3 ศาลกับโลกาภิวัตน์ : มุมมอง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกา

ประชาไท 29 กรกฎาคม 2555 >>>


วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เผยเบื้องหลังการทำคำวินิจฉัยศาล รธน. คำวินิจฉัยส่วนตัวคาดเสร็จสัปดาห์หน้า, รองประธานศาลฏีกา ชี้ปฏิรูปกระบวนการยุุติธรรมจำเป็น แต่อย่าแตะโครงสร้าง ยกปัญหา ร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา อาจทำคนไม่เท่าเทียมใต้กฎหมาย, ประธานศาลปกครองเสนอระบบคุ้มกันตุลาการ
27 ก.ค. 55 ในงานสัมมนาวิชาการ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม ระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่น 16 เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ช่วงบ่ายมีการจัดเสวนาเรื่อง “ระบบงานยุติธรรมในยุคโลกาภิวัตน์” โดยมี รองประธานศาลฏีกา นายธานิศ เกศวพิทักษ์, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และประธานศาลปกครอง นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล มาร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าว

ตรวจสอบหรือคุกคามศาล ?

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า โลกาภิวัตน์ในมุมมองของเขาคือ การขึ้นเวทีด่าศาลได้เป็นปกติ ทั้งข่มขู่ คุกคาม มีการแจกเบอร์โทรศัพท์คนในครอบครัว
   “เป็นปรากฏการใหม่ที่ค่อยๆ ลุกลาม พวกผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ แม้แต่ศาลอาญาเองก็น่ากลัว มีม็อบบุกเข้าไปถึงบัลลังก์พิจารณา ใส่เสื้อสีเดียวกันเต็มห้อง ออกมานอกห้องก็มี ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องมีตำรวจมาอารักขา นีคือโลกาภิวัตน์สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ” วสันต์ กล่าวและว่า ทั้งที่การเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น มีกฎกติกาที่ไม่เชิญชวนให้ใครเข้าไปเป็นอยู่แล้ว ไม่ว่าในแง่รายได้หรือชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นส่วนตัว โดยที่กฎหมายก็ไม่คุ้มครองศาลรัฐธรรมนูญ สามารถวิจารณ์ได้ เพราะมองเป็นคดีการเมือง ซึ่งหากเป็นการวิจารณ์เชิงวิชาการก็ไม่มีปัญหา และอันที่จริงแล้วมีคดีการเมืองไม่ถึง 20% อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปทำหน้าที่แล้วก็ต้องอดทนเพื่อให้บ้านเมืองสงบ

เบื้องหลังการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ประธานศาลรัฐธรรมนูญยังอธิบายถึงข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยล่าสุดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วยว่า ยังคงยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องนี้ สำหรับคำนิจฉัยกรณีล่าสุดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เขาอธิบายว่า ในวันนัดตัดสินตุลาการทุกคนถือความเห็นส่วนตัวของตนมาคนละฉบับ เมื่อแถลงความเห็นและทราบมติแล้ว ก็จะมีการร่างคำวินิจฉัยกลางขึ้นมาทันที ซึ่งทำให้เกิดการลน ทำไม่ทัน จนเกิดคำวินิจฉัยที่ถูกวิพากษ์มากเช่น ที่เกี่ยวกับการเปิดพจนานุกรม ในระยะหลังจึงปรับเปลี่ยนกระบวนการ โดยการตั้งประเด็นว่าเรื่องนี้มีทางออกี่ทาง แล้วให้เจ้าหน้าที่ยกร่างไว้ทุกทางโดยเรียบเรียงเหตุผลให้ครบถ้วนในแต่ละทาง เมื่อเสียงข้างมากสรุปออกมาเป็นแนวทางไหน ก็จะตรวจแก้ปรับปรุงร่างที่ยกไว้ จึงทำให้คำวินิจฉัยช่วงหลังค่อนข้างเนียน 

คำวินิจฉัยส่วนตัว ออกสัปดาห์หน้า

วสันต์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้คำวินิจฉัยกลางออกแล้ว เหลือแต่คำวินิจฉัยส่วนตัว ซึ่งตุลาการต้องส่งฉบับที่จัดทำไว้แล้วให้เจ้าหน้าที่ตรวจทานความถูกต้องในรายละเอียดทำให้ล่าช้า ขณะนี้แล้วเสร็จแล้ว 3 คน คาดว่าจะเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า

ศาลฎีกาเห็นด้วย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำแนะนำได้

ธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา กล่าวถึงคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญควรให้คำแนะนำ เพราะเป็นกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์สาธารณะ เมื่อพบว่าเขาทำไม่ถูกต้องก็ควรให้คำแนะนำว่าที่ถูกต้องนั้นควรทำอย่างไร
สำหรับประเด็นในการเสวนา รองประธานศาลฎีกากล่าวว่า ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ที่สำคัญคือการมีเครื่องมือสมัยใหม่ในการกระทำผิด ทำให้เกิดคดีต่างๆ และเกี่ยวพันกับศาลโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นคำถามสำคัญว่าเราจะจัดระบบยุติธรรมเพื่อรองรับโลกาภิวัตน์อย่างไร คำตอบรูปธรรมเบื้องต้น คือ ปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เช่น
1. ขยายความคิดฐาน “สมคบกัน” เพื่อกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2. เพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการริบทรัพย์
3. ขยายความผิดสากลให้กว้างขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมสากล
4. ปรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีการใช้ Class-Action ซึ่งหมายถึงให้มีการดำเนินคดีเป็นกลุ่มได้ เพื่อรวมความเสียหายให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้คนตัวเล็กๆ สามารถต่อสู้กับบริษัทใหญ่ได้ และยังมีเงินรางวัลให้กับโจทก์ที่ชนะคดีด้วย

