ในที่สุดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงรอดพ้นวิกฤตยุบพรรคไปได้อีกครั้ง
สำหรับแนวทางการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดง และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคู่ตรงข้าม มีดังต่อไปนี้
1. เมินคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็น "คำแนะนำ" ไม่ใช่ "คำสั่ง" ไม่มีผลผูกพันต่อรัฐสภา ซึ่งแกนนำคนเสื้อแดงเป็นกลุ่มแรกที่ออกมาตบเท้าสนับสนุนให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ต่อทันที
โดย "ธิดา ถาวรเศรษฐ" แกนนำ นปช. ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาที่ก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่เห็นด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะให้ทำประชามติก่อนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ขณะที่ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" รัฐมนตรีสายสีแดงบอกว่า รัฐสภาต้องเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 เพื่อเริ่มต้นแก้รัฐธรรมนูญตามแนวทางเดิมที่ทำมา
สอดคล้องกับคำพูดของ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ที่ออกมาระบุว่า วิธีการที่ถูกต้องในหลักการ คือให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป เพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตยไม่ให้โอนเอน
"ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ได้สั่งห้าม ส่วนการลงประชามติก่อนการแก้ไขนั้นไม่ชัดเจนในตัวเองว่าเป็นคำแนะนำหรือคำวินิจฉัย"
2. แนวทางการแก้ไขรายมาตรา ตามขั้นตอนในรัฐสภาตามปกติ ซึ่งเป็นแนวทางที่ "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า ได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และเห็นว่าแนวทางนี้จะดีที่สุด ภายใต้การสนับสนุนของ
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้เก๋าเกมการเมือง
นพดลอ้างถึงเหตุผลของที่ต่อสายจาก พ.ต.ท.ทักษิณว่า "รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปรียบเหมือนรถที่ยางแตก เบรกไม่ดี หม้อน้ำร้อน ถ้าบอกให้ขับไปก่อนอีกปีหนึ่งแล้วค่อยมายกเครื่อง คงเป็นความคิดที่ไม่ฉลาด เราควรซ่อมในจุดที่เสียหายเฉพาะหน้าไปก่อน แล้วค่อยมาซ่อมใหญ่ทั้งหมด มาตราที่จำเป็นต้องแก้มีไม่ถึง 10 เรื่องด้วยซ้ำ"
"แนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการและเป็นไปได้มากที่สุดคือการแก้ไขเป็นรายมาตรา แต่ถ้าทำประชามติ ถ้าเริ่มต้นใหม่ก็ใช้เวลานานมาก หรือถ้าตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ก็จะถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญอีก"
"แม้ในทางกฎหมายสามารถเดินหน้าโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้ แต่ทางการเมืองเดินหน้าลำบาก กลายเป็นวงจรอุบาทว์"
ขณะที่ "เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุน เพื่อรักษาสถานะ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์"
เขาบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้อง แก้รายมาตรา
3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยกระบวนการจัดทำ "ประชามติ" พร้อมกับเดินหน้าต่อในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ซึ่งแนวทางนี้ได้รับแรงสนับสนุนโดย "จาตุรนต์ ฉายแสง"
จาตุรนต์เสนอทางสู้ให้ฝ่ายเพื่อไทยว่า ให้ค้างวาระลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไว้ในสภาก่อน จากนั้นให้จัดทำ "ประชามติ" เพื่อยืนยันตามคำวินิจฉัยของศาล และให้รัฐสภาเดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อทันที
เขาย้ำว่า หากรัฐสภาเมินการลงมติในวาระ 3 ระวังคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะติดคุก ฐานกระทำความผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ
"ในหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 291 ระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อการพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 3 ต่อไป กล่าวคือ รัฐสภาไม่มีอำนาจยกเลิกในวาระนี้ เว้นเสียแต่ว่า จะต้องลงมติโหวตให้วาระนี้ตกไปเสียก่อน"
4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอความเห็นชอบจากประชาชน ผ่านการ "ประชามติ" จากนั้นให้ทุกกระบวนการเริ่มต้นใหม่ทั้งระบบ เป็นความเห็นฟากฝ่ายค้านอย่าง "วิรัตน์ กัลยาศิริ" ทีมกฎหมายฝั่ง ปชป.ที่ออกมายืนยันว่า เส้นทางนี้จะทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจ ทั้งรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องปลอดภัยที่สุด
เขาเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่กล้าทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้า จนทำให้รัฐบาลต้องล้ม โดยเฉพาะการเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ซึ่งจะเปิดช่องว่างให้ ปชป. ยื่นฟ้องได้อีก เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
วิรัตน์ บอกว่าหากเพื่อไทยจะเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ต่อไปจะเข้าข่ายมาตรา 68 วรรค 1 อีกครั้ง ที่ระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศมิได้"
วิรัตน์ให้เหตุผลประกอบว่า ในการไต่สวนฝ่ายผู้ถูกร้อง นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้กล่าวยอมรับชัดเจนว่า ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญคือปวงชนชาวไทยและพระมหากษัตริย์ ดังนั้น รัฐสภาไม่สามารถใช้อำนาจนี้ได้
"เมื่อเลขาฯกฤษฎีกาเองก็ยอมรับว่า ผู้ที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญมีเพียง 2 คน คือประชาชนกับพระมหากษัตริย์ รัฐสภาเป็นเพียงผู้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ เพื่อให้กำเนิดรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ถ้ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะเข้าข่ายตามมาตรา 68 วรรค 1 อีกครั้ง"
แต่วาระทั้ง 4 แนวทาง ยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เมื่อเพื่อไทย "สั่งหยุด" ทุกการเคลื่อนไหว ผ่านแถลงการณ์พรรค กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ความว่า
"...กรณีประเด็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น จะมีการลงมติวาระ 3 หรือไม่ จะสอบถามประชามติหรือไม่ เห็นว่า กระบวนการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีองค์ประกอบสำคัญจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณา ว่าจะมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวอย่างไร จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะหาข้อยุติดังกล่าวในขณะนี้"
"เนื่องจากขณะนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง ยังมิได้ประกาศอย่างเป็นทางการ และเพื่อไทยยังคงยืนยันในข้อคัดค้านที่ได้แถลงไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญในวาระ 2 ประเด็น คือ
1. พรรคเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 และ
2. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ"
ทั้งหมดเป็นการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลากหลายแนวทาง ภายใต้การตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแบบรอบทิศทาง