นายเกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นต่อยอดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้อ้างอิงหลักประชาธิปไตยทางตรง และเสนอแนะให้มีการลงประชามติเสียก่อนว่าควรมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
"โอเคเอางั้นก็ได้ มาทำประชามติกันเลยว่าจะปกครองรูปแบบใดดี !"
ในความพยายามที่จะขี่คร่อมขัดขวางและถ่วงทานอำนาจผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (representative democracy) คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างอิงหลักประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) และเสนอแนะให้ทำประชามติเพื่อ "...ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนา รัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่..."
ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ผมเห็นว่าถ้าจะเอาอย่างนั้น ก็ควรทำให้เต็มที่สมบูรณ์ และกลับไปที่หลักการเริ่มแรกทางปรัชญาการเมืองของประชาธิปไตยกันเลย!
คือกลับไปที่งาน Du Contrat Social (ค.ศ. 1762) ของ Jean-Jacques Rousseau (สัญญาประชาคม ของ จัง-จ๊าค รุสโซ) ที่ถือกันว่าเป็นตัวบทต้นแบบทฤษฎีการเมืองสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย และถูกอ้างอิงไปใช้กันทั่วโลกนับแต่หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1989 เป็นต้นมา
งานชิ้นดังกล่าวได้อภิปรายวาระสำคัญที่ประชาชนใช้ "อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ" โดยตรง ไว้ที่ Livre III: Chapitre XIV, XVII (เล่มสาม บทที่ 14 และ 17) ของงานชิ้นนั้นว่า (แปลโดยผู้เขียน):
Livre III Chapitre XIV
Comment se maintient l′autorité souveraine (Suite)
"A l′instant que le peuple est légitimement assemblé en corps souverain, toute juridiction du gouvernement cesse, la puissance exécutive est suspendue, et la personne du dernier citoyen est aussi sacrée et inviolable que celle du premier magistrat, parce qu′où se trouve le représenté il n′y a plus de représentants……"
เล่มสาม บทที่ 14
จะธำรงรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ได้อย่างไร (ต่อ)
"ทันทีที่ประชาชนมารวมตัวกันเป็นองค์อธิปัตย์โดยชอบธรรม เขตอำนาจทั้งหมดของ รัฐบาลย่อมยุติลง อำนาจบริหารถูกระงับ และตัวบุคคลพลเมืองผู้ต่ำต้อยที่สุดก็ยังศักดิ์สิทธิ์และ ละเมิดมิได้เท่ากับเอกอัครมหาเสนาบดี ทั้งนี้ก็เพราะผู้ถูกแทนตนปรากฏขึ้นที่ใด ก็ย่อมไม่มีผู้แทน ณ ที่นั้นอีกต่อไป....."
Livre III Chapitre XVII
De l′institution du gouvernement
"Sous quelle idée faut-il donc concevoir l′acte par lequel le gouvernement est institué?
Je remarquerai d′abord que cet acte est complexe, ou composé de deux autres, savoir: l′établissement de la loi et l′exécution de la loi.
"Par le premier, le souverain statue qu′il y aura un corps de gouvernement établi sous
telle ou telle forme; et il est clair que cet acte est une loi.
"Par le second, le peuple nomme les chefs qui seront chargés du gouvernement établi.
Or cette nomination, étant un acte particulier, n′est pas une seconde loi, mais seulement une
suite de la première et une fonction du gouvernement….."
เล่มสาม บทที่ 17
ว่าด้วยการสถาปนารัฐบาล
"กระนั้นแล้วเราควรจะคิดถึงการกระทำในการสถาปนารัฐบาลขึ้นมาภายใต้กรอบความคิดอย่างไรเล่า ? ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตไว้ในเบื้องแรกก่อนว่าการกระทำดังกล่าวนี้ซับซ้อน หรือ ประกอบด้วยการกระทำอย่างอื่นอีก 2 ประการ กล่าวคือ การสถาปนากฎหมายขึ้นและการดำเนิน การตามกฎหมาย
"ในการกระทำประการแรก องค์อธิปัตย์บัญญัติว่าจะมีการสถาปนารัฐบาลขึ้นภายใต้ รูปแบบนั้น ๆ และย่อมกระจ่างชัดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกฎหมาย
"ในการกระทำประการที่สอง ประชาชนเสนอชื่อหัวหน้าผู้จะเข้ารับผิดชอบรัฐบาลที่ สถาปนาขึ้น และเนื่องจากการเสนอชื่อนั้นมีฐานะเป็นกระกระทำเฉพาะ มันจึงหาใช่กฎหมายฉบับ ที่สองไม่ หากเป็นเพียงผลลัพธ์สืบเนื่องจากกฎหมายฉบับแรกและเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล"
พูดด้วยภาษาชาวบ้านคือ เมื่อประชาชนมารวมตัวกันเป็นองค์อธิปัตย์เองเพื่อใช้อำนาจ สถาปนารัฐธรรมนูญโดยตรง ระเบียบวาระเริ่มแรกสำหรับพิจารณาลงมติทันทีมี 2 ข้อคือ
1) จะปกครองด้วยรูปแบบใดดี? (ประชาธิปไตย, ราชาธิปไตย, คณาธิปไตย, ธนาธิปไตย, ฯลฯ)
2) จะให้ใครมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลทำการปกครอง ? (เลือกคนเข้ามาเป็นผู้นำตามระบอบที่เลือกก่อนหน้านั้น)
ประชาชนมาประชุมกันปุ๊บ อย่างแรกทีทำคือเลือกระบอบปกครองปั๊บทันทีว่าจะเอาระบอบใด? จากนั้นค่อยเลือกผู้นำรัฐบาลอีกที อย่างแรกสำคัญที่สุดและมีฐานะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างหลังเป็นแค่มาตรการตัดสินใจเฉพาะเรื่องสืบเนื่องจากอย่างแรก โดยตัวมันเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในทางทฤษฎี ข้อเสนอของรุสโซเรื่องประชาธิปไตยทางตรงก็คือการทำให้การปฏิวัติถาวร ของประชาชนกลายเป็นสถาบัน มีแบบแผนปฏิบัติว่าประชาชนมาประชุมกันเมื่อไหร่ ก็เลือก ะบอบปกครองก่อนอื่น (ซึ่งจะเปลี่ยนก็ได้ คงอันเก่าไว้ก็ได้ ดัดแปลงผสมกันอย่างไรก็ได้ ฯลฯ) ซึ่งปกติจะทำได้ต้องเคลื่อนไหวปฏิวัติ โค่นล้มฆ่าฟันกันขนานใหญ่เสียก่อน แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว เพราะได้ทำให้การปฏิวัติ (เปลี่ยนแปลง/ก่อตั้งสถาปนาระบอบปกครองใหม่) กลายเป็นวาระการประชุมประจำอันดับแรกของประชาชนแล้ว จากนั้นค่อยเลือกตัวผู้นำเป็นวาระที่สอง
ในการประเมินของนักทฤษฎีการเมืองชั้นหลังๆ อย่าง Lucio Colletti ชาวอิตาลีนั้น สิ่งที่รุสโซทำถือเป็นบาทก้าวย่างที่ปฏิวัติขุดรากถอนโคนก้าวล้ำหน้าสุดๆ ทางการเมือง ชนิดที่นักทฤษฎีปฏิวัติชั้นหลังๆ แม้แต่คาร์ล มาร์กซ หรือเลนิน ก็ไม่ได้เสนออะไรที่ก้าวไกลไปเกินกว่าที่ รุสโซได้เสนอไว้แล้วเลย! (Lucio Colletti, "Rousseau as Critic of ′Civil Society′" (1968) ใน From Rousseau to Lenin: Studies in Ideology and Society (1972)
ดังนั้น ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เอาเลยครับ ทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ดีเหมือนกัน ปฏิบัติประชาธิปไตยทางตรงกันหน่อย แต่เอาให้แบบคลาสสิกสุดๆ นะครับ อย่าไปรวบรัดมัดมือชก ประกาศภาวะฉุกเฉินครึ่งค่อนประเทศ ไล่จับแกนนำฝ่ายค้านอย่างสมัย คปค. เขาทำกัน มันน่าเกลียด คือเราต้องมีช่วงเวลายาวนานพอควรที่เปิดให้ประชาชนทั่วประเทศอภิปรายอย่างเสรี กว้างขวางเต็มที่ไม่มีการจำกัดหวงห้ามใดๆ ว่าระบอบปกครองใดจะเหมาะสมกับเมืองไทยสมัยนี้ที่สุด ? ระบอบนี้ควรจะมีสถาบันการเมืองการปกครองใดบ้าง ? และแต่ละสถาบันจะมีที่ทางฐานะ บทบาทอย่างไรในระบอบนี้เพื่อประกอบเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบระเบียบทั้งหมด ? สถาบันอะไร ควรตั้งใหม่ ? สถาบันอะไรควรยกเลิก ? สถาบันอะไรควรเพิ่มอำนาจมากขึ้น ? สถาบันอะไรควรลดอำนาจลง? เพื่อจะสนองตอบและแก้ไขปรับปรุงต่อตัวปัญหาการเมืองที่ประเทศไทยเผชิญมาในรอบหลายปีหลังนี้ถึงปัจจุบัน
อภิปรายกันสุดลิ่มทิ่มประตูแบบพี่น้องคนไทยด้วยกัน ถึงไหนก็ถึงนั่น ลงมติตกลงกันได้ แล้วก็จบ จะได้เดินหน้าชีวิตปกติกันเสียที