เปิดสภา...ระเบิดศึกรอบใหม่

โพสท์ทูเดย์ 30 กรกฎาคม 2555 >>>




1 ส.ค. วันแรกของการเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปการเมืองไทยเตรียมระเบิดศึกรอบใหม่อีกครั้งหลังจากพักยกนานเกือบ 2 เดือน ความสำคัญของสมัยประชุมนี้ที่มีเวลา 120 วัน เปิดช่องให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถทำได้ทุกอย่าง เรียกได้ว่าตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ
การเสนอกฎหมาย การพิจารณาญัตติ การแต่งตั้งถอดถอนบุคคล ทำได้อย่างเต็มอำนาจ แบบว่าไม่ต้องกลัวขัดรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ช่องทางของกฎหมายที่เอื้อประโยชน์สารพัด และอำนวยความสะดวกให้กับงานนิติบัญญัติทุกรูปแบบ ก็ได้แฝงเอาไว้ด้วยความวุ่นวายทางการเมืองที่ตั้งเค้าว่าเป็นอภิมหาสงครามแบบมาราธอน ซึ่งภูมิใจเสนอโดยพรรคเพื่อไทย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอรื้อในเวอร์ชันรายมาตรา ทั้งที่ในใจอยากลงมติในวาระ 3 ของร่างแก้ไขที่อยู่แล้วในรัฐสภา แต่เพราะกลัวว่าถ้าทำอย่างนั้นจะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวุ่นวายไม่เลิกอีก หรือจะให้ไปทำประชามติก่อนแล้วค่อยแก้ไขทั้งฉบับด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็เกรงว่าจะมีเสียงเห็นชอบไม่ถึง 12 ล้านเสียงจากผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 24 ล้านเสียง ทำให้ต้องเลือกการแก้ไขรายมาตราเพื่อป้องกันปัญหา
หนามยอกอกในรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเตรียมบ่งออกมานั้นจะมี 2 ส่วนสำคัญด้วย คือ
1. กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง อยู่ในข่ายที่ต้องรับได้กับการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญมาตลอด โดยเฉพาะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2. องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รอดน้ำมือพรรคเพื่อไทย
การแก้ไขจะกระทำผ่านการรื้อกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวไปเป็นรูปแบบที่ให้ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น จากปัจจุบันกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน รวมทั้งหมด 5 คน
มาตราปลีกย่อยอื่นๆ เช่น มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่มาจากความผิดของบุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมาตรา 309 บทบัญญัติรับรองการกระทำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทุกมาตราที่เล็งแก้ไขจะอยู่ใต้วาทกรรม “แก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย”
ทว่า การแก้ไขประเด็นเหล่าๆ นี้ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะต้องเจอ “ตอ” ฝ่ายค้านแน่นอน ซึ่งเตรียมคัดค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เป็นผลให้เกมแก้รัฐธรรมนูญต้องลากยาวและใช้เวลานานกว่าที่พรรคเพื่อไทยคิด
โดยขอให้ดูตัวอย่างจากการพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 291 ในวาระ 2 เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ต้องใช้เวลามากกว่า 15 วัน แทบไม่ต้องคิดเลยว่าการแก้ไขแบบรายมาตราที่เสมือนหนึ่งแก้ไขทั้งฉบับจะต้องหมดเวลาเท่าไหร่ พร้อมกับไม่มีหลักประกันว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ด้วย
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ นับว่าเรื่องนี้เป็นของร้อนที่สุดที่รัฐสภาต้องเผชิญ เพราะกฎหมายที่ชื่อไพเราะเสนาะหูฉบับนี้มีนัย คือ การนิรโทษกรรมทางการเมืองแบบบูรณาการ ทุกพฤติกรรมที่เคยกระทำผ่านประกาศและคำสั่งของ คมช. จะถูกยกเลิกไปเสมือนหนึ่งประเทศไทยไม่เคยมีวันที่ 19 ก.ย. 2549
หมายรวมถึงคดีศาลมีคำพิพากษาให้มีความผิดถึงที่สุดไปแล้ว หรือคดีที่ศาลกำลังรอการพิจารณาอยู่ ก็จะได้รับโปรโมชันนี้ด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลายเป็นบุคคลที่ได้รับอภินันทนาการนี้ไปโดยปริยาย
สมัยประชุมที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพยายามลุยไฟเพื่อให้สภาลงรับหลักการวาระที่ 1 ให้ได้ แต่เมื่อเจอกับกระแสคัดค้านจากทั้งนอกและในสภา พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใส่เกียร์ถอยแบบไม่มีกำหนด
ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วเมื่อปลายสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาไม่สามารถเข้ามาทำงานในสภาได้เพราะถูกคนเสื้อเหลืองล้อมสภาเอาไว้ไม่ให้พิจารณากฎหมายปรองดองหรือความวุ่นวายที่ในสภาจนต้องบันทึกให้เป็นหนึ่งในที่สุดของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
มาถึงสมัยประชุมนี้ พรรคเพื่อไทยก็ยังคงตั้งเป้าไว้ตามเดิมเช่นกัน แต่เปลี่ยนท่าทีจากเดิมเล่นบทแข็งกร้าวมาเป็นพระเอก หลังจากแสดงจุดยืนว่าจะชะลอการพิจารณากฎหมายปรองดองไปเพื่อรักษาบรรยากาศการเมืองให้สงบ
แม้พรรคเพื่อไทยจะพยายามทำให้ตัวเองดูหล่อเพียงใด แต่ความไม่ไว้วางใจก็ยังคงอยู่ต่อไป เพราะกฎหมายฉบับนี้ยังปรากฏอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาในเรื่องด่วนที่ 1 เท่ากับว่าอุณหภูมิการเมืองในสภาและนอกสภาคงจะต้องระอุทะลุปรอทต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
บางทีกฎหมายฉบับนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออุ้ม พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทยอาจกลายเป็นกฎหมายทำลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในสมัยประชุมนี้ก็เป็นไปได้
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศึกนี้นายกฯ ไม่อาจหันหลังหนีสภาได้เหมือนกับที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ และยังเป็นการสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของยิ่งลักษณ์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เตรียมจัดหนักในช่วงปลายสมัยประชุมราวเดือน พ.ย.
เวทีนี้ฝ่ายค้านตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นห้องเชือดนายกฯ ให้ตกม้าตายกลางสภา ด้วยการขย้ำจุดอ่อนยิ่งลักษณ์ให้เป็นแผลฉกรรจ์มากขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าผู้นำประเทศคนที่ 28 รายนี้มีข้ออ่อนอยู่ที่การสื่อสารกับสังคม หลายต่อหลายครั้งสื่อสารกับประชาชนอย่างผิดๆ ถูกๆ
หากฝ่ายค้านทำได้ตามเป้า แม้จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลยังไงก็พร้อมยกมือสนับสนุนต่อไป แต่รัฐบาลจะอยู่อย่างไรท่ามกลางภาวะความชอบธรรมที่ลดน้อยถอยลง
สรุปแล้วทั้ง 3 ศึกดังกล่าวที่รัฐบาลต้องเผชิญนั้น แน่นอนว่าน่าจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ เพราะมีเสียงล้นสภาอยู่แล้ว แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายปรองดองเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะใช้เสียงข้างมากผ่านไปได้ง่ายๆ โดยมีการเมืองนอกสภาเป็นปัจจัยสำคัญ