มติชน 18 กรกฎาคม 2555 >>>
ที่ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 กรกฎาคม ศาลนัดสืบพยานจำเลย คดีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลย กล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนที่รับชมสถานีโทรทัศน์ ช่องพีเพิ่ล แชนแนล กล่าวหาว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร
ทนายความจำเลย นำ พ.อ.สมโชค ไกรศิริ จเรทหารบก ขึ้นเบิกความ สรุปว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 นายอภิสิทธิ์ ได้หลีกเลี่ยงขัดขืนไม่เข้าทำการตรวจเลือกการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการปี 2530 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 27 และ 45 โดยนายอภิสิทธิ์ไม่มีหลักฐานการผ่อนผัน จึงไม่มีหลักฐานทางทหารเพื่อประกอบเอกสารการบรรจุโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) แต่ภายหลังกรมสารบัญ โรงเรียนนายร้อย จปร. ดำเนินการทำหลักฐานขออนุมัติบรรจุนายอภิสิทธิ์ ซึ่งการบรรจุทำให้นายอภิสิทธิ์ได้เข้ารับราชการทหาร
ขณะที่ พ.อ.สมโชค ตอบคำถามซักค้านของทนายโจทก์ ว่า พยานไม่ทราบเลยว่าการไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษของนายอภิสิทธิ์ จะมีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้ดูแลทำหนังสือผ่อนผันโดยตรงและไม่ต้องมารับการตรวจเลือกฯ แต่ถ้าเป็นกรณีแบบนี้จริงยอมรับว่าไม่ใช่การหนีทหาร แต่เป็นเรื่องที่ได้รับการผ่อนผัน และเมื่อนายอภิสิทธิ์ได้เป็นอาจารย์ สอนหนังสือที่ โรงเรียนนายร้อย จปร.แล้วจึงไม่ต้องถูกเรียกเข้าประจำการ ตามมาตรา 14 วรรค 7
พ.อ.สมโชค ตอบด้วยว่า ไม่ทราบว่าที่โรงเรียนนายร้อย จปร. และกระทรวงกลาโหมไม่เคยเรียกตัวนายอภิสิทธิ์ไปสอบและให้ชี้แจงเลยสักครั้งนั้น อาจเพราะเป็นเรื่องประเด็นทางการเมืองและที่ไม่มีหลักฐานการเข้าตรวจเลือกฯและผ่อนผันทหารอาจจะเป็นการทำลายหลักฐานทิ้งไป
ภายหลังการเบิกความ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายจตุพร จำเลย กล่าวว่า วันนี้พยานเบิกความได้เป็นประโยชน์กับฝ่ายจำเลย ซึ่งพยานเอง ระบุว่าหลังจากนายอภิสิทธิ์ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการทหารแล้วมีการเดินทางต่างประเทศเป็นเวลากว่า 200 วัน ภายใน 1 ปี ทั้งที่มีการปฏิบัติหน้าที่เพียง 300 วัน