จรัญ ภักดีธนากุล: ถอดรหัส ม.68 "ตุลาการ" พิทักษ์ "รธน."

มติชน 23 กรกฎาคม 2555 >>>




พลันที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำแนะนำว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องมาตรา 291
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนในฐานะผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ 2550 จึงควรให้ประชาชนได้ลงประชามติก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถอนตัวออกจากองค์คณะที่พิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับ "มติชน" ถึงข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ฝ่ายผู้ทรงอำนาจได้พิจารณาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับจากนี้ให้เกิดความผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนน้อยที่สุด

ตกลงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จะต้องยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดหรือศาลรัฐธรรมนูญ

เริ่มต้นที่มาของมาตรา 68 วรรคสอง และมาตรา 63 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2540 มาจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีแนวความคิดเรื่องนี้เป็นครั้งแรกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันเข้าสู่อำนาจรัฐวิถีทางที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเจตนาชัดเจนให้ประชาชนร้องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงความเห็นของฝ่ายผู้ร้องทั้งหมด ดังนั้น ต้นร่างที่ฝ่ายเลขานุการเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เคยได้ใช้คำว่า "ย่อมมีสิทธิยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ" ในชั้นของกรรมาธิการยกร่างก็มีผู้คัดค้านหลายประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ อัยการสูงสุดมีอยู่คนเดียว อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ประชาชนที่รู้เห็นเหตุการณ์ทั่วประเทศจะวิ่งมาเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดได้อย่างไร
แต่ข้อคัดค้านข้อที่สอง มีการเสนอขอแปรญัตติ ให้ประชาชนที่ทราบเรื่องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ นี่คือคำแปรญัตติ เห็นไหมว่ามีสองความเห็น ความเห็นของผู้แปรญัตติตอนนั้นมองว่ามันเป็นสิทธิของประชาชน เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศต้องช่วยกันดูแล ทำไมเอาไปผูกไว้ที่อัยการสูงสุดเพียงคนเดียว ด้วยเหตุนี้เวลาลงมติออกมาเป็นมาตรา 63 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2540 ตัวภาษาจึงเปลี่ยนไป จากคำเดิมร่างเดิมที่เสนอว่า "เสนอเรื่องให้ต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ" กลายเป็น "เสนอเรื่องให้ต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ" เปลี่ยนจาก "เพื่อ" เป็น "และ" กฎหมายที่ออกมาจึงเปิดทางให้แปลความได้สองทาง ด้วยเหตุนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงมาตั้งหลักการพิจารณา มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ถ้อยคำว่า ให้สิทธินี้เป็นสิทธิชนชาวไทย ไม่ใช่เป็นสิทธิบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงคนเดียว เป็นสิทธิของ ชนชาวไทยทั้ง 65 ล้านคน แล้วเป็นสิทธิของที่มีสถานะของตัวเองเรียกชื่อว่า "สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ"

เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดก่อน

อ้าว...ก็ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญนี้มี 2 ความเห็น เพราะว่าสังคมไม่เคยมีข้อมูลเหล่านี้ชัดเจนไม่เคยได้คิดเรื่องนี้ให้ตกผลึก ในศาลมีคนที่มีความเห็นสองฝ่าย เพราะฉะนั้นมติมันจึงไม่เป็นเอกฉันท์ ถ้าเราไปยึดอัยการสูงสุดเพียงผู้เดียวที่ยื่น แล้วถ้าผมจะทำรัฐประหารโค่นล้ม ผมได้คนคนเดียวเท่านั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นหมัน และการให้ความเห็นในทางกว้าง ประชาชนมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้มันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติตรงไหน

