“พงศ์เทพ” ข้องใจ "จรัญ" ตอบปมประชามติ-ย้ำเดินหน้าวาระ 3 ในยุคที่นักกฎหมายไม่มั่นใจในหลักวิชา

มติชน 24 กรกฎาคม 2555 >>>




แม้ว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีกระแสถกเถียงถึงการทำประชามติ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าการทำมติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่และรูปแบบใด
"มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์ "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีตผู้พิพากษาและอาจารย์สอนกฎหมาย ผู้ยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้นักกฎหมายไม่สามารถมั่นใจเต็มที่ในการตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชา

หากต้องทำประชามติ ขณะนี้ จะออกมาในรูปแบบใด

ร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในสภา ระบุว่า ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะใช้บังคับ ต้องมีการทำประชามติก่อน ตามกฎหมายก็ต้องทำประชามติอยู่แล้ว สอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยเมื่อ 13 กรกฎาคม  แต่ปัญหาคือ เมื่อมีผู้โต้แย้งคัดค้านไม่ให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงมีคำถามว่า ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ ซึ่งหากทำประชามติ ก็ถามได้อย่างเดียวว่า จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับหรือไม่ ไม่สามารถถามอะไรได้มากกว่านี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หน้าตาเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ
เป็นคำถามที่สังคมไทยกำลังถามว่า ก่อนจะมีการลงมติวาระ 3 ต้องไปลงประชามติก่อนสักครั้งหรือเปล่า ซึ่งจะถามได้เพียงว่าเห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งออกมาให้ความเห็น ผ่านบทสัมภาษณ์ มติชนรายวัน ("จรัญ ภักดีธนากุล" ถอดรหัส ม.68 "ตุลาการ" พิทักษ์ "รธน.", 23 ก.ค. 2555) ซึ่งผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลในเรื่องงบประมาณการออกเสียงประชามติที่ต้องทำ 2 ครั้ง ท่านกลับบอกว่าใครให้ไปทำประชามติ 2 ครั้ง
กรณีอย่างนี้ หากถามความเห็นคนทั่วไปก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรเช่นกันที่จะต้องไปลงประชามติ 2 ครั้ง แล้วครั้งแรก ถามแต่ว่าจะยกร่างใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องเห็นว่าการใช้กฎหมายในเมืองไทย มันมีการใช้กฎหมาย มีการตีความกฎหมายที่นักกฎหมายทั้งหลาย แปลกใจคาดไม่ถึง

มั่นใจในเสียงโหวตที่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

การลงประชามติตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดเรื่องจำนวนเสียงเท่าไหร่ แต่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการลงประชามติ ระบุว่า การลงประชามติมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือแบบที่ให้มีผลผูกพัน ซึ่งต้องมีผู้ไปลงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด แล้วในบรรดาผู้ไปออกเสียงทั้งหมด เสียงข้างมากจะเห็นอย่างไร เช่น กรณีสมมุติรัฐบาลมีความคิดจะทำคลองเชื่อมฝั่งตะวันตกกับตะวันออก อย่างคลองคอดกระ หากมีการถามประชามติแล้วประชาชนบอกว่าไม่ให้ทำ
กระบวนการในการที่จะไปทำ คลองคอดกระ ก็ต้องหยุด ถือว่า ถามประชามติแบบผูกพัน เมื่อประชามติไม่ให้ทำแล้ว ใครคิดจะไปทำก็ทำไม่ได้
อีกแบบหนึ่งคือ กรณีให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี อย่างนี้ไม่ต้องดูว่า มีผู้ไปออกเสียงประชามติเท่าไหร่ ไปดูเพียงว่า ความเห็นข้างมากเขาว่าอย่างไร ซึ่งการทำประชามติแบบนี้ จะไม่มีผลผูกพัน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะนำผลประชามติไปอ้างอิงได้ว่า เรื่องที่ต้องการดำเนินการ มีคนเห็นด้วย แต่ไม่ได้บังคับว่าคนที่เกี่ยวข้อง อย่างคณะรัฐมนตรี ต้องไปดำเนินการตามนั้น

