ย้อนชีวิต เนติบริกรเลือดฟ้า "วิรัตน์ กัลยาศิริ" ขุนพลด้านกฎหมาย "ประชาธิปัตย์"

มติชน 15 กรกฎาคม 2555 >>>




แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา แต่สถานการณ์การเมือง ทั้งใน-นอก "รัฐสภา" ยังคงความร้อนแรง อย่างไม่หยุดยั้ง และมีแนวโน้มระอุขึ้นอยู่ทั่วทุกขณะ
ทว่าสองขั้วการเมือง ทั้ง "เพื่อไทย" และ "ประชาธิปัตย์" ยังคงเดินหน้า "ปล่อยหมัด" ทั้งต้าน-หนุน ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลในยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่บริหารประเทศมาได้ครบหนึ่งปี ก็ยังคงใช้ "รัฐสภา" เป็นที่ "ผลัก" และ "ดัน" กฎหมายสำคัญๆ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291, ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับที่.. พ.ศ. .... เป็นต้น
นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเหตุการณ์ "ความวุ่นวาย" และการก่อกำเนิด "วาทกรรม" รวมถึงการแสดง "สัญญะ" ทางการเมืองต่างๆ นานา จากพลพรรค "เลือดสีฟ้า"
ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน "ต่อต้าน" หรือ "แสดงทรรศนะ" ในเชิงกฎหมายของ "ประชาธิปัตย์" อยู่บ่อยครั้ง ก็คือ "เนติบริกร" ระดับ "ขุนพล" อย่าง วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ซึ่งมี "ดีกรี" เป็นถึง "หัวหน้าทีมกฎหมาย" ของ ปชป.
ล่าสุด เขาอยู่ในฐานะผู้ร้องที่ 3 ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่
หากย้อนวันวานกลับไปพื้นเพเดิม "วิรัตน์" เป็นชาว จ.สงขลา เกิดมาในครอบครัว "ชาวสวนยาง" ที่มีฐานะค่อนข้าง "ยากจน" และด้วยความยากจน ทำให้เขาต้องระหกระเหินไปอาศัยชายคาบ้านญาติที่ จ.สตูล เพื่อให้ได้มีโอกาสในการ "ศึกษา"
   "บ้านผม สถานะครอบครัวมันแย่ !!! ถึงขนาดไม่มีจะกิน ผมถึงกับต้องทำบัญชี ว่าในสัปดาห์นี้ ผมจะไปกินข้าวบ้านใครได้บ้าง"
แต่หลังจากที่เรียนจบประถม 4 ที่โรงเรียนสตูลวิทยาสำเร็จ "วิรัตน์" ก็ตัดสินใจกลับเข้ามาอาศัยชายคา "วัดโรงวาส" ที่บ้านเกิด กระทั่งเรียนจบ "มัธยมปลาย"
"วิรัตน์" ยอมรับว่า ตั้งแต่เขาเป็นเด็ก จนกระทั่งเป็นหนุ่ม เขายังไม่มีความฝันในอนาคตที่ชัดเจน รู้แต่เพียงว่า ตัวเองเป็นคนที่รัก "ความยุติธรรม" และ "ความถูกต้อง" อันเป็นผลพวงมาจากครอบครัวและสังคมที่ค่อนข้างแย่ และด้อยทางเศรษฐกิจ
แต่เมื่อ "วิรัตน์" เริ่มรู้ถึง "บุคลิก" และ "ตัวตน" ที่แท้จริง ซึ่งยึดมั่นในความถูกต้อง ทำให้เขาตัดสินใจเข้าศึกษาในคณะนิติศาสตร์ รั้ว "แม่โดม" แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2511
   "วันที่ผมสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ วันนั้นผมสอบเข้าที่โรงเรียนศุลการักษ์ได้ ซึ่งเป็นโรงเรียนของศุลกากร เรียนแค่ 1 ปีจบ และมีงานทำแน่นอน แต่ผมรู้ตัวว่าถ้าเกิดเราไปทะเลาะกับนายเข้าจะเสียคน และหากมีความไม่ถูกต้องหรือความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นคงอยู่ไม่ได้แน่ เพราะอะไรที่ไม่ถูกต้องผมก็ไม่ยอมอยู่แล้ว"
การเบนเข็มชีวิตของตัวเอง เพื่อมุ่งหน้ามาสู่ "เมืองหลวง" สำหรับ "เด็กใต้" นั้นไม่ง่ายเลย เขายังคงอาศัย วิธีการ "ขึ้นบัญชี" เพื่อขออาศัยข้าวบ้านเพื่อนประทังชีวิต
