พนง. สืบสวน สรุป ‘พัน คำกอง’ โดนลูกหลงทหาร อนุดิษฐ์ ชี้อภิสิทธิ์-สุเทพต้องรับผิดชอบ

ประชาไท 26 กรกฎาคม 2555 >>>




25 ก.ค. 55 เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา รัชดา มีการไต่สวนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ชาว จ.ยโสธร ซึ่งถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภ ใกล้แอร์พอร์ทลิงค์ ที่เป็นจุดประจำการของทหาร เมื่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 14 พ.ค. ต่อกับวันที่ 15 พ.ค. 53 จากกรณีที่มีการยิงสกัดรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอซีที) ในฐานะเคยเป็นเลขาธิการศูนย์ติดตามช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยประชาชน (ศชปป.) ที่ตั้งโดยพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.สมิต นันท์นฤมิตร พนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้ จาก สน.พญาไท มาเบิกความ
พ.ต.ท.สมิต ได้เบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ตายนำรถแท็กซี่ไปส่งที่อู่ แล้วเดินกลับที่พัก แต่ไม่สามารถกลับได้จึงไปพักกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่คอนโด Ideao ขณะเกิดเหตุมีเสียงทหารประกาศเตือนรถตู้ของนายสมร ไหมทอง ที่ขับเข้ามาบริเวณนั้นเพื่อไม่ให้เข้ามา หลังจากนั้นมีการยิงสกัดรถตู้ ทำให้นายพันที่อยู่บริเวณนั้นด้วยถูกยิงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผลการตรวจหัวกระสุนในร่างผู้ตายและนายสมรผู้บาดเจ็บ เป็นกระสุนปืนความเร็วสูง และทหารมีกระสุนชนิดนี้ใช้ พร้อมทั้งในพื้นที่เกิดเหตุอยู่ในการควบคุมของทหาร และจากการตรวจที่เกิดเหตุพบว่าแนวบังเกอร์ทหาร รถตู้นายสมรที่ถูกยิง และบริเวณสำนักงานขายคอนโด Ideao ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ตายอยู่เป็นจุดที่แนววิถีตรงกัน พนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้จึงได้เบิกความต่อศาลถึงการสรุปสำนวนคดีนี้ว่า นายพัน คำกองเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงรถตู้นายสมร ไหมทอง แล้วพลาดไปโดน
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบิกความ การสลายการชุมนุมที่มีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าจำนวนมากนั้น กระสุนที่ยิงขึ้นฟ้าจะมีความแรงตกลงมาไม่ต่างจากตอนยิงขึ้นจะสามารถทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ เป็นที่ยอมรับไม่ได้ในทางสากล และการสลายการชุมนุมจะต้องมีการประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมทราบล่วงหน้าก่อนในแต่ละขั้นตอน แต่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่มีการประกาศล่วงหน้า และในวันที่ 10 เมษายน 53 มีการโยนแก๊สน้ำตามาจากอากาศยานในที่ชุมนุมที่มีคนจำนวนมากและไม่มีการประกาศเตือน ทั้งๆ ที่น้ำหนักของกระป๋องแก๊สน้ำตาที่ตกลงมาก็มีความอันตราย
อัยการได้ถามถึงลำดับการบังคับบัญชาในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร น.อ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า จะต้องถูกสั่งมาตามลำดับขั้น แม้สุดท้ายผู้บังคับกองพันจะเป็นคนสั่งให้พลทหารภายใต้สังกัดตัวเองบรรจุกระสุน แต่ผู้พันเองก็ไม่มีอำนาจไปสั่งให้ใครยิงได้จนกว่าผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าจะสั่งการลงมา เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติการทางการทหารผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวคือผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล และอัยการได้ถามต่อว่าผู้บังคับบัญชาสูงสุดขณะนั้นคือใคร นอ.อนุดิษฐ์ ตอบว่าถ้าดูคำสั่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถือเป็นผู้กำกับการปฏิบัติการ ซึ่งได้ถูกแต่งตั้งโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อัยการ ถามต่ออีกว่ากรณีแบบนี้นายกรัฐมนตรีจะสามารถพ้นความรับผิดชอบที่มีการจัดตั้ง ศอฉ. แต่งตั้งผู้อำนาจการ ศอฉ. ได้หรือไม่ นอ.อนุดิษฐ์ เบิกความว่า ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้ภาระความรับผิดชอบในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วการดำเนินการดังกล่าวแล้วไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ตั้งแต่ 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 53 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความฝ่ายผู้ตาย สอบถามต่อถึงรัฐบาลขณะนั้นได้มีการพยายามหยุดยั้งการตายและเจ็บหรือไม่ นอ.อนุดิษฐ์ ตอบว่าการตายยังคงมีอย่างต่อเนื่องภายหลังจาก 10 เมษายน 2553 เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่เปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารและอาวุธ
น.อ.อนุดิษฐ์ ยังได้เบิกความอีกว่า หลังจากมีการสลายการชุมนุมในปี 2552 ที่นำมาสู่การบาดเจ็บทางสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของแต่ละคณะกรรมาธิการ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการใช้กำลังในช่วงตี 2 ตี 3 ของวันที่ 12 เมษายน 2552 ที่เข้าสลายการชุมนุมผู้ชุมนุมที่บริเวณสามเหลียมดินแดง และมาผลักดันที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมาธิการทุกชุดที่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้สรุปการสลายการชุมนุมในเวลากลางคืน โดยกำลังทหารและอาวุธสงคราม กระสุนจริง ไม่สามารถทำได้ จะสลายได้เฉพาะเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจนตก ส่วนการใช้กระสุนจริงจะกระทำไม่ได้
ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ค.53 นั้น ทาง น.อ.อนุดิษฐ์ ได้เบิกความต่อด้วยว่าในขณะนั้นตนและ ส.ส.หลายท่านได้มีการของช่องทางการสื่อสารของทางรัฐบาลทั้งทีวีและวิทยุ เช่น ช่อง 11 รวมถึง ช่อง 3 ให้ฝ่ายค้านได้ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่กลับได้รับการปฏิเสธ
ทนายความฝ่ายผู้ตายสอบถามความเห็นกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มักอ้างถึงชายชุดดำยิงผู้ชุมนุมหรือผู้ชุมนุมยิงกันเองนั้น นอ.อนุดิษฐ์ เบิกความเห็นว่า “จะเกิดจากชายชุดดำอย่างไรเป็นเรื่องที่รัฐบาลขณะนั้นต้องพิสูจน์ แต่หน้าที่ของรัฐบาลต้องปกป้องประชาชน ไม่ใช่นำเอาอาวุธมาดำเนินการกับประชาชน”
ศาลได้ถามเกี่ยวกับวีดีโอที่ถ่ายโดยนายคมสันต์ เอกทองมาก อดีตช่างภาพเนชั่นแชนเนล ที่ถ่ายเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 มีภาพเหตุการณ์การยิงสกัดรถตู้นายสมรว่าในคลิปวีดีโอดังกล่าวคิดว่าจะมีมีชายชุดดำหรือไม่ นอ.อนุดิษฐ์ ตอบว่าเป็นไปไม่ได้เลย ในทางทหารจะมีคำว่า “การสถาปนาพื้นที่” ย่อมแวดล้อมไปด้วยกำลังทหาร การวางกำลังทหารนั้นไม่มีการวางกำลังเพียงแนวเดียว แต่ปกติการวางกำลังทหารจะมีส่วนที่เรียกว่าแนวหน้า รวมไปถึงแนวหลัง แนวสนับสนุน เป็นต้น เพราะฉะนั้นแนวปะทะแบบนี้ ตรงนั้นคือแนวหน้า เพราะฉะนั้นในแนวอื่นจะไม่อนุญาตให้ชายชุดดำมาอยู่ร่วมกับแนวหน้าได้เลย ในทางทหารเป็นไปไม่ได้