มาตรา 68 ถูกมองว่าเป็นการรักษาอำนาจเก่าหรืออำนาจอำมาตย์ให้คงอยู่

ใช้ได้เฉพาะขวางอำนาจใหม่เท่านั้น มันขวางทุกอำนาจที่นอกลู่นอกทางจะเป็นผลร้ายต่อระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะเป็นไปเพื่อให้บุคคลใดได้อำนาจซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้แห่งรัฐธรรมนูญนี้ ไม่เลือกฝ่าย ใครที่อคติกันแน่ มาตรา 68 ไม่ได้มีอคติต่อใครอะไรเลยไม่เลือกฝ่าย ลองดูไม่ว่าใครทำอะไรที่กระทบต่อรากฐานสูงสุดสังคมไทย ไม่ต้องมาตรา 68 หรอกครับ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบในแผ่นดินนี้จะลุกขึ้นมาเรียกร้อง มาตรา 68 เป็นครรลองให้เสียงเรียกร้องต่อต้านที่จะออกไปสู่ถนน เหมือนหลายๆ ประเทศที่เกิดขึ้นให้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างสันติ
ไม่ต้องเกณฑ์คนเป็นล้านมาชุมนุม แต่ว่าแค่คนเดียวยื่นคำร้องมา ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบเบื้องต้นถ้าไม่มีมูลก็ไม่รับคำร้อง ถ้ามีมูลก็ตรวจสอบหน่อยให้หยุดพฤติกรรมนั้นชั่วคราว เหมือนจราจรขอดูใบขับขี่หน่อย เป็นโจรหรือเป็นสุจริตชน

หากอนาคตฝ่ายรัฐสภาจะแก้ไขมาตรา 68 ทำได้หรือไม่

เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ตามมาตรา 291 ที่รัฐสภาจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ได้

หากจะแก้ไขให้ผ่านอัยการสูงสุดก่อนก็ทำได้

เป็นเรื่องของความถูกต้องชอบธรรมและความรับผิดชอบในการใช้อำนาจต้องแยกนะ

การแก้ไขมาตรา 291 ไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ศาลก็รับคำร้องไว้

เป็นขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง พฤติกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พฤติกรรมมันไม่ได้ผิด แต่ผู้ร้องได้ร้องโดยกล่าวอ้าง ถึงเจตนาที่จะทำเพื่ออะไร และนอกเหนือจากเจตนาที่เขากล่าวอ้างต่อไปว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้เกิดการฝ่าฝืนตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งได้ ผู้ร้องถึงต้องมายื่นคำร้อง เขาถึงมาต่อต้านคัดค้าน จนเป็นเหตุการณ์ในบ้านเมืองใกล้ที่จะออกไปสู่ถนนอีกวาระหนึ่งแล้ว เมื่อเขามาร้องและกล่าวอ้างอย่างมีเหตุผลเช่นนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องโดยบอกว่าไม่มีมูล เขาก็ออกไปถนน แล้วก็ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547-2548 เราจะให้ประเทศตกอยู่ในสภาพอย่างนั้นหรือ ซึ่งปี 2549 คือผลสุดท้าย สุกงอมตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2547และ 2548 เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญจึงรับคำร้องไว้แล้วไต่สวน

หากรัฐสภาเดินหน้าแก้ไขมาตรา 291 จะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็สามารถได้

ข้อนี้ต้องไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผมตอบไม่ได้ ไปอ่านวิเคราะห์ดูให้ดี ว่าทำได้ไหม และที่สำคัญควรจะทำหรือไม่ ทำเพื่ออะไร ในที่สุดตัวชี้วัดก็ย้อนมาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่อำนาจ ถ้าเถียงกันเรื่องอำนาจนี้ ศาลไม่ใช่ตัวอำนาจเป็นเพียงองค์กรตรวจสอบไม่สยบยอมต่ออำนาจเท่านั้น แล้วอย่านึกนะว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจวันนี้จะไม่กลับไปเป็นผู้ถูกอำนาจบดขยี้ ถึงวันนั้นใครจะเป็นผู้ให้ความเป็นธรรมกับท่านก็ต้องมาที่ฝ่ายตุลาการ นี่คือประโยชน์ของฝ่ายตุลาการที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจของฝ่ายข้างมาก

ตกลงถ้าแก้ไขมาตรา 291 จะสามารถตั้ง ส.ส.ร. ได้หรือไม่ เพราะประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็ตั้ง ส.ส.ร. ได้
ในปี 2540 ปี 2539 ที่ทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2538 ไม่มีมาตรา 68 ไม่มีมาตรา 63

แต่ปี 2550 ตั้ง ส.ส.ร. ได้โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ในปี 2539 ต้นปี 2540 ทำได้ตั้งแต่ 2538 เพราะรัฐธรรมนูญ 2534 ไม่มีหมวดว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มันต่างกัน เมื่อมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนขึ้นมาแล้ว ดังนั้น เขาจึงมีหน้าที่ที่เขาจะต้องพิทักษ์ด้วย ตามมาตรา 68 และ 69 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มันจึงทำให้การยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วสถาปนาฉบับใหม่ทั้งฉบับมีมูลที่เขาจะร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

