416 ส.ส.-ส.ว. โยนที่ประชุมร่วมรัฐสภาตัดสินเดินหน้าโหวตวาระ 3

ฐานเศรษฐกิจ 17 กรกฎาคม 2555 >>>


วันนี้ (17 ก.ค.)  นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้เรียกประชุม ส.ส. และ ส.ว.เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ปัญหากรณีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว. 416 คน ที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 1 และ 2 รวมถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  โดยที่ประชุมมี ส.ส. และ ส.ว. ประมาณ 50-60 คน เข้าร่วมหารือ ใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 แถลงว่า สมาชิกวุฒิสภากลุ่มสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชุมร่วมกันแล้ว มีความเห็นแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ แนวทางแรก ให้เดินหน้าลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ทันทีที่เปิดสมัยประชุมวิสามัญ  จากนั้นค่อยทำประชามติ ซึ่งสามารถทำได้ อีกแนวทางต้องการให้ทำประชามติก่อนตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเรื่องดังกล่าวหารือต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะดำเนินการอย่างไร  หากที่ประชุมเห็นว่า ให้โหวตวาระ 3 ก็จะโหวตลงมติในวาระ 3 ด้วยการโหวตขานชื่อทีละคน จากนั้นจะเข้าสู่มาตรา 150 ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน หรือถ้าที่ประชุมเห็นว่า ไม่ควรเดินหน้าให้ไปทำประชามติก่อน ก็ต้องไปทำตามประชามติ โดยจะให้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นผู้เสนอทางออก
   "ส่วนตัวเห็นว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมวิสมัญวันที่ 1 ส.ค. นี้ ประธานรัฐสภา ควรที่จะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเป็นการด่วน ซึ่งอาจจะเป็นวันที่ 6 ส.ค. เพื่อให้สมาชิกรัฐสภา ลงมติรัฐธรรมนูญ วาระสาม แต่ก่อนลงมติจะมีสมาชิกรัฐสภาขอหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรธน. หากเสียงข้างมากให้โหวตวาระสาม ก็ดำเนินการไป จากนั้น 20 วันให้นายกรัฐมนตรี นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ต่อไปอย่างไรก็ตาม หากสมาชิกเสียงข้างมากเห็นว่าควรทำประชามติก่อน ก็ต้องไปดูคำวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าแก้ทั้งฉบับ ขณะนี้เป็นการแก้ไขเพียงมาตราเดียวคือ 291 และเมื่อแก้ไขและตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับแล้ว ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ก็จะต้องทำประชามติอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้จะเป็นไปตามที่ศาลวินิจฉัย" นายนิคม กล่าว