จำเลยคดีขายซีดี ABC เบิกความพรุ่งนี้-ทนายยื่นขอตีความ ม.112 ขัดรัฐธรรมนูญ

ประชาไท 18 กรกฎาคม 2555 >>>


18 ก.ค.55  ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานคดีเอกชัย (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีขายซีดีสารคดีของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย และเอกสารวิกิลีกส์ ซึ่งพยานโจทก์เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ซึ่งเป็นพยานปากสุดท้ายของฝ่ายโจทก์ ส่วนในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) นายเอกชัย จะขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อานนท์ นำภา ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงแนวทางการสืบพยานเพื่อประกอบคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเพิ่มเติมตามที่ศาลแจ้งไว้วานนี้ โดยประสงค์ให้ออกหมายเรียกพยานจำนวน 2 คน คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา [บุคคลที่ถูกอ้างถึงในเอกสารวิกิลีกส์] โดยระบุว่าหากศาลอนุญาตก็สามารถตัดปากของ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้ ศาลรับคำแถลงดังกล่าวไว้และนัดหมายฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.)
นอกจากนี้ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่า มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 29 มาตรา 45 ประกอบกับมาตรา 8 และมาตรา 6 ซึ่งศาลได้รับเรื่องไว้เพื่อตรวจสอบว่าเคยมีการส่งเรื่องเช่นนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญและมีแนวคำวินิจฉัยไว้แล้วหรือไม่ โดยนัดหมายให้ฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) เช่นกัน
ทั้งนี้ ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลสรุปได้ดังนี้
1. มาตรา 112 ระบุอัตราโทษไว้สูงเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนในการลงโทษ กระทบสิทธิประชาชน ขัดแย้งกับมาตรา 29 ซึ่งระบุว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งอัตราโทษของมาตรา 112 ได้ตราไว้จนเกินเลยกว่าที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมายที่จะคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ คือ มาตรา 8 ได้บัญญัติคุ้มครองพระมหากษัตริย์ไว้เป็นกรณีพิเศษเพียงผู้เดียว มิได้ให้ความคุ้มครองถึงราชินี, รัชทายาท หรือองคมนตรี การที่มาตรา 112 บัญญัติโทษในภาพรวมที่มีอัตราโทษเท่ากันของกลุ่มบุคคลโดยมีสัดส่วนสูงเกินความจำเป็น ไม่แยกอัตราโทษตามสถานะขอบุคคลที่กฎหมายคุ้มครอง จึงทำให้มาตรานี้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ไม่สามารถบังคับใช้ได้
2. มาตรา 112 ขัดแย้งกับมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญ และไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองบุคคลแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการทนพระองค์ และต้องมีการกระทำคือดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลข้างต้น สำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป หลักกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทย่อมหมายถึงทั้งการกล่าวข้อความเป็นเท็จและแม้จะเป็นความจริงแต่หากเสียหายต่อบุคคลที่สาม และหากไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย การกระทำนั้นย่อมเป็นความผิด กรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นไม่เป็นความผิด หรือผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ การกระทำนั้นต้องเป็นไปตามมาตรา 329 และ 330 ของประมวลกฎหมายอาญา คือ กระทำโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม หรืออีกกรณีที่ผู้ถูกหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นก็ไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
การที่บัญญัติข้อยกเว้นไว้เช่นนี้เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเสรีภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มาตรา 45 ก็มีบัญญัติถึงข้อยกเว้นไว้ว่าเสรีภาพนั้นถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ซึ่งมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาหาได้เป็นกฎหมายเฉพาะที่สามารถจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ได้ไม่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามมาตรา 8 ก็มีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า จะแก้ตัวให้พ้นผิดตามข้อมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า จะแก้ตัวให้พ้นผิดตามข้อยกเว้นตามมาตรา 329 ไม่ได้ แต่ต้องเป็นกรณีการกล่าวหาต่อพระมหากษัตริย์เท่านั้น บุคคลอื่น เช่น ราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ย่อมต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายและภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ หากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญแล้ว บุคคลที่แสดงความคิดเห็นย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 การกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่ข้อเท็จจริงอันเป็นการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 แต่มาตรา 112 มิได้บัญญัติถึงข้อยกเว้นในกรณีของพระราชินี รัชทายาท อันจะสอดคล้องกับมาตรา 45 ดังนั้น มาตรา 112 จึงขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 จำกัดการใช้เสรีภาพของจำเลยและไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงมิอาจใช้บังคับเป็นกฎหมาย และไม่อาจใช้บังคับแก่คดีนี้ได้
คำร้องระบุในตอนท้ายว่า ขอศาลโปรดส่งคำโต้แย้งพร้อมความเห็นของจำเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยด้วย พร้อมกันนี้ยังขออนุญาตส่งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ ประกอบความเห็นของจำเลยด้วย