ที่สำคัญการเรียนที่ธรรมศาสตร์ ทำให้ "วิรัตน์" ได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองรักและได้ "สัมผัส" กับความเดือดร้อนของชาวบ้าน ด้วยการเริ่มทำกิจกรรม "ค่ายอาสา" ตั้งแต่ปี 1 จนกระทั่งเรียนจบปี 4
"วิรัตน์" เล่าว่า การออกค่ายทำให้เขาได้เกิดมุมมองใหม่ๆ เมื่อเปรียบกับชีวิตของตัวเองที่ว่าลำบากแล้ว
แต่ยังมีชาวบ้านที่ลำบากกว่าเขาอีกมาก นั่นทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับความเดือดร้อนของชาวบ้านมาโดยตลอด และกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ไปทำนั้น ก็คือการสร้างโรงเรียนในพื้นที่ชนบท
   "การออกค่ายทำให้ผมได้มิตร เพื่อน และได้เห็นความลำบาก และได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น นอนกันอย่างลำบาก ส้วมก็ใช้ส้วมหลุม น้ำมีอาบบ้างไม่มีอาบบ้าง จนผมรู้สึกว่า ความลำบากมันทำให้เราแกร่งขึ้น"
ทว่า เขายังได้รับเลือกให้เป็น "นายกโดมทักษิณ" อีกด้วย "วิรัตน์" อธิบายว่า "โดมทักษิณ" คือกิจกรรมของนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ทั้งหมด โดยจะร่วมประสานงานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ศิลปากร เป็นต้น แต่ยังไม่มีแก่นสารมากนัก
กระนั้นเองเขาก็ยังคงร่วมขับเคลื่อนในกิจกรรมการเมืองอยู่เช่นกัน เขาเล่าว่า ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ มาจัดตั้งไฮด์ปาร์ก เพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐคอมมิวนิสต์ เขาก็มีโอกาสร่วมรับฟังมาโดยตลอด
หลังจาก "วิรัตน์" เรียนจบ นักศึกษาหนุ่มไฟแรง ได้ประเดิมงานที่แรกในบริษัทประกันชีวิต เพื่อหารายได้มาจุนเจือ และส่งให้น้องๆ อีก 3 คนได้เรียนจนจบ "ปริญญาตรี"
   "หลังจากที่ผมส่งน้องจนเรียนจบ ก็เริ่มหันมาคิดว่า เราต้องหาสิ่งที่เราชอบ และผมเริ่มรู้สึกอยากเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองภาคใต้ ต้องทำเอง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน นี่คือจุดพลิกที่ทำให้ผมเดินหน้ามาเป็นทนายความ !!!"
จากนั้นเขาได้กลับมายังบ้านเกิด และเปิดสำนักงาน ชื่อ "ทนายความวิรัตน์ กัลยาศิริ" โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน
"ทนายวิรัตน์" เล่าว่า หลักในการรับว่าความของเขาคือ คดีอาญาจะทำให้คนละคดี จะถูกหรือผิด เราช่วยหมด ในครั้งแรก และจะให้มาสาบานต่อหลวงพ่อทวด เพื่อเป็นการบล็อกคนชั่วได้จำนวนหนึ่ง ยกเว้นแต่หากเขาถูกกระทำกลับมาเราก็จะช่วย
   "ผมรับว่าความ 6-7 คดีต่อวัน ตั้งแต่เช้ายันค่ำ หากผมดูว่าเรื่องไหนไม่จริง หรือไปแกล้งเขาผมก็ไม่ทำ และคดีเงินกู้เราก็ไม่อยากรับ เพราะเป็นการข่มเหงชาวบ้าน ได้ช่วยชาวบ้านเยอะ ร้อยคนผมได้เงินสักประมาณ 25 คน แต่อีก 75 คนเราก็ช่วยเขา"
แต่ใช่ว่า "ทนายวิรัตน์" จะว่าความชนะทุกคดี
เขายอมรับว่า บางคดีที่เขารับว่าความนั้น ก็มีผิดพลาดบ้าง ลูกความบางคนต้องติดคุกก็มี แต่เขาก็ไม่ได้ต่อว่าอะไรเรา เพราะรู้ว่าเราทำงานอย่างเต็มที่ โปร่งใส และไม่กินสองข้าง
ระหว่างที่เขารับหน้าที่เป็น "ทนายความ" ให้กับชาวบ้าน "วิรัตน์" ยังได้เดินหน้าลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ด้วยการลงสมัครเป็น ส.จ. ในนามส่วนตัว และได้รับเลือกสมดั่งตั้งใจ
