'โจ กอร์ดอน' ได้รับการอภัยโทษแล้ว ปล่อยตัวจากเรือนจำคืนวานนี้

ประชาไท 11 กรกฎาคม 2555 >>>


นักโทษคดี ม.112 สัญชาติไทย-อเมริกัน 'โจ กอร์ดอน' ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว หลังจากถูกคุมขังมาแล้วกว่าหนึ่งปี โดยโฆษกสถานทูตสหรัฐระบุว่าได้จับตาและหารือกับทางการไทยอย่างสม่ำเสมอเรื่องมาตราฐานเสรีภาพในการแสดงออกสากล 
11 ก.ค. 55-สำนักข่าวเอพีรายงานโดยอ้างคำพูดของโฆษกของสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยว่า โจ กอร์ดอน ผู้ต้องขังคดี ม.112 สัญชาติไทย-อเมริกัน ได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว โดยเขาถูกปล่อยตัวคืนวันอังคารที่ผ่านมา (10 ก.ค.) ทั้งนี้ ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนสำหรับการอภัยโทษครั้งนี้ แต่โฆษกสถานทูตฯ กล่าวว่าทางการสหรัฐได้กระตุ้นทางการไทยอย่างสม่ำเสมอในเรื่องมาตรฐานเสรีภาพการแสดงออกตามหลักสากล
   "ทางเรายินดีมากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอภัยโทษให้แก่โจ กอร์ดอน ซึ่งทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ" วอลเตอร์ บราวน์โนเลอร์ ให้สัมภาษณ์กับเอพี "เราได้กระตุ้นเตือนไปยังทางการไทยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในทางส่วนตัวและทางสาธารณะ ทั้งในกรุงเทพฯ และกรุงวอชิงตัน ว่าให้พิทักษ์เสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีสากล"
เว็บไซต์เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ รายงานเรื่องนี้เช่นกัน โดยมองว่า การที่โจ กอร์ดอนได้รับอภัยโทษในช่วงนี้ อาจเป็นเพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยต้องไปพบปะกับนางฮิลลารี คลินตันในกัมพูชาสัปดาห์นี้ และต้องการหลีกเลี่ยงความสนใจที่อาจพุ่งเป้ามาที่กรณีของโจ กอร์ดอน รวมถึงกรณีผู้ต้องโทษประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจโดยรายงานข่าวกรณีดังกล่าวอย่างกว้างขวาง อาทิ หนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์, ฟอกซ์, วอยซ์ ออฟ อเมริกา, วอลล์สตรีท เจอร์นัล, นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐฯ บีบีซี ของอังกฤษ และดอยเชอร์ เวลเลอร์ของเยอรมนี 
อนึ่ง นายเลอพงษ์ มีสัญชาติไทย-อเมริกัน อายุ 54 ปี ได้ออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตอยู่ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา เกือบ 30 ปี มีความสามารถด้านศิลปะหลายอย่าง เช่น ถ่ายรูป วาดภาพ โดยเคยเปิดนิทรรศการภาพเขียนในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเชี่ยวชาญการเล่นกีตาร์อะคูสติก เคยร่วมแต่งเพลงกับนักดนตรีเพื่อชีวีตชื่อดังของไทยอย่าง หงา คาราวาน และร่วมเป็นทีมงานในการผลิตภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับชีวิตของชาวอีสานผู้ได้รับ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเรื่อง ทองปาน  ซึ่งมี ไพจง ไหลสกุล ,รัศมี เผ่าเหลืองทอง, ยุทธนา มุกดาสนิทและ สุรชัย จันทิมาทร เป็นผู้กำกับ โดยภาพยนต์เรื่องนี้ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2519
ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 54 ที่ จ.นครราชสีมา ตามหมายจับเลขที่ 318/2554 ออกเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 54 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ฯ และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกที่ชื่อว่า "บาทเดียว" และเป็นผู้ใช้นามแฝงว่า "สิน แซ่จิ้ว" โดยในบล็อกของเขาซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็น ภาษาไทย
สำหรับหนังสือ The King Never Smiles เป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขียนโดย Paul Handley นักข่าวอิสระซึ่งทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่เมื่อปี 2549 ปัจจุบันเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย
นับแต่ถูกจับกุมโจปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาโดยทันทีและถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร และทนายได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวโดยอ้างสิทธิพื้นฐาน และยังระบุว่าโจมีโรคความดันเลือดและโรคเกาต์ที่ต้องการการรักษา แต่ศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงและกระทบต่อ สถาบัน พระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง และเขาอาจทำลายพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
หลังจากพยายามขอประกันตัวต่อเนื่องเป็นจำนวน 8 ครั้ง ในวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันแรกของการนัดพิจารณาคดี โจตัดสินใจประกาศว่าเขาไม่ขอต่อสู้คดี ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ของจำเลยแล้วรายงานต่อ ศาลภายใน 20 วัน และกำหนดวันพิพากษาวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แต่ด้วยเหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทำให้วันพิพากษาถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 8 ธันวาคม 2554 นับแต่วันจับกุมจนถึงวันพิพากษา โจถูกควบคุมตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน กับอีก 16 วัน