในประเด็นที่ 3 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 68 ได้หรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรค 1 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้และวรรค 2 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่บุคคหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรค 1 ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิ แก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรค 1 ที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และประการที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรค 2 เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด เพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ เมื่อผู้ร้องได้เสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วชอบที่จะใช้สิทธิ
ประการที่ 2 ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลเห็นว่า การแปลความดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ ในมาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆที่ทำไปเพื่ออำนาจในการปกครองของประเทศ โดยวิธีที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นไปตามการใช้สิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางซึ่งบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องกำลังดำเนินการอยู่ และยังไม่บังเกิดผล
ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะยังมีคำวินิจฉัย สั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้ หาไม่แล้ว คำวินิจฉัย รธน. ตามมาตรา 68 วรรค 2 ก็จะเป็นการพ้นวิสัย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ทั้งสิทธิพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นี้ มีหลักการมุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นจะอันตรายต่อระบบการปกครองและเป็นล้มล้าง รธน. ให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยแก้ไขให้กลับคืนดีได้ เช่นนี้แล้ว ประชาชนผู้ทราบเหตุตามาตรา 68 วรรค 2 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิของตนต่อต้านการกระทำนั้นโดยสันติวิธี มิได้มุ่งหมายการลงโทษทางอาญาหรือการลงโทษตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเพิกถอนการกระทำที่มิชอบ ตาม ม.68 วรรค 1 เสียก่อน ที่การกระทำนั้นจะบังเกิดผล
การมีอยู่ของมาตรา 68 และมาตรา 69 นี้ จึงเป็นไปเพื่อรักษาหรือคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเองตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองหรือกำหนดกรอบไว้ ให้เป็นเจตนารมณ์หลักทางการเมืองหรือชาติ คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และป้องกันการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีทางซึ่งเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ความมุ่งหมายในรัฐธรรมนูญประการนี้ต่างหากที่ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรธน.ที่จะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่าง รธน. ซึ่งแม้ถึงจะเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาเจตนารมณ์ของ รธน. ได้ แต่ความเห็นของผู้ร่าง รธน. คนใดคนหนึ่งก็มิใช่เจตนาปกครองตามรธน.
แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายงานของสภาร่าง รธน. ทั้งการร่าง รธน. แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ยังพิจารณาได้ว่า สาระสำคัญของการอภิปรายนั้น มีเจตนาร่วมกันอยู่ที่การจะให้ประชาชนสามารถร่วมกันใช้สิทธิพิทักษ์ รธน.ผ่านกลไกของศาลรธน. ตามมาตรานี่เป็นสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของตัวบุคคล ผู้ที่มีสิทธิเสนอคำร้องการตีความเกี่ยวกับผู้มีสิทธิเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงควรต้องตีความไปในแนวทางของการยอมรับสิทธิมิใช่จำกัดสิทธิ ที่อาจมีปัญหาตามาตรา 68 วรรค 1 เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้สมเจตนาของบทบัญญัติดังกล่าว โดยมีอัยการตรวจสอบข้อเท้จจริง ตาม ม.68 วรรค 2 แล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งใดจากอัยการสูงสุด หากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระ 3 รับไปแล้ว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องให้ศาล รธน. วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยมิชอบตามมาตรา 68 วรรค 1 ของการกระทำนั้น ก็จะไม่สามารถบังคับคำวินิจฉัยทางใดได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจากการะทำดังกล่าวได้ ศาล รธน. จึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตาม รธน. มาตรา 68 วรรค 2
ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
ประเด็นพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 จะนำไปสู่การไก้ไขบทบัญญัติของ รธน. ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ ได้หรือไม่นั้นเห็นว่า
อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจในสถาปนารธน. เป็นอำนาจการก่อตั้งองค์กรทั้งหลาย และถือว่ามีอำนาจเหนือ รธน. ที่ก่อตั้งระบบบทกฎหมาย และก่อตั้งองค์กรทั้งหลายในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เป็นอำนาจสูงสุด อันเป็นที่มาในการให้กำเนิดรัฐรรมนูญ เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมอบจาก รธน. เองกลับไปแก้ไขรธน.นั้นเหมือนการใช้อำนาจแก้ไข รธน. ธรรมดา
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของ รธน. ที่จะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไข เปลี่ยนแปลง รธน. ไว้เป็นวิธีพิเศษ แตกต่างจากกระบวนการกฎหมายทั่วไป
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชานผู้มีอำนาจสถาปนารธน.ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรธน.ฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภา จะใช้อำนาจในการแก้รธน.เป็นรายมาตราจะเป็นความเหมาะสมทางอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าสนี้ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนาของ รธน. มาตรา 291
ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้าง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตาม รธน. นี้ หรือเพื่อให้ได้มาในอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติ รธน. นี้ ตาม รธน. มาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขรธน.มาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีแก้ไขรธน.เพิ่มขึ้นเป็นรายมาตรา เพื่อปฏิรูปการเมืองและปรับปรุงโครงสร้างการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอำนาจที่รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเองหรือจากข้อเท็จจริงที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน
ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ. ... จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 อันถือได้ว่ามีที่มาจากรธน.ฉบับปัจจุบัน
หากพิจารณา รธน. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ. ... การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตราที่ 291 เพื่อให้มีสภาร่าง รธน. มาจัดทำร่างแก้ รธน. ฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างแก้ รธน. ฉบับใหม่ ดังนั้น ดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 จะเห็นได้ว่า กระบวนดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ว่า เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างอีกทั้งขึ้นตอนการจัดตั้งสภาร่าง รธน. ก็ยังไม่เป็นรูปร่าง
การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของ รธน. มาตรา 291 (1) วรรค 2 ซึ่งเป็นข้อแก้ไขเพิ่มเติม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในการแก้ไขว่า ญัตติขอแก้ไข รธน. เพิ่มเติม ที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้ ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่าง รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่ ... พ.ศ. ... ให้เหตุผลว่า จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และบทบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังบัญญัติคุ้มกันรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบที่สำคัญแห่งรัฐว่า ร่างรธน.ที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ และหากร่างรธน.มีลักษณะตามวรรค 5 ดังกล่าวให้ร่าง รธน. ตกไป ตามมาตรา 291 (11) วรรค 6
อย่างไรก็ตาม หากสภาร่าง รธน. ในร่าง รธน. ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรนัฐหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและสภาฯ ก็มีอำนาจยับยั้งร่างรธน.นั้นเป็นอันตกไปได้
รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตาม รธน. นี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงทุกเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบ ตามที่ ม.68 ยังมีผลบังคับใช้
ประการสำคัญเมื่อพิจารณาคำชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงไต่สวนข้อเท็จจริง จากฝ่ายผู้ถูกร้องอาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา ผู้แทนคณะรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา และนายภราดร ปริศนานันทกุล ล้วนต่างเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการ เพื่อให้มีการจัดทำ จัดการร่าง รธน. ฉบับใหม่ว่า มิได้มีเจตนารมณ์เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ และผู้ถูกร้องทั้งหมด ยังแสดงถึงการตั้งมั่นว่า จะดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เช่นเดิม
พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า ข้ออ้างของผู้ร้อง ทั้ง 5 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิฉัยได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้ออ้างทั้งหมดจึงยังคงเป็นเพียงการคาดการณ์ เป็นความห่วงใยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังห่างไกลต่อเหตุที่จะเกิดขึ้นตามที่กล่าวอ้าง
ข้อเท็จจริงจึงไม่ฟังว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้แต่อย่างใด
ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่ได้ว่า มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเป็นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ใน รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 68 วรรค 1 ศาลจึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้
เมื่อวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ 4 อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง