ผู้เขียนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรควบบริหารธุรกิจ (การจัดการแบบบูรณาการ) และวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตอนนี้มีคำถามในหมู่นักศึกษาที่สนใจกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยๆครับ
"ตอนจัดกิจกรรมฯ ไม่กลัวถูกมองเป็นเสื้อแดงเหรอพี่ ?"
นักศึกษาที่เข้ามาใหม่และสนใจทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองมักถามคำถามนี้ถึงรุ่นพี่ธรรมศาสตร์ที่ทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาอาจารย์ หรือคนทั่วไปที่พูดถึง "ประชาธิปไตยที่แท้จริง, ต้านรัฐประหาร, เสรีภาพในการแสดงความคิด, ความเท่าเทียมทางสังคม, ความเป็นสากลฯลฯ” ก็จะถูกมองเป็นเสื้อแดงทั้งสิ้น
หนักหน่อยก็ถูกกล่าวหาว่ารับเงินทักษิน ผมยังเคยได้รับmessageด่าว่ารับเงินมาโพสต์บน facebookเลยครับ (ฮา)
โดยส่วนตัวผมคิดว่าประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่า "เราจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกมองเป็นสีใดสีหนึ่ง"
ลำพังในปัจจุบันแม้เราจะไม่บอกว่าตัวเองเป็นสีอะไรสังคมก็จะป้ายสีให้คุณเองโดยอัตโนมัติไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนทำงานอะไรแสดงความคิดเห็นอย่างไร
แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือทำไมจึงเป็นคนกลุ่มนี้ที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องทางการเมืองบางอย่างในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เป็นคำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่าการถามหาความเป็นกลาง (ที่ในประเทศพัฒนาแล้วไม่เห็นจะถามหาเรื่องนี้กันเลย) เป็นไหนๆ
อย่างเหตุการณ์ในช่วงต้นปี เมื่อลูกชายคุณสมยศพฤกษาเกษมสุข ประกาศอดอาหารประท้วงที่หน้าศาลอาญารัชดาเพื่อเรียกร้อง "สิทธิการประกันตัว" ให้กับพ่อของตนเองที่โดนกล่าวหาด้วยมาตรา 112
จริงๆแล้วประเด็น "สิทธิการประกันตัว" เป็นสิทธิพื้นฐานที่นักกฎหมายทุกคนเข้าใจได้ครับ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริง ฉะนั้นในระหว่างพิสูจน์ผู้ถูกกล่าวหาควรมีเสรีภาพในการต่อสู้คดีเพื่อความเป็นธรรมของตนเอง
แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีร้ายแรงมากๆศาลสามารถสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวได้ แต่หากมองด้วยใจเป็นธรรมการเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่งไม่ควรจะกลายเป็นคดีร้ายแรงถึงห้ามประกันตัวแบบนี้
ทว่าด้วยลักษณะพิเศษในสังคมไทยของเราเหล่านักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบยุติธรรรมของเรากลับนิ่งดูดายเหลือเกินกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานดังกล่าว แต่เป็นคนเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจจัดหาตำรวจมาดูแลความปลอดภัยนำอาหารมาให้เพื่อนๆนักศึกษาและเพื่อนของคุณสมยศที่ผลัดเวียนเปลี่ยนกันมาดูแลตลอด 112 ชั่วโมง
เราจะอธิบายเรื่องนี้กันอย่างไรครับ ?
อันที่จริงผมก็อยากถามอาจารย์คณะนิติราษฎร์ในคำถามเดียวกัน เมื่ออาจารย์พูดในหลักกฎหมายมหาชนที่สอนที่เรียนกันแต่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาฟังสิ่งที่เขาพูดและนำไปขยายความต่อ
อาจารย์พูดถูกใจเสื้อแดงใช่มั้ย ? ใช่
แต่อาจารย์พูดเอาใจเสื้อแดงหรือเปล่า ? ไม่
อาจารย์ตั้งใจเปิดเวทีให้คนทุกสีสามารถเข้ามาฟังได้ใช่มั้ย ? ใช่
แล้วพวกเขามาหรือไม่ ? คำตอบคือไม่
บางคนอาจจะบอกว่าพวกเขาคิดเหมือนกันแต่เขาไม่กล้ามาเพราะมีแต่คนเสื้อแดงที่มาแย่งพื้นที่ในงานแบบนี้ไปหมด
แต่เป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นจริงๆเหรอครับ ? ที่เราจะสามารถยืนนิ่งดูดายกับความไม่เป็นธรรมบางอย่างในสังคมเพียงแค่ผู้ถูกกระทำเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เราไม่ได้มีจริตคิดอยากอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันนี้ มาตรฐานทางสังคมแบบนี้เหรอครับที่เราต้องการ
มาตรฐานแบบเดียวกันนี้หรือเปล่าที่สามารถทำให้คนโดนยิงตายเป็นผักเป็นปลากลางถนนได้เพียงแค่เขาไม่ได้มีอัตลักษณ์ทางการเมืองที่เราอยากเห็นเท่านั้น
สุดท้ายนี้แน่นอนว่าตราบใดที่ "ชัยชนะเด็ดขาดทางการเมือง" คือการทำให้คนคิดต่างได้เข้าใจและคิดเหมือนเรา
มันจะเป็นโจทย์ยากของนักกิจกรรมอยู่ต่อไปครับว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมสื่อไปถึงคนที่คิดต่างหรือคนที่ไม่คิดเลยเพื่อไม่ให้กิจกรรมของเราเป็นแบบ "ตกปลาในอ่าง" ที่ไม่ได้ให้อะไรเราเพิ่มขึ้นมาเลยนอกจากการสำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์ของพวกเราด้วยกัน
แต่คำถาม "ไม่กลัวถูกมองเป็นเสื้อแดง ?" เป็นคำถามที่ไม่ได้ตอบใครอื่นนอกจากตอบคำถามกับตัวเราเอง
ผมจึงขอตอบจากข้อสรุปส่วนตัวถึง "เพื่อนใหม่" นักศึกษารหัส 55 ทุกท่าน อย่าถามหาสังคมที่ดีกว่าสังคมที่มีความเท่าเทียมกว่าเดิมกันเลยครับ..หากเราคิดจะ "เลือกปฏิบัติ" กันตั้งแต่ต้น