MCOT 17 กรกฎาคม 2555 >>>
กรุงเทพฯ 17 ก.ค. - สภาทนายความออกแถลงการณ์ติงนักวิชาการนิติราษฎร์วิจารณ์การวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งร้ายด้วยอารมณ์ เตือนข้อเสนอล้มศาลรัฐธรรมนูญตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญก่อปัญหาได้อีก ชี้ที่มาคณะพิทักษ์รัฐธรรมนูญอิงการเมืองเสียงข้างมากถึง 6 ใน 8 เสียง
ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน ออกแถลงการณ์สภาทนายความ ฉบับที่ 3/2555 เรียกร้องให้นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ยุติการแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะได้ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นที่ยุติเสียก่อน
นายเจษฎา กล่าวว่า สภาทนายความยังคงยืนยันว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 แต่ในฐานะนักกฎหมาย การที่จะแสดงความคิดเห็นทางวิชาการควรได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นที่ยุติเสียก่อน แล้วนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยุตินั้น เพราะหากข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง-ครบถ้วนและไม่เป็นที่ยุติ ตัวบทกฎหมายที่นำมาปรับใช้นั้นย่อมคลาดเคลื่อนไปด้วย การนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายต้องเป็นความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งร้ายทำลายบุคคลใดด้วยอารมณ์ หรือมีเจตนาแอบแฝงอื่น
“การแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยยังไม่ได้ตรวจสอบคำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยดังกล่าว ย่อมอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้” นายเจษฎา กล่าว
นายเจษฎา กล่าวว่า ที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ สภาทนายความเห็นว่าเป็นการสร้างปัญหาการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นอีก เพราะสัดส่วนคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอ 8 คน (ตัวแทน ส.ส. 3 คน, ครม. 3 คน, ส.ว. 2 คน) จะมีเสียงข้างมากเป็นของพรรคการเมืองเสียงข้างมากถึง 6 คนที่อาจจะทำให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขาดความเที่ยงธรรมได้และขัดกับบทความเรื่อง “ โครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญกับอำนาจของนายกฯ ทักษิณ ” ที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้เขียนในหนังสือรู้ทันทักษิณ 2 เมื่อปี 2547 ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชนหลายคดี สภาทนายความจึงเรียกร้องให้กลุ่มนักวิชาการกฎหมายยุติการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว