ประชาไท 20 กรกฎาคม 2555 >>>
วันที่ 19 ก.ค. 55 นายวิศิษฐ์ สุขยุคล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 กล่าวถึงกรณีที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายโชติศักดิ์ กับพวกรวม 2 คน ผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 50 ผู้ต้องหาไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ว่า ในการพิจารณาสำนวนของอัยการ เห็นว่าการกระทำของนายโชติศักดิ์กับพวกนั้น เพียงแต่ไม่ได้ลุกขึ้นยืนตรงขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรง ภาพยนตร์ เพราะการแสดงความอาฆาตมาดร้ายจะต้องมีการกระทำแสดงให้เห็นด้วย เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อันจะมีลักษณะความผิด ในฐานแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงถือว่าไม่เข้าข่ายตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีนี้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้สรุปสำนวนมีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องให้อัยการ โดยอัยการได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นที่สั่งไม่ฟ้อง ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทำความเห็นแล้ว และ ผบ.ตร. มีความเห็นพ้องกับพนักงานอัยการ คดีจึงเป็นอันยุติไม่ฟ้องคดี
“พฤติการณ์ของนายโชติศักดิ์เป็นลักษณะของกิริยาที่ไม่เหมาะสม หากจะมีกฎหมายที่ให้เป็นความผิด เป็นความผิดจารีตประเพณีที่เป็นกฎหมายเก่า ปี 2485 และมีบทลงโทษให้จำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยคดีมีอายุ 1 ปี หากมีการดำเนินคดีดังกล่าวแล้ว ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับได้ แต่หากผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ต้องทำสำนวนส่งให้อัยการตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เนื่องจากคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ตั้งข้อหาดังกล่าวมาด้วย คดีจึงหมดอายุความไปแล้ว อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่สามารถนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นได้ เพราะแต่ละคดีมีพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏและพยานหลักฐานแตกต่างกันออกไป” นายวิศิษฐ์กล่าว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ที่มี พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีการพิจารณางบประมาณในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมาธิการฯจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ซักถามนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ หลายเรื่องรวมถึงคดีเกี่ยวข้องกับ “ผังล้มเจ้า” นายธาริต ตอบว่า เรื่องการดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทางดีเอสไอเคยเสนอไปยังรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลเพื่อไทย ให้คดีหมิ่นตามมาตรา 112 เป็นคดีพิเศษโดยอัตโนมัติ แต่ทั้ง 2 รัฐบาลไม่เห็นด้วย ดังนั้น จึงถือว่าคดีหมิ่นนั้นถือเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับการดำเนินคดีกับบุคคลที่มีความผิดตามมาตรา 112 นั้น นายธาริตกล่าวว่า มีผู้ใหญ่เรียกไปพบและแสดงความห่วงใยว่าการดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีหมิ่น หากพยานหลักฐานไม่ชัดเจนก็อย่าดำเนินคดี เพราะจะกระทบถึงพระองค์ท่านและขอให้ดีเอสไอใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ การดำเนินคดีไม่เป็นประโยชน์หรือผลร้ายต่อพระองค์ท่าน ก็ไม่ควรจะกระทำ และอัยการ ก็ได้เรียกตนไปถ่ายทอดในถ้อยคำดังกล่าวด้วย ซึ่งตนก็เห็นด้วย ดังนั้น การทำงานของพนักงานสอบสวนเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงหลายส่วน และดำเนินการตามพยานหลักฐานที่ชัดเจนเท่านั้น