สงครามเอกสารเรื่อง “อภิสิทธิ์หนีทหาร ?” คงจบไม่ลงในสังคมแบ่งขั้ว ซึ่งฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็โทษว่าเล่นงานกันทางการเมือง ก็การเมืองสิครับ ถ้าเป็นนายสามัญไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ เรื่องคงไม่ยุ่งขนาดนี้หรอก เพียงแต่ไม่ใช่การเมืองสร้างเรื่องขึ้นใหม่ เป็นหนังเก่าอายุ 26 ปี กมล บันไดเพชร ตามล่าเรื่องนี้มา 16 ปี ผลการสอบสวนของจเรทหารบกก็ 13 ปีแล้ว ฉะนั้นอย่าปัดเป็น “การเมือง” ด้วยเรื่องตลกๆ เช่น นายทหารคนที่สอบเป็นเพื่อนจตุพร เพราะปี 42 จตุพรยังเป็นวุ้นอยู่ที่ไหนไม่รู้
อภิสิทธิ์ตอนที่ถูกหาว่า “หนีทหาร” ก็ยังไม่ได้เล่นการเมือง แต่ไม่ใช่นายสามัญ เพราะเป็นลูกอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข คุณหมออรรถสิทธิ์ คนดีที่สังคมยกย่อง
ในการโต้เถียงที่มีข้อมูลเยอะจนมึน ฟังได้ว่า อภิสิทธิ์เรียนจบจากอังกฤษอายุ 23 ปี ไปแจ้งลงบัญชีทหารกองเกินกับสัสดีเขตพระโขนงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ได้รับใบ สด.9 ให้ไปรับหมายเรียกเดือนมกราคม 2530
ระหว่างนั้นอภิสิทธิ์ก็ไปเดินเรื่องขอเป็นอาจารย์ จปร. จนมีหนังสือกรมกำลังพลทหารบก ลงวันที่ 24 กันยายน 2529 ส่งถึง จปร. เสนอให้บรรจุอภิสิทธิ์เป็นอาจารย์ โดยจะสนับสนุนงบประมาณให้ จปร.ก็ตอบรับ (นี่เป็นกระบวนการสามัญหรือเปล่าไม่ทราบ)
อภิสิทธิ์ไปสมัครเดือนมกราคม 2530 จปร. ทำหนังสือขออนุมัติขึ้นไปตามขั้นตอน แต่วันที่ 31 มีนาคม 2530 รองเจ้ากรมสารบรรณท้วงติงว่า “ขาดหลักฐาน หนังสือผ่อนผันการเกณฑ์ฯ”
อภิสิทธิ์เขียนชี้แจงว่า “หนังสือผ่อนผันการเกณฑ์ฯ ได้ประสานในเรื่องนี้กับ ก.พ.ทบ. แล้ว” จปร. ส่งเรื่องกลับไปใหม่ โดยยังไม่มีหนังสือผ่อนผัน แต่คราวนี้ไม่มีใครทักท้วง เรื่องผ่านกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด จนไปถึงสำนักงานปลัดกระทรวง จึงมีหนังสือสัสดีกรุงเทพฯ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2530 รับรองว่าอภิสิทธิ์ได้รับการผ่อนผัน รมว.กลาโหม จึงลงนามคำสั่งบรรจุอภิสิทธิ์เมื่อ 7 สิงหาคม 2530
แต่ที่เขตพระโขนง อภิสิทธิ์กลับมีชื่ออยู่ในบัญชีคนพ้นจากฐานะยกเว้นผ่อนผัน ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 แล้วถูกประทับตราไว้ว่า “ไม่เข้ารับการตรวจเลือก”
เจ้ากรมจเรทหารบกจึงสรุปว่า อภิสิทธิ์ “เป็นคนขาดการตรวจเลือกฯ ที่มีความผิด” ไม่มีหลักฐานทางทหารเพื่อประกอบการบรรจุ ถ้าจะเป็นอาจารย์ต้องถูกส่งตัวดำเนินคดีและเป็นไอ้เณรให้ครบกำหนดก่อน
ประเด็นที่อภิสิทธิ์โต้แย้งผ่านวอลล์เปเปอร์คือ
1. ผลสอบของจเรฯ ไม่กล่าวถึงหนังสือรับรองของสัสดีกรุงเทพฯ
2. อภิสิทธิ์มีชื่อใน สด.20 ของเขตพระโขนง บัญชีนักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2529 เพื่อไปศึกษาที่สหราชอาณาจักร ระหว่างปี 2530-2532
ประเด็นแรก หนังสือรับรองไม่ใช่หนังสือผ่อนผัน ถ้า “หนีทหาร” จริง หนังสือรับรองก็ไม่มีความหมาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ สด.20 มากกว่า ถ้าอภิสิทธิ์ได้รับการผ่อนผันแล้ว ทำไมสัสดีเขตพระโขนงจึงไม่คัดชื่อออกจากบัญชีผู้ที่ต้องมาจับใบดำใบแดง อภิสิทธิ์จะอ้างได้หรือไม่ว่าเป็นความผิดพลาดของสัสดี
กมล (ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า สด.20 ปลอม) ยังถามว่า อภิสิทธิ์ผ่อนผันได้อย่างไรในเมื่อเพิ่งจบ และไม่ได้ไปเรียนต่อจนปี 2532 ข้อนี้สื่อน่าไปถาม ก.พ. ถึงหลักเกณฑ์การผ่อนผันนักเรียนนอกว่า กรณีอย่างอภิสิทธิ์ผ่อนผันได้หรือไม่
เรื่องน่าเหนื่อยใจแทนอภิสิทธิ์ยังได้แก่ ยืนยันว่ามี สด.41 หนังสือผ่อนผันการเกณฑ์ แต่ไม่นำมาแสดง ทั้งที่แสดงเสียก็จบ (หรือในปี 30 ถ้ามี สด.41 ก็ไม่ต้องให้สัสดีกรุงเทพฯ ออกใบรับรอง)
นอกจากนี้ เมื่อยื่นคำขอเข้าเป็นทหารประจำการในปีต่อมา วันที่ 8 เมษายน 2531 (วันรุ่งขึ้นจากการจับใบดำใบแดงประจำปี 2531) อภิสิทธิ์ไปแจ้งว่า ทำ สด.9 หาย สัสดีเขตพระโขนงออกใบแทนให้ แทนที่จะเขียนว่าขึ้นบัญชีเมื่อ 4 กรกฎาคม 2529 สัสดีกลับเขียนว่า ขึ้นบัญชีวันที่ 8 เมษายน 2531 ซึ่งมีผลให้ข้ามไปจับใบดำใบแดงปี 2532 เป็นสาเหตุให้จเรฯ เสนอเอาผิดอาญาสัสดีรายนี้
อภิสิทธิ์อาจบอกว่า เป็นความผิดของสัสดี แต่ใบแทนนั้นก็เอื้อประโยชน์ให้อภิสิทธิ์ ทำให้ได้บรรจุเป็นว่าที่ร้อยตรีเมื่อ 26 เมษายน 2531 ไม่ต้องมาจับใบดำใบแดงอีก อภิสิทธิ์เข้าฝึกทหาร-ในฐานะว่าที่ร้อยตรี ไม่ใช่ไอ้เณร ติดยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2532 แล้วลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532
ข้อยุติเรื่องนี้ ถ้ากระทรวงกลาโหมมั่นใจหลักฐาน ก็ต้องถอดยศ เรียกคืนเงินเดือน (คดีอาญาหมดอายุความแล้ว) แล้วอภิสิทธิ์ก็ไปฟ้องศาลปกครอง ให้ศาลไต่สวนพยานหลักฐานจนกระจ่าง
เรื่องจะได้จบสักที ดีไหม อภิสิทธิ์