ประชาไท 20 กรกฎาคม 2555 >>>
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยบุคคลในพรรคเพื่อไทยในห้วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงมวลชนคนเสื้อแดงว่าคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างกันเสียที
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในความเคลื่อนไหวหลายประการที่คนเสื้อแดงเข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญ ล้วนถูกมองข้ามหรือไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอจากพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด การผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งประชาชนได้ร่วมกันล่าลายชื่อสนับสนุนก็ไม่ปรากฏว่า ส.ส.เพื่อไทย คนใดได้มีความเห็นสนับสนุนอย่างจริงจัง และเชื่อได้อย่างสนิทใจว่าเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็คงจะถูกคว่ำอย่างไม่เป็นท่า
การค้นหาความจริงของเหตุการณ์เมษา/พฤษภาหฤโหดใน พ.ศ. 2553 ก็ไม่มีความคืบหน้ามากมายนักนอกจากการใช้วาทะในการหาคะแนนนิยมไปเรื่อยๆ ทั้งที่บัดนี้ก็อยู่ในสถานะที่จะทำให้กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงสามารถเกิดขึ้นได้มากกว่าในยามเป็นฝ่ายค้าน ยิ่งกับกรณีของ “อากง” ก็มีแต่เห็นความเงียบชนิดเป่าสาก
แม้กระทั่งกับกรณีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าบรรดาเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทยต่างมุ่งจะปกป้องความมั่นคงของรัฐบาลมากกว่าการจะต่อสู้เพื่อสถาปนาอำนาจสูงสุดของประชาชนในระบบการเมืองให้บังเกิดขึ้น คนเสื้อแดงทั้งหลายยังพึงพอใจกับท่าทีในแนวทางเช่นนี้ของพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในท่ามกลางคนเสื้อแดงก็มิได้มีความเป็นอันเหนึ่งอันเดียวกันไปในทุกด้าน มีหลากหลายกลุ่มในฐานะของขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้มีการจัดตั้งแบบแนวดิ่ง ประเด็นซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันอาจเป็นการต่อต้านอำนาจนอกระบบ ซึ่งมักจะถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อระดมไพร่พลในการแสดงพลังหรือกดดันพลังการเมืองแบบอำมาตย์ อันทำให้ดูราวกับว่าเป็นประเด็นนำของการเคลื่อนไหว
แต่ในความเป็นจริงของความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้มองเห็นได้ว่าในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสีนั้น บัดนี้ได้มีการรอมชอมกันในหมู่ชนชั้นนำบังเกิดขึ้นแม้ว่าความรอมชอมนี้อาจไม่ยังไม่เป็นเอกภาพมากนักเนื่องจากความใหญ่โตและสลับซับซ้อนของเครือข่าย แต่ก็สามารถทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในบางลักษณะให้กันและกัน
ดังเช่นหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ให้สามารถกระทำได้แต่ก็จะถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตเพียงบางประเด็นเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขในทุกประเด็นที่เป็นโครงสร้างของระบบการปกครอง ไม่เพียงแค่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงอีกหลายสถาบันที่ยังต้องดำรงอยู่อีกต่อไป ในขณะที่การล้มรัฐบาลด้วยการทำงานองค์กรอิสระก็จะไม่บังเกิดขึ้นเช่นกัน
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเมื่อทางคนในพรรคเพื่อไทยเองกลับออกมาเป็นผู้โจมตีข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เรื่องยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญอย่างสาดเสียเทเสีย ทั้งที่เป็นข้อเสนอเพื่อจะนำไปสู่การสถาปนาอำนาจนำในทางการเมืองของรัฐสภาจากระบบเลือกตั้ง
ความคาดหวังว่าพรรคการเมืองนี้จะเป็นผู้ถือธงนำในการเปลี่ยนแปลงจึงห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก
แม้ว่าในพรรคเพื่อไทยอาจมีผู้มากความสามารถในการใช้วาทะปราศรัยเฉกเช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่พรรคถูกรุมเร้าจากคู่แข่งขันทางการเมืองหรือในการต่อสู้ในห้วงเวลาคับขัน หรือในยามที่เกิดปัญหาขึ้นกับ “ตัวเอง” ก็จะพาร้องแรกแหกกระเชอถึงความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง แต่นอกจากเวทีปราศรัยแล้วนักปราศรัยเหล่านี้ก็ไม่ได้ปรากฏบทบาทในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
ไม่ใช่เป็นเพียงเพราะความแหยหรือเพราะเป็นความไม่ได้เรื่องของบุคคลเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้กระทั่งในห้วงเวลาปัจจุบันพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ใช่สถาบันทางการเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปกำหนดทิศทางได้ตามความต้องการ นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลภายในพรรคยังสามารถชี้นิ้วให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าหรือถอยหลังได้ ด้วยการมองถึงผลประโยชน์หรือความมั่นคงเฉพาะกลุ่มเฉพาะบุคคล
คนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้เงาของพรรคเพื่อไทยจึงอาจจะต้องผิดหวังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้
คนเสื้อแดงทั้งหลายจึงต้องมองหาทางเดินของตนที่เป็นอิสระรวมถึงการสร้างอำนาจในการต่อรองกับพรรคเพื่อไทยให้เพิ่มมากขึ้น การจัดตั้งตนเองในทางสังคมจำเป็นต้องมีมากขึ้นไม่ว่าจะอยู่ภายใต้พรรคเพื่อไทยหรือไม่ก็ตาม โดยเป้าหมายสำคัญคือทำให้เสียงและความต้องการของกลุ่มตนต้องได้รับการให้ความสำคัญมากขึ้น กลไกต่างๆ เพื่อทำให้เสียงของคนเสื้อแดงได้รับการเคารพมากขึ้นต้องถูกผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น การหยั่งเสียงข้างต้นภายในพรรคในการส่งผู้สมัคร ส.ส. เป็นต้น
การร่วมทางกันสามารถเกิดขึ้นได้ในประเด็นที่มีความเห็นร่วมกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามต้อยๆ ไปในทุกแนวทางกับพรรคเพื่อไทยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะคนเท่านั้น
แม้การเดินออกนอกร่มเงาของพรรคเพื่อไทยอาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการลดทอนพลังในการต่อสู้กับฝ่ายอำมาตย์หรือชนชั้นนำ แต่เช่นเดียวกันการอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคโดยที่ไม่ได้มีกระบวนการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแม้แต่กระผีกก็ไม่มีความหมายอันใดเช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม การสร้างฐานของคนเสื้อแดงให้มั่นคงมากขึ้นบนทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยและสันติ อาจนำมาสู่การเชื่อมร้อยกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ในทางสังคมได้มากขึ้น เพราะการผูกติดกับพรรคเพื่อไทยและการแสวงหาประโยชน์ของบางคนในพรรคก็เป็นข้อจำกัดในการทำให้คนเสื้อแดงไม่สามารถหา “พันธมิตร” ในทางการเมืองได้กว้างขวางเท่าที่ควร
การเดินออกจากร่มเงาของพรรคเพื่อไทยเพื่อเป็น “คนเสื้อแดง” มากขึ้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่สำคัญอันหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตอันไม่ไกลนี้