ศาลแรงงานเตรียมปรับ รับเปิดเสรีอาเซียน

ธานิศ กล่าวต่อถึงการรับมือกับโลกาภิวัตน์ว่า ต้องมีการยกระดับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม เช่น ให้เรื่องสิทธิมนุษยชนมีบทบาทมากขึ้น, ใช้นิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น, ระดมบุคลากรในสหวิชาชีพมามีส่วนร่วม, เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และคำนึงถึงกติกาประชาคมโลก โดยรองประธานศาลฎีกาได้ยกตัวอย่างว่า ในปี 2558 จะมีการเปิดเสรีอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก ศาลแรงงานได้มีการเตรียมรองรับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ จากที่ผ่านมาจะถูกติเตียนมากในการวินิจฉัยว่าเมื่อแรงงานเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ แต่ตอนนี้ถึงเวลาปรับแนวคิดผู้พิพากษาแล้ว เนื่องจากองค์กรแรงงานโลกก็ร้องขอมาตลอดไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ และเรื่องนี้ก็เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม โดยถึงที่สุดเราหวังว่าเมื่อศาลไทยเคารพกติกาโลก ศาลในประเทศอื่นก็จะเคารพกติกาโลกและคุ้มครองแรงงานไทยเช่นเดียวกัน

กังวล ร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ทำประชาชนไม่เท่าเทียม

ส่วนข้อควรระวัง รองประธานศาลฎีการะบุว่า การเอาหลักหรือกฎหมายใดจากสากลมาปรับใช้ ต้องคงหลักการสำคัญไว้ เช่น ร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ที่กำลังทำกันอยู่นั้น ในฐานะที่ร่วมเป็นกฤษฎีกาด้วยรู้สึกเป็นกังวลมาก เพราะเป็นการใช้หลักกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ให้ไกล่เกลี่ยในชั้นสอบสวน หรือชะลอการฟ้องในชั้นอัยการ ในคดีซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งยกอำนาจให้พนักงานสอบสวนและอัยการเป็นผู้ตัดสินใจโดยที่ศาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งเชื่อว่าหากเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือคนมีเงินมีบารมี ซึ่งประชาชนจะไม่เสมอภาคกันภายใต้กฎหมายอีกต่อไป
   “การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องจำเป็นถ้าเอาหลักต่างประเทศมาก็ควรต้องเอาหลักทั้งหมดที่เป็นแกนสำคัญคงไว้ด้วย... ระบบศาลไทยยุคปัจจุบัน ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็อย่าไปปรับในโครงสร้าง มิเช่นนั้นจะเกิดความเสียหาย ” ธานิศ กล่าว

ย้ำตุลาการมีอำนาจจำกัด เสนอมีระบบคุ้มกัน

หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจ และความสำคัญของอำนาจตุลาการในการตรวจสอบอำนาจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มักมีพูดกันมากว่าตุลาการมีอำนาจมากจนเกินไปจนกลายเป็นวาทกรรม โดยที่ไม่มีใครอธิบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะอำนาจตุลาการนั้นมีกรอบจำกัด ไม่สามารถแม้แต่จะไปเริ่มเรื่องต่างๆ  เหมือนองค์กรอื่น ส่วนที่ประมุขของศาลต่างๆ ไปร่วมคัดเลือกตัวแทนองค์กรอิสระอื่นๆ นั้น ไม่ใช่การใช้อำนาจตุลาการดังที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่ผ่านมาก็พบว่าศาลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ถูกข่มขู่คุกคามถึงขั้นเอาชีวิตก็มี จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีระบบคุ้มครองตุลาการอย่างจริงจัง

ศาลปกครองมั่นใจระบบพิจารณา ทีมวิชาการปึ้ก

ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวต่อไปว่า สำหรับศาลปกครอง มั่นใจได้ว่ามีกการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเท่าทันสถานการณ์ เพราะลักษณะเด่นของวิธีพิจารณาความของศาลปกครองนั้นใช้ระบบไต่สวนซึ่งนอกจากคู่ความแล้ว ศาลก็สามารถค้นหาข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยศาลปกครองมีคณะกรรมการวิชาการหลายคณะซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ และคอยสนับสนุนข้อมูลทั้งในและต่างประเทศให้ผู้พิพากษา ยกตัวอย่างกรณีน้ำท่วม มีคดีมาที่ศาลปกครองเกือบ 2,000 คดี ฝ่ายวิชาการได้สำรวจล่วงหน้าไว้แล้วว่าคดีแบบนี้ในต่างประเทศมีระบบจัดการเช่นไร ทำให้ศาลมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินคดีประเภทนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาและยุติธรรม
สำหรับการเปิดรับอาเซียน ประธานศาลปกครองกล่าวว่า มีการเตรียมการไว้แล้วอย่างเต็มที่ เพราะรู้ว่ามันจะเกิดปัญหาต่างๆ ด้านคดีความตามมาไม่น้อย เช่น เมื่อเกิดข้อพิพาท ระบบวิธีพิจารณาของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน จะต้องมีการเจรจาตกลงกัน หรือปัญหาด้านภาษาก็ตาม