เนื้อหาในบันทึกรายการกระบวนพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ศาลอาญานัดสอบถามนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยที่ 2 ในคดีร่วมกันก่อการร้าย กรณีที่นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้มีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจตุพร กรณีปราศรัยกล่าวโจมตีพาดพิง ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้องขอให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ขัด มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องมาศาลพร้อมส่งวีซีดีบันทึกภาพและเสียงคำปราศรัยของนายจตุพร จำเลยที่ 2 โดยระบุว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2542 ม.4 (1) โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 นายจตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยที่ 2 และนายยศวริศ ชูกล่อม จำเลยที่ 7 หรือเจ๋ง ดอกจิก จำเลยคดีร่วมกันก่อการร้ายที่ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ได้ขึ้นปราศรัยหน้าอาคารรัฐสภาโดยมีลักษณะยั่วยุปลุกระดมผู้ชุมนุมให้คุกคามการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบ เพื่อทำลายล้างศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขศาลอย่างชัดเจนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพยำเกรงต่อสถาบันศาล จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันตัวจำเลยที่ 2
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยที่ 2 แถลงคัดค้านว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในคดีนี้ แต่หากจะอ้างว่ามีอำนาจตามมาตรา 4 (4) พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมอบอำนาจ ซึ่งในคดีนี้ปรากฏว่าประธานตุลาการศาลรัฐธรรมและตุลาการไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ร้อง และประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการไม่ใช่โจทก์ พยาน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ถอนการประกันตัว
โดยจำเลยที่ 2 ยืนยันว่า ไม่ได้ทำการยุยง ปลุกระดม หรือคุกคามศาลรัฐธรรมนูญ จำเลยที่ 2 เป็นนักการเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการคิดและแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่องค์กรตามอำนาจอธิปไตย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เป็นการทำลายล้างองค์กร และเมื่อมีการพิจารณาทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ
โดยศาลได้เปิดแผ่นวีซีดีที่ผู้ร้องนำส่งมาแล้วมีข้อความตรงกับคำถอดเทปที่จำเลยที่ 2 ส่งมา หลังจากที่จำเลยที่ 2 ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยแล้ว นายยศวริศ ชูกล่อม จำเลยที่ 7 ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อ โดยมีการระบุรายละเอียดชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คน พร้อมระบุว่า หากผู้ใดที่อยู่ใกล้เคียงให้ช่วยจัดการด้วย
ต่อมานายก่อแก้ว พิกุลทอง จำเลยที่ 5 ในคดีเดียวกันนี้ ได้แถลงข่าวทำนองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง ประชาชนพร้อมที่จะดำเนินการ หากตำรวจไม่จัดการตุลาการทั้ง 7 ท่าน ซึ่งหากประชาชนดำเนินการแล้วก่อให้เกิดการรัฐประหารของเจ้าหน้าที่ทหาร เราก็พร้อมจะสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถึงขั้นแตกหักก็อาจจะมีการเสียเลือดเสียเนื้อ แต่อ้างว่าไม่ได้เป็นการปลุกปั่นประชาชน
จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยเป็นนักการเมืองมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต ไม่ได้เป็นการคุกคามตุลาการ และไม่ได้มีการตระเตรียมการกับจำเลยอื่นว่าใครจะพูดเรื่องอะไร การกระทำของจำเลยที่ 7 ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตั้งใจทำผิดเงื่อนไขประกันตัว ขอศาลเมตตาให้โอกาสอีกครั้ง และขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวให้ชัดเจนเพื่อวางแนวทางในการปฏิบัติ
ศาลพิเคราะห์ คำแถลงของนายเชาวนะและนายจตุพร จำเลยที่ 2 แล้วเห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่ยังไม่ยุติ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏแก่ศาลอันจะแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า นายจตุพร จำเลยที่ 2 กระทำการอันเป็นการผิดเงื่อนไขของศาลที่กำหนดไว้ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้รอฟังคำแถลงสอบถามจำเลยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่ศาลได้นัดสอบถามจำเลยทุกคนไว้ จึงให้เลื่อนคดีออกไปนัดสอบถามจำเลยที่ 2 พร้อมกับจำเลยอื่นๆ ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 09.00 น. และจะมีคำสั่งพร้อมกับจำเลยอื่นในคราวเดียวกัน
แม้จำเลยที่ 2 จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการพูดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นหรือพูดอะไรที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของคนอื่น และไม่สมควรแสดงความคิดเห็นหรือพูดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขาดศีลธรรมอันดีของประชาชน
แม้จำเลยที่ 2 แถลงว่า หากจำเลยที่ 2 พูดปราศรัยไปถึงผู้ใด แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างจำเลยที่ 2 กับบุคคลนั้น และจำเลยที่ 2 อาจจะถูกผู้อื่นฟ้องร้องดำเนินคดีได้ แต่ศาลจะปล่อยให้จำเลยที่ 2 กระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นอีกต่อไปไม่ได้ เพราะถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น อันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงขอกำชับและตักเตือนจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งในการอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยห้ามจำเลยที่ 2 กระทำการใดๆ อันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย กระทบต่อความสงบเรียบร้อย
แม้จำเลยที่ 2 จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการพูดใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งจำเลยที่ 2 อาจจะขึ้นเวทีปราศรัยหรือแถลงข่าว หรือกระทำการใดๆ ได้ก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยที่ 2 ถูกดำเนินคดีนี้ล้วนแต่สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 2 ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีทางการเมืองทั้งสิ้น
ดังนั้น ศาลจึงขอกำชับและตักเตือนจำเลยที่ 2 ให้ระมัดระวังการกล่าวปราศรัยหรือการกล่าวแถลงข่าวใดๆ มากกว่านี้ โดยหากจำเลยจะกระทำการใดๆ ขอให้ตระหนักให้มากว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะส่งผลที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองและศาลอาจมีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และขอความร่วมมือให้จำเลยที่ 2 หรือกลุ่มของจำเลยที่ 2 ไม่ใช้เครื่องกระจายเสียงในที่สาธารณะบริเวณหน้าศาลเพราะเป็นการรบกวนบุคคลอื่น สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก