Facebook นพ.เหวง โตจิราการ 13 กรกฎาคม 2555 >>>
เมื่อวานนี้ นพ.เหวง ได้แสดงความคิดเห็นผ่านหน้า Facebook ส่วนตัวเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลรธน. โดยไม่เห็นด้วยในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา68วรรค2 ซึ่งเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ตลอดไป และ เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแสดงบทบัญญัติใดที่ระบุว่าการยกร่างใหม่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากนั้นชี้ว่าการตัดสินนั้นข้อหลักอยู่ที่การยกคำร้องของผู้ร้องทิ้งเท่านั้น ประเด็นอื่นถือเป็นข้อเสนอแนะที่รัฐสภาจะพิจารณาปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ และสามารถเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา291ให้ผ่านพ้นการพิจารณาวาระที่3ได้ทันที โดยเนื้อหาฉบับเต็มมีดังนี้
เพื่อนๆครับ คงได้ทราบคำวินิจฉัยของศาล รธน. กันทั่วแล้วนะครับ ผมมีความเห็นส่วนตัวบางประการที่จะแลกเปลี่ยนครับ
ไปดูประเด็นที่สาม "ศาลเห็นว่า จากคำร้องทั้ง๕ฉบับ ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอ ว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นแค่การคาดการณ์ เป็นแค่ความห่วงใย ยังห่างไกล ว่าเป็นการล้มล้าง" หรือกล่าวได้ว่า "คำร้องทั้ง 5 ฉบับไม่มีมูล"
ตามหลักนิติธรรมแล้ว เมื่อข้อกล่าวหาไม่มีมูล ศาล รธน. รับไว้ไม่ได้ครับ แล้วศาล รธน. รับคำร้องไว้ตั้งแต่ต้นทำไมครับ คล้ายกับข้อกล่าวหา "ฆ่าคนตาย" ต้องมี "ศพ" ครับไม่มี "ศพ" กล่าวหาเรื่อง "ฆ่าคนตาย" ไม่ได้ครับ ศาลก็รับไว้ไม่ได้ตั้งแต่ต้น คราวนี้ "ศพ" ก็คือ "การล้มล้าง รธน." ซึ่งไม่มี "การล้มล้าง รธน." หรือ "ไม่มีศพ" แล้วศาล รธน. รับคำร้องไว้ได้อย่างไร
ประเด็นแรกนี่ซิครับที่ เจ็บปวดอย่างยิ่ง แม้ผมเคารพคำวินิจฉัย แต่ผมไม่อาจเห็นพ้องได้ด้วยเป็นอันขาด ที่บอกว่า "ศาลมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 วรรค 2" นี่เท่ากับศาล รธน. มีอำนาจในการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติในการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ได้ตลอดไป ไม่ใช่แค่ในชั่วชีวิตของเราเท่านั้นนะครับ ยาวนานไปชั่วกัลปาวสานจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยใหม่มาลบล้างคำวินิจฉัยนี้ หรือจนกว่าจะมีรธน.ใหม่มายกเลิกคำวินิจฉัยนี้ นี่ละเมิดหลักการระบอบประชาธิปไตยขั้นมูลฐานอย่างร้ายแรง ทำให้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่แยกเป็นสามอำนาจต่างเป็นอิสระจากกันและกัน ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกันเสียหายไป ทำให้ศาล รธน. มีอำนาจแทรกแซงครอบงำบงการอำนาจนิติบัญญัติได้ ทั้งที่ศาล รธน. เป็นเพียงองค์กรเดียวของอำนาจตุลาการเท่านั้น
แล้วก็ยังไม่ชอบด้วยเนื้อความที่ระบุให้ยื่นต่ออสส.ก่อนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วค่อยยื่นต่อศาล รธน. หลักนิติธรรมก็ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อกล่าวหาได้ง่ายขึ้นคือ เพียงมีผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็กล่าวหากันได้แล้ว เมื่อกล่าวหาง่ายก็ต้องมีกระบวนการกลั่นกรองที่ละเอียดรอบคอบเข้มงวดกวดขันขึ้นดังนั้นต้องยื่นต่อ อสส. ก่อนเพื่อตรวจสอบเมื่อแน่ชัดมีมูลแล้วค่อยยื่นต่อศาล รธน. ต่อไปครับ ศาล รธน. วินิจฉัยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมซึ่งขัดต่อบทบัญญัติใน รธน. ครับ
ไปดูประเด็นที่สองครับ "การยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ศาลเห็นว่า แม้เป็นอำนาจของรัฐสภา (ศาล รธน. ยอมรับนะครับว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา)
แต่การแก้ไขยกร่างทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน. ไม่ได้หยิบยกมาตราใดบันทัดใดข้อความใดของรัฐธรรมนูญ 50 ที่ชี้ชัดว่า การยกร่างใหม่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 ครับ ผมเองพยายามค้นหามานานแล้วตั้งแต่มีประเด็นแต่ก็ไม่พบครับ ศาลรธน.คิดเอาเองหรือเปล่า)
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มาโดยการลงประชามติ(ศาล รธน. ไม่ได้จำแนกประชามติภายใต้ระบอบเผด็จการ คมช. ภายใต้กระบอกปืนของทหารที่บุกไปข่มขู่ประชาชนทุกหมู่บ้านหรือชุมชนในเมือง ไม่ได้คำนึงว่ามีการประกาศกฏอัยการศึกซึ่งก็คือปกครองโดยอำนาจทหารหลายสิบจังหวัด และก็ยังมีการข่มขู่ว่าถ้าไม่รับ คมช. จะเอา รธน. ฉบับไหนก็ได้ที่ คมช. เห็นดีด้วยมาบังคับใช้เลย ประชามติภายใต้ระบอบทรราชย์ไม่อาจจะถือว่าเป็นประชามติของระบอบประชาธิปไตยได้ครับ) ควรลงประชามติว่า ควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
ศาล รธน. ใช้คำว่าควร แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามศาล รธน. จะลงดาบเราหรือไม่ครับ แล้วศาล รธน. บอกตอนต้นว่าการยกเลิกของเก่าแล้วยกร่างใหม่เป็นอำนาจของรัฐสภาดังกล่าว แล้วเราเดินหน้าต่อตามอำนาจที่ศาล รธน. ระบุว่าเป็นของรัฐสภา ศาล รธน. จะลงดาบหรือไม่
แล้วที่สรุปขมวดปมตอนจบ ศาล รธน. กล่าวว่ายกคำร้องทั้ง 5 สำนวน ทางกฏหมายต้องถือว่าคำสรุปขมวดปมท้ายสุดเป็นคำตัดสินสุดท้าย ดังนั้นสำหรับผมแล้วศาล รธน. ถือว่า "คำร้องทั้งห้าสำนวนถูกยกทิ้งไปแล้วครับ" อย่างอื่นเป็นความคิดเห็นข้อเสนอแนะของศาล รธน. เท่านั้น พวกเราสามารถที่จะเดินหน้าต่อวาระสามได้ครับ แต่หลังจากวาระสามแล้วจะต้องทำประชามติหรือเปล่าคงต้องช่วยกันคิดอีกที แต่ที่เสียหายไปแล้วก็คือ ศาล รธน. ได้วินิจฉัยถือเอาอำนาจเข้ามาแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติไปเรียบร้อยแล้วตามประเด็นแรกดังกล่าว