ถกหลังบัลลังก์-ตุลาการถอนตัว

ข่าวสด 10 กรกฎาคม 2555 >>>


นายจรัญ ภักดีธนากุล ถอนตัวจากองค์คณะพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครอง
สืบเนื่องจากก่อนหน้าศาลรัฐธรรมนูญเปิดไต่สวน มีการนำคลิปเสียงนายจรัญ ตอกย้ำจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ นายจรัญ ยังเป็นอดีต ส.ส.ร. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีเสียงเรียกร้องให้ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลฯ ที่เคยแสดงความคิดเห็นในลักษณะเดียวกับนายจรัญ ถอนตัวด้วย
เช่นเดียวกับ นายนุรักษ์ มาประณีต และ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ที่เป็นอดีต ส.ส.ร. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสามคนได้เสนอขอถอนตัว แต่องค์คณะไม่ยินยอม มีความเห็นจากนักวิชาการในเรื่องดังกล่าว

เจริญ คัมภีรภาพ
นักกฎหมาย อดีตรองอธิการบดีศิลปากร

การถอนตัวเป็นการแสดงสปิริต การขอถอนตัวเพื่อบอกว่ามันมีปัญหาเรื่องความเป็นกลาง ถ้าฝืนพิจารณาจะทำให้ศาลขาดความเป็นอิสระ ถือเป็นสิ่งที่ดีเพื่อหยุดยั้งข้อกล่าวหาความไม่เป็นกลาง เพราะความเป็นกลางจะกระเทือนถึงความเป็นอิสระ และกระทบความสามารถศาล เป็นบันได 3 ขั้น
แต่เมื่อเสนอถอนตัวแล้วถอนไม่ได้เพราะที่ประชุมไม่ให้ถอน แสดงให้เห็นว่าเพราะเราไม่มีกฎ ดังนั้นการถอนตัวของตุลาการเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวหรือไม่ ถอนตัวกลางคันได้หรือไม่ได้ คำถามนี้ตอบไม่ได้
เพราะเราไม่มีกฎ คือไม่มี พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยังค้างอยู่ในสภา เมื่อมีการใช้ระเบียบจึงสุ่มเสี่ยงว่าระเบียบที่ศาลคิด ไม่ได้เป็นกฎหมายที่สภาเห็นชอบที่ถูกต้องตามหลักสากล
ประเด็นใหญ่ เมื่อไม่มีกฎจึงสุ่มเสี่ยงถ้าศาลจะใช้หลักทั่วไป อาจอนุมานได้ในเรื่องหลักความยุติธรรม แต่ก็ต้องใช้ด้วยเงื่อนไขที่จำกัดที่สุด หากไปใช้มุมกว้างต้องเป็น พ.ร.บ. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาเท่านั้น
จริงๆ ควรมีกฎหมายวิธีพิจารณาของศาลนานมาแล้ว อะไรที่เป็นข้อพิพาททางการเมืองต้องบัญญัติไว้
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะวินิจฉัยอะไรศาลต้องดูว่ามีอำนาจพิจารณาหรือไม่ ความเห็นของผมไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นข้อขัดแย้ง และศาลไม่ใช่องค์กรที่ปรึกษากฎหมายของใคร ศาลจะมีอำนาจเหนือบรรดาข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกลงกันไม่ได้
ศาลตัดสินบนพื้นฐานของคำร้องที่มาจากประชาชนยื่นร้อง แสดงว่าเอาคำร้องประชาชนมาหยุดยั้งการใช้อำนาจของรัฐสภา มันไม่ถูกต้อง
ที่สำคัญข้อพิพาทนี้เป็นข้อพิพาททางการเมือง ตุลาการฯตัดสินโดยไม่ได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างดีว่าเรื่องนั้นเป็นข้อขัดแย้งอะไร ถ้าเป็นข้อขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องเสี่ยงมากเพราะชี้ทางใดก็เสียต่อศาล
การทำหน้าที่ของศาลทางการเมืองต้องเป็นเรื่องที่คอขาดบาดตายจริงๆ ไม่เช่นนั้นศาลจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง

นันทวัฒน์ บรมานันท์
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บ.ก.เว็บไซต์ www.pub-law.net

กรณี อ.จรัญ องค์คณะให้ถอนตัวได้ แต่อีก 2-3 คนไม่ยอมให้ถอน เป็นผมจะดูว่าถ้าคุณมีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่าถ้ายอมให้ อ.จรัญ ถอนตัว ในฐานะเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ อีก 2 คน ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ เช่นกัน ก็ต้องยอมให้ถอนด้วย
วันนี้พอมีเสียงเรียกร้องส่งผลให้น้ำหนักในการวินิจฉัยไม่ชัดเจน สมมติหากวินิจฉัยทางลบก็จะมีข้อโต้แย้งได้ว่าตุลาการฯ 2-3 คน มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งดูไม่ดี ในส่วนของอ.วสันต์ ก็น่าจะยอมให้ถอนเพราะความเห็นชัดกว่าของ อ.จรัญ
แต่คงไปร้องเรียนอะไรไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลสูงและศาลเดียวด้วย ปกติการคัดค้านผู้พิพากษาในระบบราชการคัดค้านได้ตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หากคิดว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย
แต่หากคณะกรรมการไม่ยอมรับคำคัดค้านยังให้ทำหน้าที่ต่อ หมายความว่าคิดว่าจะทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง แต่สมมติทำหน้าที่ไม่เป็นกลางยังมีการทบทวนได้อีก คือไปที่ศาลปกครอง
แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเดียวเมื่อคัดค้านแล้วไม่ยอมให้คัดค้านมันจบตรงนี้ ซึ่งจะเป็นข้อครหา
การถอนตัวกลางคันทำได้แต่ไม่สง่า จริงๆ ควรทำตั้งแต่ต้น เพราะทุกคนรู้บทบาทตัวเอง ทุกคนที่เข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญก็เขียนมาตั้งนานแล้ว กรณี อ.จรัญ ออกมาพูดแสดงความเห็น ข่าวหรือเว็บไซต์ก็ลงมาตั้งนานแล้ว คุณวสันต์เองก็เหมือนกัน ต้องถอนตั้งแต่มีการยื่นเรื่อง ตุลาการฯ พิจารณาจะรับหรือไม่รับ
จริงๆ เรื่องนี้ผิดปกติตั้งแต่ต้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลฯ สิ่งที่เกิดขึ้น 2 วันที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วยรัฐธรรมนูญ
และจะเป็นอุทาหรณ์ต่อไปข้างหน้าว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่ควรเข้ามาดำรงตำแหน่ง ในวันข้างหน้าถ้า ส.ส.ร. เกิดขึ้นมา ต้องห้าม ส.ส.ร. เข้ายุ่งเกี่ยว รับตำแหน่ง อาจเป็น 10 ปี หรือ 15 ปี เพราะเข้ามาก็มีส่วนได้เสีย กรณีนี้ผมดู 2 จุด
1. ศาลฯ ไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา การรับไว้พิจารณาจึงเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ
2. เมื่อรับไว้แล้ว คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องพิจารณาตัวเองว่าร้ายแรงถึงขนาดตัวเองอยู่ในองค์คณะได้หรือไม่ได้ เช่น เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ เป็น ส.ส.ร. มาก่อน ต้องพิจารณาดูว่าการเป็น ส.ส.ร. มาก่อน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกรณีนี้หรือเปล่า
หลักง่ายๆ คือใช้หลักวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาเป็นเกณฑ์เทียบ ถ้าสิ่งที่เกี่ยวข้องร้ายแรงก็มีโอกาสทำให้คนที่มีอำนาจพิจารณาไม่เป็นกลางเท่าที่ควร มีผลกระทบต่อตัวคำวินิจฉัย
ร้ายแรงหรือไม่ต้องย้อนไปพิจารณาว่าในชั้นกรรมาธิการยกร่างฯ ตัวเองมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนต่อเรื่องที่ต้องวินิจฉัย หรือมาตราที่ต้องพิจารณา การเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ เป็น ส.ส.ร. ร้ายแรงหรือเปล่าต้องมีคำอธิบาย ไม่ใช่บอกว่าไม่เข้าข้อกำหนด ไม่เข้าหลักเกณฑ์ แล้วไม่ให้ถอนตัวซึ่งไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เราผ่านจุดนั้นมาแล้วก็เป็นธรรมดาที่สังคมตั้งข้อสงสัย แล้วจะถอนตัวภายหลังพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ก็ไม่สง่างาม

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติฯ ม.ธรรมศาสตร์

การถอนตัวหรือไม่ถอนตัวมันเลยขั้นตอนนี้มาแล้ว เพราะจริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยเรื่องนี้แต่ต้น การถอนตัวหรือเสนอถอนตัวตอนนี้ทำให้ดูตลก
ที่อ้างว่าถอนเพราะมีความเห็นไปแล้ว แล้วตอนพิจารณาลงมติรับวินิจฉัยร่วมลงมติรับไว้ทำไม ต้องถอนตัวตั้งแต่แรก
คุณสุพจน์ คุณนุรักษ์ เคยเป็น ส.ส.ร. ก็ไม่ควรพิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้วเพราะมีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อเขียนรัฐธรรมนูญแล้วมีคนเสนอให้แก้ เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นผู้มีผลกระทบโดยตรง
ที่จริงต้องพิจารณาว่ามีความชอบธรรม มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ตั้งแต่แรก แล้วค่อยมาพิจารณาว่ามีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่แล้วค่อยถอนตัว
การมาถอนตัว หรือเสนอถอนตัวตอนนี้ก็คงเป็นการแก้เกี้ยว เพื่อทำให้ตัวเองดูดีขึ้น เป็นที่ยอมรับในสังคม แสดงให้เห็นว่ามีอำนาจพิจารณาแต่ขณะเดียวกันก็มีจรรยาบรรณ เมื่อถูกโจมตีก็แสดงความรับผิดชอบ เป็นการหลอกประชาชน
หากจะถอนตัวจริงๆ ใครจะไปห้ามได้เพราะเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว หากถอนจริงๆ ไม่ยอมร่วมพิจารณา ไม่เขียนคำพิพากษา และกฎหมายว่าด้วยข้อบังคับวิธีพิจารณาของศาลฯ ก็ยังไม่มี เท่ากับกฎหมายลูกขององค์กรยังไม่มี ยังค้างอยู่ในสภา แต่ไปหยิบกฎหมายอื่นมาพิจารณา
หากมีการถอนตัวทั้ง 4 คน ก็ไม่กระทบองค์คณะในการวินิจฉัย เพราะยังเหลือ 5 คน เกินครึ่งตัดสินได้ แต่คงกลัวว่าจะน่าเกลียดหากมติออกมา 2 ต่อ 3 เหมือนตอนตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมา 4 ต่อ 2 เสียง
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหลักคือชี้ว่ากฎหมายที่รัฐสภาออกขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่นี่พยายามหาอำนาจให้ตัวเองทั้งที่ ไม่ชัดเจน ก็นำมาตรา 68 มาบังคับใช้
มาตรา 68 ก็บอกว่ามีอำนาจสั่งบุคคล พรรคการเมือง แต่ที่เป็นอยู่คือสั่งไปที่รัฐสภาซึ่งไม่ใช่บุคคล แต่เป็นองค์กรของรัฐธรรมนูญ เห็นได้ชัดเจนพยายามเอากฎหมายมาใช้บิดกันไปมาเพื่อไปสู่จุดหมายตัวเอง
การไต่สวนที่เกิดขึ้นก็เป็นลิเก ข้อเท็จจริงชัดเจนว่ามีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมญ มีการประชุมรัฐสภาพิจารณากัน 2 วาระแล้ว รายละเอียดก็ชัดเจน แล้วจะสืบพยานเพื่อพิสูจน์อะไร