   "ผมเป็น ส.จ. ได้เงินเดือนเพียง 3 พันบาท ผมแบ่งเงินส่วนนั้นเป็นค่าอาหารกลางวันแก่ผู้ยากไร้ เราถือว่าเรามีรายรับจากค่าว่าความ ไม่ถึงกับร่ำรวยแต่ก็พออยู่ได้"
เมื่อเอ่ยถึง "คดีความ" ที่ประทับใจ "วิรัตน์" เล่าว่า ขณะที่เป็น ส.จ. ได้มีการต่อสู้กันในเขตทหาร "ค่ายคอหงส์" แถวหาดใหญ่ เป็นพื้นที่ 1 ตร.กม. ทหารอ้างว่าเป็นของเขา เพราะมีกฤษฎีกาเวนคืน แปลว่า ถ้าไม่มีการออกกฎหมายตามหลังว่าเวนคืน ภายใน 7 ปี นับแต่มีกฤษฎีกา ก็ถือว่าเจ๊ากันไป ปรากฏว่า ตั้งแต่สมัยสงครามโลก จนถึงช่วงปี 35 ก็ไม่เคยมีการออกกฎหมายว่า เวนคืน จึงต้องตกไปเป็นของชาวบ้าน
   "การว่าคดีนี้ทหารก็สู้ ชาวบ้านก็สู้ จนกระทั่ง ? ปลัดสำนักนายกฯ ? ลงไปเป็นประธานเจรจา และผมได้เอาเรื่องนี้ไปพูดในที่ประชุมสภาจังหวัด ท่านผู้ว่าฯยกมือขึ้นให้ผมหยุดพูดและสั่งให้ลบเทป ทำให้ถอดเรื่องนี้ออกจากที่ประชุม เพราะผู้ว่าฯกลัว แต่เราไม่กลัว เราก็เดินหน้าต่อ สุดท้ายที่ตรงนี้ชาวบ้านก็ได้คืน 1 ตร.กม."
หลังจากเป็น "ส.จ." ได้ 5 ปี "จุดพลิกผัน" ของชีวิต ก็มาถึง !!!
"วิรัตน์" เปรยว่า ขณะนั้นเขากินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากจะเป็น "ผู้แทนฯ" มาก จนต้องร้องขอเขาไปทั่ว ด้วยการเสนอตัวทุกรูปแบบกับทางพรรคประชาธิปัตย์
เจอผู้ใหญ่คนไหนก็ไปพบหมด พร้อมกับบอกว่าแล้วแต่มติพรรค และผมก็เสนอตัวผ่าน ถาวร เสนเนียม
เขายังคงมีความหวังและความตั้งใจ อยากเปลี่ยนถ่ายเลือดสีฟ้าอย่างหนักแน่น "วิรัตน์" เล่าว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะสู้กันในภาคใต้ นาม ปชป. ย้ำว่า ยากมากๆ และภาคใต้มีหลายขั้ว ขั้วหนึ่งสนับสนุนเรา แต่อีกขั้วหนึ่งไม่เอาเรา สุดท้ายก็ได้เป็นผู้แทนฯสมใจ เอาชนะคู่แข่งได้อย่างท่วมท้น ในอำเภอหาดใหญ่
   "ผมตั้งใจไว้ว่า หลังจากเข้ามาเป็นผู้แทนฯภายใน 2 สัปดาห์ จะต้องลุกขึ้นยื่นอภิปรายในสภาให้ได้ แต่เพียง 7 วัน ผมก็สามารถลุกขึ้นพูดสำเร็จ และได้รับคำชื่นชมจากนายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจมาก"
ณ วันนี้ ความขยันและความตั้งใจของ "วิรัตน์" ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าพรรค ให้เข้ามาเป็นหนึ่งใน "ทีมกฎหมาย" ปชป. เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบคดีความต่างๆ ของพรรค
"วิรัตน์" ยอมรับว่า มีหลายคดีที่เขาต้องทำ และหากคดีไหนที่ทำแล้วเสี่ยงกับ ปชป. ก็จะขอทำในนามส่วนตัว และชาวบ้านก็ยังคงมาขอร้องให้ช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา บางทีเราก็ได้แต่แนะนำไป เพราะไม่ค่อยมีเวลา หรือไม่ก็เรียกทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ย เพื่อให้เรื่องจบ
   "ทุกวันนี้ ผมได้วิชาความรู้ และทักษะการเป็นทนายความมาช่วยในงานการเมือง และผมพร้อมที่จะเป็นตัวต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคม นี่ถือเป็นกำไรของประเทศ ทำให้คนคิดที่จะล้มล้าง หรือคิดร้ายต่อบ้านเมือง เขาได้สะดุดบ้าง !!!"
สิ่งเหล่านี้คือ "จุดเปลี่ยน" ของ "ชีวิต" จากเด็กครอบครัวฐานะยากจน ซึ่ง "ผลัก" และ "ดัน" ตัวเอง ให้เข้ามาสู่การเป็น "ทนายความ" และ "ผู้แทนฯ" ด้วย "แรงขับ" ที่ต้องการเห็นความยุติธรรมและความเท่าเทียมในประเทศ ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์