เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์นัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องจำนวน 7 ปาก ในคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้องเบิกความต่อศาล
วัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภาในฐานะผู้แทนประธานรัฐสภา ซักค้าน
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องซักถาม
นายวัฒนา: ท่านเป็นวุฒิสภาเคยร่วมประชุมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
เดชอุดม: ผมร่วมบางครั้ง การลงมติวาระที่ 1 ก็ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วัฒนา: เวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญการประชุมรัฐสภาต้องเสนอสัดส่วนทุกพรรคการเมืองและวุฒิสภาเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญ การพิจารณาวาระ 1 แต่ไม่มีใครในห้องประชุมทักท้วงไม่เห็นด้วย
เดชอุดม: ไม่เห็นตั้งแต่แรกแล้ว
วัฒนา: ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จหากประธานรัฐสภาเห็นการร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่ต้องห้าม ต้องส่งให้ กกต. ทำประชามติหลังจากลงประชามติไม่มีใครห้ามได้ แล้วก็มีหน้าที่ในการส่งขึ้นทูลเกล้าฯ และประธานรัฐสภาได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาจะไม่ใช้ดุลพินิจแต่จะตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งที่เป็นกลางขึ้นมาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่านมีความเห็นอย่างไรว่าจะให้ใครเป็นคณะกรรมการเพื่อให้หมดข้อกังวลตามที่มีการกล่าวหาจริงๆ
เดชอุดม: ประเด็นความกังวลเป็นประเด็นรองเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือว่าทำไมถึงมีการตั้ง ส.ส.ร. เพราะว่าในมาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องให้รัฐสภาดำเนินการทำเพียงผู้เดียว ที่ตั้ง ส.ส.ร. มอบอำนาจไปตั้ง ส.ส.ร. ทำไปได้อย่างไร ผมคัดค้านเชิงนิติศาสตร์ว่าไม่ถูกต้องซึ่งอยู่ในคำให้การบันทึกพยาน ผมไม่เห็นด้วยแต่แรกแล้วว่าตั้ง ส.ส.ร. ไม่ได้
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ): พยานคลายกังวลระดับหนึ่งไหมที่ใช้อำนาจประธานรัฐสภา
เดชอุดม: ยังไม่หายความกังวลเพราะการมอบอำนาจให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วสันต์: การโยนให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยผู้เดียวเข้าข้อห้ามหรือไม่เข้าข้อห้ามเมื่อประธานรัฐสภาแสดงเจตนามาแล้วว่าจะตั้งคณะกรรมการในจุดนี้จุดเดียวสบายใจขึ้นคลายความกังวลไหม
เดชอุดม: ไม่สบายใจไม่คลายความกังวล แม้จะตั้งที่ปรึกษาจากคนไหนก็ตามก็เป็นอำนาจของบุคคลคนเดียวอยู่สิ่งที่แก้ไขกันมา ผมไม่เห็นด้วยกับหลักการทั้งหมดข้างต้น
วัฒนา: ถ้า ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญยังไงก็ต้องมีหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ถ้าไม่มีถือว่าขัดรัฐธรรมนูญทันที
เดชอุดม: ถูกต้อง
วัฒนา: แสดงว่าใครจะยกร่างยังไงก็ไม่มีทางแก้ไขได้ทั้งฉบับ
เดชอุดม: ครับ
พล.อ.สมเจตน์: ที่อ้างว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา 136 และมาตรา 291 นั้นเพื่อเป็นการจัดให้มี ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้แล้วจะเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ใช่หรือไม่
เดชอุดม: อยู่ในหลักการและเหตุผลที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับแล้วที่ระบุว่าเพื่อปฏิรูปการเมือง ผมเห็นว่าเมื่อท่านจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมาตรา 291 ไม่ได้ให้ทำทั้งฉบับ และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายมาก แต่แก้ไขแล้วไม่มีการตั้ง ส.ส.ร. การให้ตั้ง ส.ส.ร. ถือว่าทำใหม่ทั้งฉบับคือการยกเลิกรัฐธรรมนูญ
พล.อ.สมเจตน์: เมื่อพิจารณามาตรา 291/13 ของร่างรัฐธรรมนูญที่มอบอำนาจให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดย ส.ส.ร. แล้ว ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาก็มีการคัดค้านประเด็นนี้กว้างขวาง ท่านทราบหรือไม่แม้ว่าจะมีการคัดค้านแสดงเหตุผลต่างๆ ให้ทางรัฐสภาทราบแต่ไม่มีการแก้ไขแต่ให้คงตามร่างเดิมที่เสนอมา
เดชอุดม: ผลสุดท้ายเป็นเช่นนั้น
พล.อ.สมเจตน์: ไม่มีการแก้ไขอำนาจให้ออกจากประธานรัฐสภา มีแต่เพียงคำสั่งของประธานรัฐสภาจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะมั่นใจอย่างไรที่มอบอำนาจความเป็นความตายให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เดชอุดม: ได้ตอบไปแล้ว
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ: ในฐานะนักกฎหมายคิดว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร
เดชอุดม: เป็นของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการทำประชามติประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว
วิรัตน์ กัลยาศิริ
ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้องเบิกความต่อศาล
การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ เพราะฉะนั้น เป็นการล้มล้างอย่างไร จะแสดงให้เห็นว่าจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสุนัย จุลพงศธร และคณะไปยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้งที่มาตรา 291 บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการบังคับให้แก้ไขเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ซึ่งเมื่อไปดูร่างทั้ง 3 ฉบับ ทั้งของ ครม. และของนายสุนัย ชัดเจนแล้วว่าเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ อย่างเช่นฉบับของ ครม. ที่ระบุว่า ให้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แม้ว่าจะเขียนไว้ว่าจะไม่แตะหมวดที่เกี่ยวข้องกับ
พระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่ก็มีหลายมาตราที่ให้พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ
หลายคนคิดว่ากระบวนการล้มล้างรัฐธรรมนูญยังไม่เกิด แต่ผมคิดว่า เกิดขึ้นตั้งแต่มีการร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แล้ว เพราะจะมี ส.ส.ร. เกิดขึ้น เนื่องจากมาตรา 291 อนุญาตให้แก้ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการเป็นรายมาตรา แต่ไม่ให้มีการตั้ง ส.ส.ร.
มีการพูดว่าให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ซึ่งการกระทำของทั้งสามกลุ่ม คือรัฐบาล นายสุนัย และของอีกคณะหนึ่งนั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างชัดเจน โดยมีพฤติการณ์ทั้งในและนอกสภา ในสภาก็ใช้เสียงข้างมาก นอกสภาก็ใช้กำลังกดดันข่มขู่
กระบวนการที่ได้มาซึ่ง ส.ส.ร. สัดส่วน 77 คน มาจากจังหวัดละคน ดูจากการเลือกตั้งทั่วไปของพรรคเพื่อไทย แน่นอน 45 คน เป็นพรรคเพื่อไทยแน่ สัดส่วนอีก 22 คน ที่มาจากเสียงข้างมากในสภา ที่เป็นของพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้น 45 บวก 22 เป็น 67 ก็คือเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้น ผู้มีอำนาจทั้งในประเทศและนอกประเทศ สั่งอะไรย่อมเป็นไปตามสั่งนั้นแน่
เมื่อ ส.ส.ร. ออกมาแล้วก็ให้อำนาจมาไว้ที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา ทำไมไม่ไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ก็เอามาไว้ที่ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 650 คน ทำไมจึงไว้ที่คนคนเดียว ถ้าประธานรัฐสภาเป็นคนดีก็แล้วไป แต่ขณะนี้ชุดของนายสมศักดิ์วางตัวไม่เป็นกลาง โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมายอมรับว่าคลิปที่มีการเปิดเผยเป็นเสียงของนาย
สมศักดิ์จริง มีการประสานงานกับคนทางไกล มีการประสานงานกับทางรัฐบาล นายสมศักดิ์เป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง แสดงให้เห็นว่าประธานสภาเป็นเพียงผู้ชี้ขาดแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งผิดระบบเมื่อถึงเวลานั้นจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ศาลและองค์อิสระอื่นๆ ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการไม่ชอบและดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว
ที่สำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ มีมาตรา 309 อยู่
สุรพล นิติไกรพจน์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้องเบิกความต่อศาล
มาตรา 68 ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิทักษ์รัฐธรรมนูญซึ่งมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา หลักการนี้มีผลบางประการแตกต่างความเข้าใจทางกฎหมายที่มักจะมีการพูดกับนักกฎหมายเสมอว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเฉพาะขณะที่ศาลยุติธรรมมีอำนาจทั่วไป หลักการนี้ถูกต้องบนพื้นฐานกำหนดอำนาจพิจารณาของศาล ผมเห็นว่าอำนาจหน้าที่ มาตรา 68 กำหนดเฉพาะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้อำนาจรับพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลมีอำนาจเฉพาะเรื่องพิทักษ์ปกป้องหลักการรัฐธรรมนูญ
ข้อถกเถียงว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจรับเรื่องการร้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ จากการศึกษาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญประกอบรายงานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผู้ร่างไม่ได้ประสงค์ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องโดยไม่ผ่านการไต่สวนของอัยการสูงสุด (อสส.) หลักฐานข้อนี้อยู่ในรายงานการประชุม กมธ. คิดว่าไม่ว่าผู้ร่างจะประสงค์อย่างไร แต่ถ้อยคำมาตรา 68 ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับพิจารณาคดีนี้ได้
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่ละยุคสมัยตามรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคมการเมือง เศรษฐกิจของประเทศ ความจำเป็นทางการเมืองต่างๆ มีวิวัฒนาการตลอด ขึ้นอยู่กับอำนาจตีความของศาลที่จะพิจารณา ทั้งเรื่องควบคุมกฎหมายปกติไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ด้วยเหตุผลที่เรียนมา ผมจึงมีความเห็นแต่ต้นต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดตามถ้อยคำมาตรา 68 แล้วถ้าไปดูโดยสัมพันธ์กับคำวินิจฉัยศาลฎีกาปี 2489 ก็ยืนยันหลักการเดียวกันว่าศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายมีเนื้อความอย่างไรให้ปฏิบัติ
การที่ผมได้แสดงความคิดเห็นเชิงเนื้อหาว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับน่าจะขัดแย้งเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญนั้น ความเห็นผมอยู่บนพื้นฐานสำคัญ รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับเดียวของประเทศที่ผ่านมาการลงประชามติ ประวัติศาสตร์การเมืองไม่เคยมีรัฐธรรมนูญใดผ่านการลงประชามติ ให้ยอมรับประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยสถานะรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นสัญลักษณ์กระบวนการใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงของประชาชนเป็นครั้งแรก กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก็ไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดผ่านกระบวนการเช่นนี้มาก่อน ถ้าหากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้่งฉบับ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่พึงกระทำโดยผู้ถืออำนาจอธิปไตยโดยตัวแทนประชาชน
ผมเห็นเช่นเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญทุกประเทศย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลง การดำเนินการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองกระทำได้โดยองค์กรที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเท่านั้น
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญได้ มาตรา 291 ที่เป็นฐานคำร้องจะพบว่าเจตนารมณ์มาตรา 291 อนุญาตให้ผู้ถืออำนาจอธิปไตยแทนประชาชนคือ ส.ส. และ ส.ว. สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ไม่มีข้อความใดให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ตามที่มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญมีกลไกป้องกันตนเองไม่ให้ถูกลบล้าง ยกเลิกไปโดยองค์กรใดๆ เว้นแต่องค์กรนั้นๆ จะมีสถานะทางกฎหมายระดับเดียวกับองค์กรที่ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
ผมเห็นว่าภายใต้หลักที่บอกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับแก้ไขได้ตามความจำเป็นในสภาพสังคมนั้นๆ อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญควรดำเนินการวิถีทางเดียวกับอำนาจเริ่มต้นสถาปนารัฐธรรมนูญด้วย
รัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขได้แต่ต้องลงประชามติประชาชนว่าจะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่ที่ประชุมรัฐสภาไม่ได้เป็นไปตามแนวทางนั้น หมายความว่าองค์กรที่ถืออำนาจประชาชนได้แสดงเจตนาให้ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับจนนำไปสู่การลงประชามติ แต่ไม่ได้มีคำถามเบื้องต้นให้ลบล้างความชอบธรรม การสถาปนาของประชาชนหรือไม่ จนกระทั่งทำให้รัฐธรรมนูญนี้สิ้นผลหรือไม่ ผมคิดว่าการกระบวนการนี้ขาดขั้นตอนสาระสำคัญ กระบวนการดำเนินการที่ทำมาทั้งหมดจนสู่วาระที่ 3 เป็นกระบวนวิธีพิจารณาที่ขัดต่อมาตรา 291 เพราะมาตรา 291 เขียนไว้ไม่ประสงค์ให้ลบล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ให้แก้ไขได้บางมาตราบางประเด็นบางส่วน อำนาจลบล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรเป็นอำนาจเดียวกับการสถาปนารัฐธรรมนูญ
การแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้ได้ยกร่างมาตรา 291 แก้ไขมาตราเดียว แต่เมื่อพิจารณาในวาระที่ 2 ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญนี้ได้รับการลงมติเห็นชอบโดยรัฐสภาจะมีผลอัตโนมัติภายใน 8 เดือนหลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ 2550 จะถูกยกเลิกไปเพราะมีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้ามีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มีผู้ใดเห็นเนื้อหาหลักการสำคัญไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่จะกำหนดกลไกพื้นฐานปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นอยู่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นโดยเฉพาะการแก้ไขมาตราเดียวที่ทำอยู่มีผลอัตโนมัติ เมื่อแก้ไขแล้ว ที่ใช้คำเปรียบเทียบว่าเป็นกระบวนการทำลายล้างรัฐธรรมนูญ 2550 จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ไม่เป็นตามเจตนารมณ์ และขัดกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เขียนวรรคสองของมาตรา 291 ขัดที่ให้อำนาจ ส.ส. และ ส.ว. ดุลพินิจทำลายล้างสิ่งที่ประชาชนเจ้าของอำนาจที่ลงประชามติ
ดังนั้น ผมเชื่อว่าตัวร่างรัฐธรรมนูญนี้เขียนให้อำนาจผู้แทนประชาชนมาลบล้างเจตนารมณ์ประชาชนเจ้าของอำนาจ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้น่าจะขัดต่อระบอบปกครอง ขัดคือให้องค์กรอื่นใช้อำนาจลบล้างการตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจ
ถ้ากลไกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดตั้งแต่ต้นว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องให้ลงประชามติก่อน หากเห็นด้วยก็ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถ้าเสียงข้างมากเห็นชอบกระบวนการดั่งว่าก็ดำเนินการไป เพราะเป็นการกระทำของเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรง ซึ่งลบล้างการลงประชามติเมื่อ 6 ปีที่แล้วได้
ชูศักดิ์ ศิรินิล ผู้แทนผู้ถูกร้องของพรรคเพื่อไทย: ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญแห่งนี้จะรับเรื่องนี้พิจารณาได้หรือไม่ตามบทบัญญัติมาตรา 68
สุรพล: เป็นการตีความถ้อยคำของ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีความเห็นอย่างไร เพราะถ้อยคำดังกล่าวกำหนดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากกว่าศาลฎีกา เมื่อปี 2489 ที่เคยวินิจฉัยคดีอาชญากรสงคราม ด้วยมาตรา 68 เขียนไว้ชัดเจน
ชูศักดิ์: แสดงว่าถ้ามีปัญหารัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการยื่นเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญศาล นี้มีอำนาจตีความได้ถูกต้องไหมครับ
สุรพล: ถูกต้อง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าถ้อยคำของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต้องเปิดช่องให้ตีความได้
นายชูศักดิ์ : แสดงว่าเราต้องดูถ้อยคำมาตรา 68 นายสุรพลเป็นปรมาจารย์กฎหมายท่านดูแล้วแปลว่าท่านตีความว่าสามารถทำได้ 2 อย่าง
สุรพล: หมายความทั้งสองอย่าง
ชูศักดิ์: แสดงว่าคำว่า "และ" ไม่ต่างจาก คำว่า "หรือ"
สุรพล: ผมเรียนแต่ต้นจากการศึกษาเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่ประสงค์ให้ศาลรับคดีไว้เองเพราะเป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างที่เขียนแบบนี้ แต่ถ้อยคำกฎหมายเปิดช่องให้ตีความคำว่า "และ" หรือคำว่า "หรือ" ซึ่งตีความได้ทั้งสองอย่าง