ชั่วโมงนี้ สงครามแย่งชิงพื้นที่เกิดขึ้นทุกสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นสื่อยุคเก่าบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ จนถึงสื่อวิทยุทีวี และสื่อใหม่บนโลกโซเซียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก
ฝุ่นตลบที่สุดคือ เวทีชกด้วยวิวาทะ ต่างรุ่น ต่างสถานะ และต่างช่องทางการสื่อสาร ระหว่าง ขุนพลแถวหน้า ของพรรคเก่าแก่สุดในประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต, มัลลิกา บุญมีตระกูล จนถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หนุ่มใหญ่วัย 48 ปี กับมวยเดี่ยวรุ่นเล็ก แต่จี๊ดจ๊าดสุดๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย ที่ชื่อ "พานทองแท้ ชินวัตร" หนุ่มวัย 32 ปี ซึ่งกล้าต่อกรผ่านอักษรบนเฟซบุ๊ก แทนที่จะแย้มเสียงออกสื่อโผล่หน้าผ่านจอทีวีกับรุ่นบิ๊กๆ เก๋าเกมการเมือง
ลามไปจนถึงยกล่าสุด ที่ต้องปะทะ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" มวยรุ่นเดียวกับ "พ่อ" หลังอดีตรองนายกรัฐมนตรี ผู้นี้ปรารถนาในวันเกิดครบรอบ 63 ปี เมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ตีข่าวแดนไกลไปถึง "ทักษิณ ชินวัตร" ขอร้องให้หยุดทำร้ายประเทศไทย พร้อมฝากคำเตือนไปยังลูกหลานอดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในประเทศไทยอีกด้วย
จากนั้น 2 วัน "โอ๊ค" ทายาทสายตรง "ทักษิณ" ใช้โลกเสมือนของตัวเอง ขึ้นข้อความตอบโต้คำพูดคล้ายคำขู่ "กูไม่กลัวมึง" ซัดกลับ ตามด้วยวาทกรรมเด็ดรอบสัปดาห์ "...อย่าให้พ่อกูกลับมาได้ก็แล้วกัน"
ประเด็นน่าสนใจคือ "โอ๊ค" ใช้ความเด็กกว่าชนกับมวยรุ่นใหญ่ตามหลักทฤษฎี ใช้คนตัวเล็กชนตัวใหญ่ ซึ่งถือว่าชิงพื้นที่ข่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อย "โอ๊ค" เพียงคนเดียวแทบจะทำหน้าที่แทนอา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคนบ้านเลขที่ 111 ที่ไม่มีสถานะอันเหมาะสมจะเล่นเกมนี้
ที่น่าสนใจก็คือ ที่ผ่านมาแทบไม่มีคนในพรรคเพื่อไทยตอบโต้กับ "อภิสิทธิ์" แบบเต็มหมัด แต่วันนี้ ภาระดังกล่าวตกเป็นของ "โอ๊ค" ทายาท "ทักษิณ"
อย่างไรก็ตาม นัยของสงครามรุ่นลูกกับรุ่นพ่อคือ "โอ๊ค" กับ "เทพเทือก" ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ ย้อนกลับไป เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังจะผันสภาพนักธุรกิจไฟแรง มาลงเล่นสนามการเมืองเต็มตัวในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คราวนั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็กำลังโดดเด่นด้วยผลงานบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องพบปะพูดคุย และสานสัมพันธ์เกื้อกูลกันด้วยดีมาตลอด อีกทั้งคราวนั้น กลุ่มชินคอร์ปฯ ก็เป็นทุนใหญ่บริจาคเงินสมทบทุนสร้างสหกรณ์ CO-OP อภิมหาโปรเจ็กต์แห่งเมืองสุราษฎร์ธานี
ยุคนั้น ทักษิณและสุเทพสนิทมากน้อยแค่ไหน เกินกว่าจะวัดระดับได้ แต่เมื่อครั้งปฐมฤกษ์เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ราคา 500 ล้านบาท ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่มีคอนโดมิเนียมหรูริมเจ้าพระยาย่านจรัญสนิทวงศ์ไม่ใกล้ไม่ไกลกัน ก็ได้รับเชิญให้เป็นแขกกิตติมศักดิ์ในการร่วมงานคราวนั้นด้วย
เมื่อพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร จะกวาดเสียงที่นั่งในสภาจัดตั้งรัฐบาลเดี่ยวในการบริหารประเทศได้ถึง 2 สมัย ขณะที่ประชาธิปัตย์พรรคเก่าแก่เสียงข้างน้อย ก็เป็นพรรคผู้นำฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจะตอบโต้กันดุเด็ดเผ็ดมันมานับแต่นั้น สัมพันธ์ระหว่างสุเทพและทักษิณก็เหลือเพียงแค่มิตรส่วนตัว แต่เป็นศัตรูทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ
ต้นปี 2549 ก่อนการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน คอการเมืองที่ติดตามเหตุการณ์มาตลอด คงจำได้ดีเมื่อมีข่าวว่า สุเทพ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้น ซึ่งดำรงอยู่ในสถานะฝ่ายค้านได้ดอดไปพบทักษิณ ณ สถานที่ปิดลับแห่งหนึ่ง แม้ตอนแรกเจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธข่าว ว่า ไม่ได้มีการพบกับทักษิณ แต่เมื่อถูกรุกหนัก ก็ยอมรับเป็นการพบกันในฐานะมิตรเก่า และเรื่องที่คุยกันก็เป็นแต่การเตือนในฐานะเพื่อนคนหนึ่งเท่านั้น
เมื่อไทยรักไทยถูกยุบพรรค กก.บห. ทั้ง 111 คน ถูกแช่แข็ง และทักษิณ ก็ได้ไม่กลับมา... แต่บารมีและอำนาจก็ยังแผ่อานิสงส์ให้พลังประชาชนจัดตั้งเป็นพรรครัฐบาลหลังพ้นยุค คมช. ได้เป็นผลสำเร็จ
กระทั่งเกิดเหตุพลิกขั้วอำนาจทางการเมือง ประชาธิปัตย์ได้ขึ้นเป็นพรรครัฐบาล สุเทพนั่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มือขวาผู้ปกป้อง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี คราวนั้น ความวุ่นวายทางการเมือง จากกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนก็ยิ่งแบ่งแยก แตกสี ทวีความรุนแรงหนักเข้าไปอีก
พร้อมๆ กับสถานภาพทางการเมืองที่สั่นคลอน เลวร้ายลงอย่างรุนแรง จนกลายเป็นอีกหนึ่งบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ที่เกิดการปะทะระหว่าง เจ้าหน้าที่ความมั่นคงและประชาชน จนทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมากในปี 2552-2553
เมื่อก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งล่าสุด ที่พรรคเพื่อไทยพลังอำนาจที่เชื่อมโยง "ทักษิณ" ก็ยังครองเสียงข้างมาก ตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ภายใต้การนำของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แต่กระนั้น สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มิเคยหยุดพูดถึง และยังคงพาดพิงโจมตี เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอดีตเพื่อนซี้ ชื่อ "ทักษิณ" อย่างสม่ำเสมอ
แล้วที่สุด เมื่อพรรคเพื่อไทยเคลื่อน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา จุดแตกหักก็อุบัติขึ้นทันที
กลางเดือนมิถุนายนหลัง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศกลางเวทีปราศรัยว่า ทักษิณ ส่งคนมาเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ให้ค้าน พ.ร.บ.ปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้งผ่านบุคคลที่ตนเองรู้จักและเคารพ โดยบอกใบ้ว่าเป็นบุคคลปริศนา คือ 2 สตรีผู้สูงศักดิ์ และอีก 1 บุรุษ ซึ่งเขาเองบอกปฏิเสธ เพราะไม่สามารถไว้วางใจเพื่อนเก่าคนนี้ที่ไม่เคยทำตามที่บอกเลยสักครั้งได้อีกต่อไป
"สุเทพ" จัดหนัก ขณะที่ "ทักษิณ" กลับนิ่งเงียบ ตามยุทธวิธี "ปรองดอง" แต่ก็น่าประหลาดใจไม่ใช่น้อย ที่มูลเหตุอันใด และเพราะอะไร ที่ "พานทองแท้" จึงตั้งตนเป็นทัพหน้า ในการปะฉะดะ ท้าชน คนของพรรคประชาธิปัตย์ทุกระดับชั้น พร้อมขุดข้อมูลประกอบที่แสบสันต์สั่นอารมณ์ สะเทือนต่อคะแนนเสียงฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าหวาดหวั่น
"พานทองแท้" ไม่ได้เป็นนักการเมืองตามรอย "ทักษิณ" แต่ภาพของเขาตอนนี้คือ ผู้พิทักษ์ "ทักษิณ" ที่ดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือในสายสัมพันธ์ผ่านสายเลือด เพียบพร้อมไปด้วยรายละเอียดประกอบลึกๆ ทั้งยังตอกกลับได้สะใจฝ่ายสนับสนุนกว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยและ แกนนำคนเสื้อแดง เป็นไหนๆ
"โอ๊คต้องให้เกียรติผู้ใหญ่ อย่างน้อยเขาก็เคยเป็นเพื่อนพ่อ" คำพูดที่ "ทักษิณ" เตือนสติ "ลูกโอ๊ค" ให้ยับยั้งในการโต้กลับ
แต่ท้ายแล้วเจ้าตัวก็อดไม่ได้ เมื่อ "โรคขี้ข้าทักษิณ" กำลังเป็นคำระบาดหนักในกลุ่มฝ่ายโจมตี โดยเฉพาะเมื่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" สวมบทหมอทวีตวินิจฉัยว่า ไม่มี "โรคกลัวทักษิณ" มีแต่ "โรคขี้ข้าทักษิณ" ซึ่ง "โอ๊ค" เองก็ใช้พื้นที่โซเชียล มีเดีย อันคุ้นเคยตั้งแต่เช้าของวันที่ 11 กรกฎาคม เย้ยกลับตามหลักการแบบ "โอ๊ค -โอ๊ค" ซัดเป็นเรื่องไร้สาระประเภท "ขี้หมูรา ขี้หมาแห้ง" ทั้งยังข่มกลับให้ระวังคะแนนนิยม "ประชาธิปัตย์" หดหาย...
นี่คือ สงครามชิงพื้นที่ข่าวที่เข้มข้นที่สุด