ประวิตร โรจนพฤกษ์: สังคมที่ปราศจากฉันทามติทางระบอบการเมือง

ประชาไท 11 กรกฎาคม 2555 >>>


เมืองไทยปกครองด้วยระบอบการเมืองอะไร เป็นคำถามที่ดูง่ายและตอบได้ง่าย แต่แท้จริงมิได้ง่ายๆ ตรงไปตรงมาอย่างที่หลายคนคิด
คนไทยควรเลิกหลอกตนเองเสียทีว่าสังคมมีฉันทามติว่าบ้านนี้เมืองนี้ควรปกครองด้วยระบอบอะไร
บางคนต้องการการปกครองโดยชนชั้นนำ ‘ดีๆ’ ที่มีการศึกษา ไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่คนทั่วไปอีกจำนวนมากต้องการสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในการเลือกผู้แทนเข้าสภาเข้าไปเป็นรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะออกมาดีหรือไม่ก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2549 พอเกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญจึงมีคนจำนวนหนึ่งเอาดอกกุหลาบไปให้เผด็จการทหาร แต่พอรัฐสภาปัจจุบันต้องการแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พวกเขากลับรู้สึกไม่พอใจจะเป็นจะตายให้ได้
เรื่องจะแก้ไม่แก้รัฐธรรมนูญ แท้จริงแล้วก็เกี่ยวกับการเอาหรือไม่เอาทักษิณเสียมากกว่า การขาดซึ่งฉันทามติทางการเมืองนั้นแสดงตัวตนให้เห็นอย่างชัดเจนในอาการสวิงระหว่างการที่ไทยมีรัฐบาลเผด็จการทหาร (หรือรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้ง) สลับกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็เกิดรัฐประหารหรือการแทรกแซงอื่นๆ นอกระบบ
ชนชั้นนำและชั้นกลางที่มีการศึกษามากในระบบจำนวนมิน้อยมักยืนยันว่าการเลือกตั้งนั้นจะชอบธรรมต่อเมื่อพรรคการเมืองที่พวกตนเห็นว่าเป็นพรรคที่ ‘ดีซื่อสัตย์และเทิดทูนเจ้า’ ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น หากผลการเลือกตั้งไม่ได้ออกดั่งใจ การก่อรัฐประหารเพื่อขจัดนักการเมือง ‘เลวโกงกินและล้มเจ้า’ ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือแม้กระทั่งน่าชื่นชม
ในอีกด้าน ประชาชนคนธรรมดาอีกไม่รู้กี่ล้าน ต้องการให้ผู้อื่นเคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่ว่ารัฐบาลที่พวกเขาเลือกจะเป็นที่เกลียดชังของคนส่วนน้อยกลุ่มแรกมากเพียงใดก็ตาม จึงไม่แปลกที่ไทยมีรัฐบาลตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือการแทรกแซงอื่นๆ สลับกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ในประเด็นสำคัญอื่นๆ อย่างบทบาทและอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือที่ทางของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) สังคมไทยก็ไม่มีฉันทามติอย่างแท้จริงเช่นกัน
80 ปีที่แล้ว การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 และการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจากคนจำนวนหยิบมือโดยปราศจากฉันทามติจากคนส่วนใหญ่ในสังคมหรืออย่างน้อยก็ปราศจากการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ในสังคม วันนี้สังคมก็ยังปราศจากซึ่งฉันทามติเรื่องระบอบการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง
ผู้เขียนไม่ทราบว่าจะต้องมีสู้รบปรบมืออีกนานแค่ไหนกว่าสังคมไทยจะมีฉันทามติเรื่องระบอบการเมืองอันแท้จริง ซึ่งต่างจากประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น ที่เขาชัดเจนแล้วว่าสังคมเขาจะไม่ยอมรับรัฐประหารโดยเด็ดขาด
ในเมื่อยังไม่มีฉันทามติอย่างแท้จริง สังคมไทยก็คงยังอยู่ในวังวนของรัฐประหารการฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเผด็จการแต่งตั้ง สลับกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป