"จรัญ" ระบุคำวินิจฉัยแก้ รธน. ไม่ถูกตาม ม.291 เนื่องจากสภาต้องเป็นผู้แก้รัฐธรรมนูญด้วยตนเอง ชี้การทำประชามติเป็นกระบวนการยากมาก
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยคดีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐสภาจะสามารถลงมติในวาระที่ 3 ต่อได้หรือไม่ว่า เท่าที่ฟังคำวินิจฉัยศาลไม่ได้ห้ามไม่ให้กระทำ แต่คำวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 บอกชัดแล้วว่าการกระทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากรัฐสภาต้องเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง จะมอบให้องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐสภา เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับหรือยกเลิกไม่ได้ เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การจะทำโดยสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาก็ต้องถามประชาชน เพื่อให้ได้รับฉันทานุมัติของประชาชนก่อน ดังนั้นถ้าทำไปหากฟังให้ดีในคำวินิจฉัยในประเด็นที่ 3 ที่ว่าฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรค หนึ่งหรือยัง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกระทำดังกล่าวยังห่างไกล เพราะกระบวนการยังไม่เข้าสู่ที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง
นายจรัญ กล่าวอีกว่า ส่วนการทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญอำนาจเป็นของประชาชนถือเป็นทางออกที่ดี แต่จะทำให้กระบวนการยากมาก การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ละประเด็นแต่ละมาตราต้องขอประชามติจากประชาชนทุกครั้ง กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมก็ยากเกินไป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงวางขั้นตอนหลักเกณฑ์วิธีการเอาไว้ในมาตรา 291 ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นไหนไม่จำเป็นต้องไปขอประชามติ แต่แนวคำพูดในคำวินิจฉัยที่ได้ฟัง มีคำว่าแต่ถ้าการจะสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้
"ทำไมไม่เลือกออกมาว่าประเด็นไหนใน รธน.ปัจจุบันมันไม่ดี มันทำให้เกิดความเสียหายของประเทศหรือส่วนรวมก็แก้ไขเพิ่มเติมเป็นประเด็นๆไป ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐสภา จากนี้ทำอย่างไรก็ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อะไรที่รัฐธรรมนูญให้ทำได้ก็ทำอะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่าทำ แล้วทำก็จงทำไปในทิศทางที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติกับประชาชนไม่ใช่ทำเพียง เพราะว่าเราต้องการจะทำ" นายจรัญ กล่าว
เมื่อถามว่า หลายฝ่ายกังวลว่าคำวินิจฉัยและการฟ้องร้องครั้งนี้ จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยที่อำนาจของศาลเข้าไปดูแลหรือพิจารณาหลายๆ เรื่องของหลายองค์กรมองอย่างไร นายจรัญ กล่าวว่าไม่เป็นอย่างนั้น เพราะไม่ใช่อำนาจศาล แต่เป็นอำนาจของรัฐธรรมนูญที่ศาลไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือเลย ถ้าไม่อยากให้ศาลมีอำนาจนี้ก็แก้ไขในมาตรา 68 ให้ชัดเจนในอย่างที่อยากจะให้เป็นคือ ให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด โดยประชาชนที่ทราบเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วให้อัยการสูงสุดมีดุลยพินิจจะยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งหากเขียนอย่างนี้ ศาลจะเข้าไปไม่ได้ จะรับคำร้องโดยตรงของประชาชนก็ไม่ได้ แต่นี่รัฐธรรมนูญเขียนว่าให้ประชาชนที่ทราบเรื่องการที่จะกระทำการดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องศาลเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง แต่เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ถ้าไม่มีใครร้องต่อศาล ศาลจะหยิบคำร้องมาวินิจฉัยเองได้
เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยในครั้งนี้จะมีผลผูกพันกับคำร้องที่มีลักษณะเดียวกันหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า มีผลผูกพัน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันกับคดี แม้จะเป็นคนละคำร้อง และคนละเหตุการณ์ แต่ถ้าอยู่ในลักษณะเดียวกัน ก็ถือมีผลผูกพัน ถึงแม้ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญถูกฝ่ายการเมือง ทั้งในและนอกสภากดดันอย่างหนัก รู้สึกอย่างไร นายจรัญ กล่าวว่า เป็นปกติ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็เคยเผชิญเหตุเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นขอให้ศาลอย่าหวั่นไหวไปตามกระแสของฝ่ายตรงข้าม ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก อย่าไปรับสินบน ใบสั่งหรือรับใช้ใคร
เมื่อถามว่า หากรัฐสภา เดินหน้าลงมติในวาระ แล้วมีผลทำให้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68 และหากมีผู้ทราบการกระทำจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้หรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า "ผมไม่จำเป็นต้องให้ความเห็นในเรื่องนี้อีก เพราะมันชัดเจนในคำวินิจฉัยอยู่แล้ว หากดูดีๆก็จะเป็นคำวินิจฉัยกลายๆ ที่จะสามารถทำได้"
"รู้สึกเสียโอกาสที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงมติในคำร้องดังกล่าวนี้ เปรียบเสมือนนักฟุตบอลที่เล่นเกมอยู่สนาม แต่ถูกกรรมการให้ใบแดงและหมดสิทธิเล่นต่อ เพราะต้องเดินออกจากสนาม เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าไป และไม่เป็นจุดอ่อน เพราะการที่ตนไปแสดงความคิดเห็นล่วงหน้า ก็เปรียบเสมือนมีธงในการวินิจฉัยอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เหมาะที่จะร่วมในกระบวนการต่อไป" นายจรัญ กล่าว