วัดใจ ′เพื่อไทย′ หักด่าน "ประชามติ" ลุยแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

มติชน 18 กรกฎาคม 2555 >>>




คำวินิจฉัย 13 ก.ค. ของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตามมาใน 2-3 ทิศทาง
ทั้งพึงพอใจ ที่การเมืองเคลื่อนต่อไปได้ ภายใต้รัฐบาลเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อการบริหาร โดยเฉพาะการบริหารตามนโยบายของรัฐบาล และการบริหารงบประมาณ
ทั้งพึงพอใจในคำสั่งยก 5 คำร้อง ซึ่งหมายความว่า พรรคผู้ถูกร้องพ้นจากข้อหาล้มล้างและกระทำการเพื่ออำนาจปกครองที่มิชอบ พอใจการยกคำร้อง แต่ไม่พึงพอใจแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยที่ยังคลุมเครือ
ขณะที่แวดวงวิชาการ แสดงความสงสัยต่อรากฐานแนวคิด อันเป็นที่มาของการวินิจฉัยและตีความรัฐธรรมนูญ อาทิ การตีความใหม่ ในมาตรา 68 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคดีเอง แทนที่จะยื่นผ่านอัยการสูงสุด
แสดงความสงสัย ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องกับมาตรา 291หากจะทำ "ควร" มีการลงประชามติถามความเห็นประชาชน
ขณะที่มาตรา 165 บัญญัติถึงการลงประชามติว่า ข้อยุติจะเกิดได้ด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง เป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง มิใช้ข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ เป็น "ล็อก" ที่ทำให้หนทางของการแก้ไข หรือยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยิ่งยากมากขึ้น
ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 13 ก.ค. 2555 จึงยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงสาระบางประการจากรัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งไปที่การรักษา "สถานะเดิม" หรือ status quo มากกว่าจะยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงตามสภาพการณ์
ขณะที่การเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นกระแสที่ไม่อาจมองข้าม จึงเกิดการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ ที่ออกมาเสนอให้ยุติบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น มาทำหน้าที่แทน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินต่อไปได้
ทำให้เกิดการออกโรงของสถาบันพระปกเกล้า ว่าด้วยการ "ดีไซน์" รัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการ และสื่อต่างๆ เป็นทิศทางของการปรับเปลี่ยนแก้ไข มากกว่าจะสงวนรักษาไว้ในแบบเดิม
ดังที่ นายเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวในที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคว่า ต้องสุขุมรอบคอบ อย่าผลีผลาม จะอย่างไร ก็ควรปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลให้ลงประชามติ ก็ควรลงประชามติ
แม้จะมีทางเลือกให้แก้ไขรายมาตรา แต่อาจจะเกิดความล่าช้า ดังการประเมินของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่าอาจใช้เวลาเป็นทศวรรษ
การลงประชามติ น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพราะเท่ากับยืนยัน และดำรงความมุ่งหมายเดิมที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
กระบวนการลงประชามติ จะเดินไปพร้อมกับการถกเถียงข้อดี ข้อเสียของรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการสร้างปัญญา เปิดจุดแข็งและจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญเดิมอย่างชัดๆอีกครั้ง
แม้จะมีผู้หยิบยกมาตรา 165 แห่งรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะเรียกร้องเสียงลงประชามติเห็นชอบมากกว่า 21 ล้านเสียง หรือเกินครึ่ง จากผู้มีสิทธิทั้งหมด 42 ล้านเสียง
แต่ กกต. ได้ออกมาเคลียร์ด้วยมาตรา 9 พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ ที่ให้ใช้เสียงข้างมาก ของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง
โดยผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง ต้องเกินครึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด หนทางข้างหน้าพอจะมองเห็น อยู่ที่พรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจอย่างไร