เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยมีมติให้ยกคำร้องเพราะไม่พบข้อเท็จจริงที่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การแก้ไขทั้งฉบับควรทำประชามติก่อน หรือให้รัฐสภาแก้เป็นรายมาตรา พร้อมเปิดช่องให้ยื่นร้องต่อศาลใหม่ได้อีกหากเห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง
ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับไว้พิจารณาตามมาตรา 68 หรือไม่
มีประเด็นที่พรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้
และวรรคสองบัญญัติว่าในกรณีที่บุคคลหรือพรรคใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการ กระทำดังกล่าว
แต่ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่จะให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบการ กระทำ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เพื่อให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้
โดยให้มีสิทธิ 2 ประการคือ ประการที่ 1 เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และประการที่ 2 ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจในการตรวจสอบและวินิจฉัยดังกล่าวตามที่ผู้ร้องใช้สิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
อัยการสูงสุดมีเพียงตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีสิทธิตัดผู้ร้องที่ต้องการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง เมื่อผู้ร้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว ชอบที่จะใช้สิทธิตามประการที่ 2 คือยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ในมาตรา 68 และเป็นไปเพื่อการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้นั้น การ กระทำดังกล่าวจะต้องดำเนินการอยู่ และยังไม่เกิดผล
ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัย สั่งให้เลิกการ กระทำนั้นได้ หาไม่แล้วคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรคสอง จะเป็นการพ้นวิสัยที่จะใช้บังคับได้
สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 มีหลักการสำคัญ มุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ ให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง
โดยสภาพจึงเป็นมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ ที่จะเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองและการล้มล้างไม่ให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขกลับคืนดีได้
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิของตนต่อต้านการกระทำนั้นโดยสันติวิธี เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรานี้มิได้มุ่งหมายเพื่อลงโทษทางอาญา หรือการลงโทษทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังหมายถึงยังสั่งให้เพิกถอนตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งก่อนการกระทำนั้นจะเกิดผล
การมีอยู่ของมาตรา 68 และ 69 ของรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นไปเพื่อรักษาและคุ้มครองรัฐธรรมนูญเอง ตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและกำหนดกรอบไว้ให้เป็นเจตนารมณ์หลักทางการเมืองของชาติคือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และป้องกันการกระทำซึ่งเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญประการนี้ต่างหากที่ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญที่ต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะถือเป็นเครื่องมือค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญได้ แต่ความเห็นของผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่ง มิใช่เจตนา รมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งหมด
จากรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังพิจารณาได้ว่า สาระสำคัญของการอภิปรายนั้นมีเจตนาร่วมกันอยู่ที่การให้ประชาชนใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าตัวบุคคล
ผู้มีสิทธิเสนอคำร้อง การตีความของผู้มีสิทธิเสนอคำร้อง ต้องตีความไปในแนวทางยอมรับสิทธิ ไม่ใช่จำกัดสิทธิ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการกระทำที่อาจมีปัญหาตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้
กรณีอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 วรรคสองแล้วแต่ยังไม่มีคำสั่งประการใดจากอัยการสูงสุด หากปล่อยให้ลงมติในวาระ 3 ลุล่วงไปแล้ว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นเป็นไปมิชอบด้วยมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ให้เลิกการกระทำนั้น จะไม่สามารถบังคับตามคำวินิจฉัยในทางได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวได้
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามมาตรา 68 วรรคสอง
ประเด็นที่ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ หรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าอำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจก่อตั้งองค์กรทั้งหลาย และถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมาย และก่อตั้งองค์กรทั้งหลายที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจที่ให้ไว้ตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย มี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย ยึดหลักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงกำหนดวิธีการและเงื่อนไขแตกต่างไปจากการแก้ไขกฎหมายทั่วไป
การตรารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ผ่านการลงประชามติของผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือการแสดงความเห็นจากประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้
การแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มาตรา 291
ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 หรือไม่
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อให้มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตรา เพื่อปฏิรูปการเมือง และปรับปรุงโครงสร้างการเมืองขึ้นใหม่ เพื่อให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้
เพื่อเป็นช่องทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมือง และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... จึงมีผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีกระบวนการจัดทำและเสนอเป็นวาระการพิจารณาในรัฐสภา ผ่านความเห็นชอบวาระ 2 และเตรียมเสนอพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 3
จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงว่า มีการล้มล้างการปกครองตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยังไม่มีการจัดตั้งขึ้น
การกล่าวของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และมาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลให้เปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเปลี่ยนรูปของรัฐจะเสนอไม่ได้
หากร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ ประธานสภามีอำนาจยับยั้งให้ร่างนั้นตกไปได้
รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่ามีการกระทำเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงทุกเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบ ตามที่มาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และนายภราดร ปริศนานันทกุล ซึ่งเป็นฝ่ายผู้ถูกร้อง ที่ล้วนเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครอง
โดยผู้ถูกร้องแสดงถึงเจตคติที่จะธำรงคงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีการล้มล้างการปกครอง ข้ออ้างทั้งหมดของผู้ร้องจึงเป็นเพียงการคาดการณ์ และความห่วงใยในสถาบัน ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอรับฟังว่า มีเจตนาล้มล้างการปกครอง
จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องในส่วนนี้ และเมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นที่ 4 จะมีผลถึงการยุบพรรคหรือไม่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคหรือไม่
ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5