หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีคำร้องว่าการแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น ขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน คือ ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ปรากฏว่า คำวินิจฉัยแบ่งเป็น 2 ส่วน หนึ่ง เป็นส่วนวินิจฉัย ตอบคำถามโจทย์ 4 ข้อ คือ
1. ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องโดยตรงตามมาตรา 68 โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดได้
2. ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้่งฉบับต้องทำประชามติ และ
3. ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขมาตรา 291 ที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ ตามมาตรา 68
เมื่อการแก้ไขมาตรา 291 ครั้งนี้มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ไม่ต้องพิจารณาข้อ 4 เรื่องยุบพรรค
สอง เป็นส่วนการแนะนำ คือ แนะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หรือไม่ก็ต้องทำประชามติหากคิดจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับการสถาปนาด้วยการทำประชามติก่อนประกาศใช้ ดังนั้น เมื่อจะมีการแก้ไขยกร่างใหม่จึงต้องใช้อำนาจของประชาชนด้วยการประชามติเช่นกัน
คำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเกิดเป็นปัญหาตามมา เพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเริ่มไม่แน่ใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ โดยในพรรคเพื่อไทยเองยังมีกระแสเสียงแตกต่างกันไป
ทางหนึ่งเห็นว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราไปเลยเพื่อความสบายใจ ทางหนึ่งเห็นว่าควรกลับมาทำประชามติก่อน อีกทางหนึ่งเห็นว่าให้ลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างสภาอยู่ทันทีแล้วค่อยไปทำประชามติทีหลัง
จนถึงขณะนี้ยังตกลงวิธีดำเนินการไม่ได้ สุดท้ายต้องขอทิ้งระยะด้วยการรออ่านคำวินิจฉัยกลางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดเผยในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้
แต่ในบรรดาทางเลือกทั้งหมด การทำประชามติเพื่อผลักดันการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ดังนั้น การเผชิญหน้าครั้งใหม่ในสนามการเมืองคงหนีไม่พ้นการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
การทำประชามตินั้นมีบทบัญญัติมาตรา 165 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 เปิดทางไว้ให้ โดยบัญญัติว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ
1. ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการใดเรื่องใดอาจกระทำถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
2. ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ขยายความวิธีทำประชามติว่าต้องทำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ ปี 2552 มี 2 กรณี คือ
1. การที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน และ
2. กฎหมายบัญญัติให้ออกเสียงประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี
การทำประชามติเป็นหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้ง โดยหัวใจของการลงประชามติ คือ
1. ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิต้องมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และ
2. ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธินั้นเป็นประชามติ
ดังนั้น เมื่อเทียบผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้มีสิทธิออกเสียงเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งมีจำนวน 46 ล้านคน เท่ากับว่าการทำประชามติต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 23 ล้านคน
ในจำนวน 23 ล้านคนนี้ ต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 11.5 ล้านคน จึงถือเป็นประชามติเสียงข้างมาก
ด้วยจำนวนตัวเลขที่ปรากฏทำให้มีผู้คาดการณ์ว่า สนามประลองกำลังทางการเมืองครั้งต่อไปคือ การทำประชามติ นี่เอง
ทั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 มีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 35 ล้านคน เลือกพรรคเพื่อไทย 15.7 ล้านคน พรรคประชาธิปัตย์ 11.4 ล้านคน ที่เหลืออีกประมาณ 8 ล้านคนเลือกพรรคอื่น และไม่เลือก หรือทำบัตรเสีย
ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์เดินเกมบอยคอต รณรงค์ไม่ให้คนไปลงประชามติ พรรคเพื่อไทยก็ต้องรณรงค์หาคนมาลงประชามติเพิ่มขึ้นอีก 23-15 ล้านคน เท่ากับ 8 ล้านคน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองอื่น ที่มิใช่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มีความสำคัญขึ้นมาทันที
ยิ่งเมื่อมีความเคลื่อนไหวล่าสุดจากพรรคภูมิใจไทยกลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ที่ขยับประชุมสมาชิกกลุ่มพร้อมแพร่ข่าวยก 2 ล้านเสียงร่วมทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมา ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมือง
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าการทำประชามติที่กำลังจะมีขึ้น จะเป็นการปะทะทางการเมืองยกใหม่
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยผ่านการประชามติมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2550 ซึ่งขณะนั้นก็มีความแตกแยก มีการข่มขู่ มีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกัน
ย้อนกลับไปเมื่อการรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ประเทศไทยก็ชักธงเขียวสนับสนุน ธงเหลืองต่อต้าน
แต่แม้จะมีความขัดแย้ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ดังนั้น หากประเทศไทยจำเป็นต้องมีการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะใช้การประชามติเป็นทางออกให้แก่ประเทศ
ไม่ควรทำให้การประชามติกลายเป็นปัจจัยผลักดันประเทศเข้าสู่ทางตัน