แต่ท่านเคยพูดสมัยรณรงค์ให้ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยบอกว่าแก้ไขเพียงมาตราเดียวก็ตั้ง ส.ส.ร. ได้แล้ว
ก็ใช่ นั่นคือคำพูดของผม เพราะฉะนั้นผมจึงถูกถอดถอนตัวเองตัดสินคดีนี้ไม่ได้เพราะผมมีอคติไปแล้ว ผมจึงตอบประเด็นนี้ไม่ได้ ต้องไปวิเคราะห์จากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คนดู ผมตอบไม่ได้

ไม่ได้พลิกคำพูดหรือเปลี่ยนท่าทีจากครั้งนั้น

ถ้าเปลี่ยนนะ ผมก็ไม่ถอนตัวสิ เพราะไม่มีใครคัดค้านผมนี่ และไม่มีใครโต้แย้งผม ถ้าผมจะเปลี่ยนผมก็จะไม่ถอนตัว แต่โดยมารยาทเมื่อเราเคยแสดงความเห็นของตนต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการเช่นนั้นแล้ว ไม่ควรจะมาวินิฉัยคดีนั้นที่พิพาทกันอย่างรุนแรง ก็ต้องถอนตัวออกไป เพราะฉะนั้นที่ผมตอบคำถามบางคำถามไม่ได้ เพราะผมจะไปถูก disqualify (ตัดสิทธิ) ในโอกาสต่อไป

ความกังวลในเรื่องงบประมาณการออกเสียงประชามติที่ต้องทำ 2 ครั้ง ครั้งละ 2,500 ล้านบาท

ทำไมต้องทำ 2 ครั้ง เขาแนะนำให้ทำ 2 ครั้งเหรอ มีใครแนะนำให้ทำประชามติ 2 ครั้ง ศาลรัฐธรรมนูญเขาพูดอย่างนั้นเหรอ เวลาเราจะถามความยินยอมของคนเราถาม 2 ครั้งเหรอ มันไม่มีเหตุผลอะไรเลย สมมุติว่าต้องเสียค่าใช้จ่าย เงินทั้งหมดที่มีการทำประชามติ ออกนอกประเทศแม้แต่บาทเดียวไหม เงินที่เป็นค่าใช้จ่ายภายในประเทศนี้ มันไหลวนอยู่ในประเทศเราไม่ได้สูญเสีย แต่สิ่งที่ทำให้ประเทศทรุดโทรมคือเงินที่ถูกผันออกจากประเทศ

คำแนะนำของศาลให้ทำประชามติก่อนยกร่างใหม่จะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้

อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละคน สมมุติว่าผมมีความคิดของผมอีกแบบหนึ่งและไม่รับฟังคำแนะนำของใคร ผมจะทำตามที่ผมคิด ผมก็ต้องรับผิดชอบความคิดและการกระทำของผม ถูกไหม มันอาจจะถูกแล้วให้ผลดีที่สุดแก่ประเทศนี้ก็ได้ แต่ถ้ามันเกิดผิดพลาดและสร้างความเสียหายให้แก่สังคม
ผมก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเขาเตือนแล้ว อย่าว่าแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเตือนหรือว่าแนะนำเลย วัฒนธรรมไทยแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จิ้งจกร้องทักเขายังหยุดยั้งคิด ระวังให้รอบคอบ นี่คือวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่สุดโต่ง ถืออำนาจเป็นข้อยุติไม่ใช่

ตกลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 จะตกไปหรือไม่

ผมได้แต่ฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นฝ่ายผู้ทรงอำนาจใช้อำนาจไปอย่างไร ก็ได้เรียนแล้วว่าต้องรับผิดชอบ
1. ตรวจสอบกฎหมายก่อนว่าเป็นการใช้อำนาจถูกกฎหมายไหม
2. ถ้าถูกกฎหมายมีอำนาจทำได้ ก็ดูความชอบธรรมว่ามีไหม
3. ถ้าแม้มีความชอบธรรมมีอำนาจแต่อย่าให้มันเร็วเกินไปช้าเกินไป
4. สำรวจความโปร่งใสและความสุจริตใจกันดูว่าที่ทำไปจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและมหาชนชาวสยามหรือว่าจะเป็นประโยชน์ให้แก่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง