สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ยุบศาลรัฐธรรมนูญเสียเถอะ

ประชาไท 11 กรกฎาคม 2555 >>>


เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญไทย ได้มีมติ 7 ต่อ 1 ให้รับคำร้องของกลุ่ม 40 สมาชิกวุฒิสภาที่นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ลากตั้ง โดยอ้างถึงกรณีที่รัฐสภาได้ผ่านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ขั้นวาระที่สองในมาตรา 291 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมูญฉบับใหม่ โดยศาลรัฐธรรมูญเห็นว่า การดำเนินการเช่นนั้น อาจเป็นการลบล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมาพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ศาลจึงออกคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมในวาระ 3 ที่จะมีขึ้นวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ในคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญอ้างการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ทราบการกระทำว่า มีบุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการเพื่อลบล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิ์เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด และเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อดำเนินการวินิจฉัยสั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับเรื่องพิจารณาได้ และเมื่อศาลรับพิจารณา แล้วรัฐสภาก็ต้องชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำสั่ง
กรณีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้อำนาจตุลาการ ใช้อำนาจแทรกแซงการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่กระนั้น คงต้องเริ่มอธิบายว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ก็มาจากการตีความเอาเองของศาล เพราะตามข้อบัญญัติในเรื่องนี้จะต้องให้ผู้ร้องเสนอต่ออัยการสูงสุด แล้วให้อัยการสูงสุดเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ การตีความเช่นนี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้นฟ้า และถือกันว่าเป็นการยึดอำนาจโดยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสถาปนาสูงสุด เหนือกว่ารัฐสภา ที่ได้รับอาณัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ยิ่งกว่านั้น การออกคำสั่งต่อรัฐสภาก็เป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฏหมายใดรองรับ เป็นการใช้อำนาจสั่งเอง
การดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นความพยายามในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเป็นการประสานกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้เรียกชุมนุมประชาชนเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนั้น และสอดคล้องกับการดำเนินการในรัฐสภาของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว. ที่เตะถ่วง ก่อกวน หมายจะยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จงได้
จึงเห็นได้ชัดว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไกสูงสุดของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ใช้ในการสะกัดกั้นการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เป็นไปตามหลักตุลาการวิบัติ ซึ่งใช้อำนาจศาลมาแทรกแซงอำนาจบริหารเสมอมา ดังที่จะได้พบมาแล้วในกรณีเช่น
ในกรณีจากการที่คณะทหารขวาจัดกลุ่มหนึ่งก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ล้มล้างรัฐบาล ล้มเลิกรัฐสภาและล้มเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่มีตุลาการคนใดเลยที่จะออกมาปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมูญ ไม่มีการออกคำสั่งให้คณะทหารหยุดการกระทำเช่นนั้น เพราะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นจริง ยิ่งกว่านั้น เมื่อคณะรัฐประหารออกคำสั่ง คปค.ให้มีผลตามกฏหมาย ศาลทั้งหมดกลับยอมรับให้เป็นกฎหมายได้อย่างชอบธรรม โดยไม่มีการคัดค้าน กลับยอมรับกันว่า เมื่อคณะทหารยึดอำนาจแล้ว มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ่มถุยอะไรมาก็ใช้เป็นกฏหมายได้ ยิ่งกว่านั้น คณะตุลาการยังไปยอมรับการแต่งตั้งของคณะทหารอย่างหน้าชื่นตาบาน
วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตามการแต่งตั้งของฝ่ายทหาร และเป็นที่มาของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย และ พรรคการเมืองเล็กอีก 4 พรรค แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และยังใช้กฏหมายย้อนหลังลงโทษยกเข่งให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีสำหรับคณะกรรมการพรรค 111 คน โดยที่ไม่ปรากฏเลยว่า คนเหล่านี้กระทำผิดในการเมืองในเรื่องใด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายขัดหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง
วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไปจัดรายการโทรทัศน์ชิมไปบ่นไป และ ยกโขยงหกโมงเช้า ซึ่งเป็นความผิดตามการอธิบายในพจนานุกรม นี่ก็เป็นการเปิดศักราชใหม่ในการอธิบายกฎหมายของโลก และถือเป็นคำพิพากษาแบบกระดาษชำระ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ถือเป็นแบบฉบับมิได้
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ศาลรัฐธรรนูญลงมติ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัณชิมา และ พรรคชาติไทย ในข้อหาทุจริตในการเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองกรรมการพรรคทั้งสามพรรค 5 ปี กรณีนี้ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งรัฐบาลแทน ที่ยังจำกันได้คือ เป็นคำแถลงอย่างรีบร้อน เพือจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้ฝ่ายพันธมิตรที่ยึดสนามบินนานาชาติ จนอ่านผิดอ่านถูกเป็นที่ขบขันกันทั่วไป
จากกรณีตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สุดในการดำเนินการกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อเปิดทางให้กับชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร และการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ และจะเห็นได้ว่า ตลอดช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญไม่แสดงบทบาทใดในการถ่วงดุล หรือรบกวนการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์เลย
ดังนั้น เมื่อมาถึงขณะนี้ เห็นได้ชัดแล้วว่า คณะศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ได้ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม คณะแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้รณรงค์ให้ประชาชนลงชื่อเสนอถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญคณะนี้แล้ว แต่น่าจะยังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะปัญหาของการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนี้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงสร้างด้วย นั่นก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีที่มาจากอำนาจของประชาชนเลย และยังเกิดจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ให้อำนาจแก่ศาลและองค์กรอิสระจนล้นฟ้า โดยไม่ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน
ความจริง ถ้าหากมีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป การให้อำนาจศาลเข้ามาเล่นการเมืองอย่างมากมายเช่นนี้ คงจะเป็นเรื่องหนี่งที่มีการพิจารณาแก้ไข และอาจรวมถึงการเพิ่มมาตราที่จะต้องให้มีการตรวจสอบศาล และจำกัดอำนาจศาล แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาเสียก่อน ก็เป็นการชอบที่จะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะเรื่องการยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนอื่นต่อไป
หน้าที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่ประการเดียว คือ การตีความในข้อกฏหมายว่า กฏหมายที่มีผลบังคับใช้นั้น ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพื่อคงไว้ซึ่งฐานะกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงในขั้นการวินัจฉัยเรื่องการขัดรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็ทำได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีศาลมาทำหน้าที่พิเศษ และการให้ศาลมีอำนาจล้มรัฐบาล และลงโทษผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการให้อำนาจศาลมากเกินไป ไม่มีประเทศประชาธิปไตยในโลก ที่จะให้อำนาจศาลมากเท่านี้ โดยไม่ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน
การที่ศาลมีคำตัดสินใด ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิด สังคมก็ยอมรับเสมอ ทำให้เหล่าผู้พิพากษาทั้งหลายเคยตัว คิดว่าคำสั่งและคำตัดสินของตนเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ตุลาการเริ่มคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษมาตั้งแต่อายุยังน้อย และเมื่อสูงอายุมากขึ้น ก็ยิ่งคุ้นเคยมากขึ้นกับการใช้อำนาจ นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำความผิดและถลำมาไกล ดังนั้น สังคมมีความจำเป็นต้องถ่วงดุล โดยยุติการเล่นการเมืองของศาล นำศาลกลับไปตัดสินอรรถคดีตามปกติอย่างที่เคยเป็นมา การยุบศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดีสุด ที่จะควบคุมพฤติกรรมของศาลทั้งหลาย