คาดว่า อาจจะต้องทำประชามติแบบไหน

ฟังดูเหมือนแบบที่ 1 เป็นผลผูกพัน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีคนถามว่า อย่างกรณีการจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ในกรณีขั้นตอนของสภาขณะนี้  สมาชิกรัฐสภาก็มีอิสระที่จะทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550
เราจะไปดำเนินการใดๆ รวมทั้งการลงประชามติ เพื่อที่จะทำให้เขา ต้องยกมือตามนั้น ได้หรือไม่
เป็นคำถามทางกฎหมาย เพราะเวลาเราทำประชามติ มันมีกลไกที่รัฐบาลต้องทำของตัวเองไป แต่สมาชิกรัฐสภา เขาก็มีอิสระของเขา แล้วหากทำประชามติแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังไม่เดิน เดินไม่ได้ เพราะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือการลงมติวาระที่ 3 ของญัตติที่ค้างอยู่ จึงจะเกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ มีกระบวนการที่บังเอิญเกี่ยวเนื่องกับสมาชิกรัฐสภา ตรงนี้นักกฎหมายก็ต้องมาดูว่า ถ้าจะมีการลงประชามติแบบผูกพัน จะถือว่าผูกพันสมาชิกรัฐสภาได้เลยหรือไม่ จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ตอนนี้จึงได้แต่รอดูคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละคนเพราะ เวลาเราฟังท่านอ่าน ท่านก็ไม่ได้อ่านให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนั้น ที่ท่านอ่านมานั้น เราก็หวังว่า คำวินิจฉัยที่กำลังจะออกมาและที่ออกมาก่อนหน้านี้จะต้องตรงกัน  แต่เราก็ยังไม่แน่ใจ เพราะคนอ่าน อ่านผิดอ่านถูกก็มีได้นะ อ่านตกอ่านหล่นก็มีได้ จึงต้องรอที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ให้เห็นชัดเจนก่อน

ถ้าต้องทำตามเงื่อนไข ให้มีผลผูกพัน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ 23 ล้านเสียง

ไม่ได้เกี่ยวกับ 23 ล้านเสียง แต่เกี่ยวกับว่า ช่วงแรกมีคนไปลงประชามติเกินกึ่งหนึ่งหรือเปล่า ผมเชื่อว่า พี่น้องประชาชนทราบดีว่าที่มารัฐธรมนูญ 2550 เป็นอย่างไร ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากลไกต่างๆ ที่วางไว้ มีปัญหาเยอะ ขณะเดียวกันก็สืบทอด อำนาจของผู้ที่ยึดอำนาจไว้ โครงสร้างต่างๆ มีปัญหา เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาสิ่งเหล่านี้
เป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์ให้พี่น้องผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ไปใช้สิทธิของท่าน แล้วก็แน่นอน เราคาดหวังได้ ว่าคนที่ไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็พยายามที่จะไม่ให้ประชาชนไปออกเสียงประชามติ

พรรคเพื่อไทยมี 15 ล้านเสียง จะทำอย่างไรให้ได้เพิ่มอีก 8 ล้านเสียง

คิดว่า พี่น้องชาวไทยจะมีดุลพินิจ เวลาออกเสียงประชามติจริงๆ ท่านก็คงมีดุลยพินิจ ว่าควรออกเสียงอย่างไร เพราะคนที่พยายามชักจูงให้พี่น้อง ไม่ออกเสียงประชามติก็คงไม่ได้ผล ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชน จะไปออกเสียงประชามติ ไม่ว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ตาม ก็คงจะไปใช้สิทธิของท่านอยู่พอสมควร

แนวโน้มในการโหวตวาระ 3 เป็นอย่างไร

ถ้าฟังจากเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านให้ฟัง การจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับ คำวินิจฉัยที่ศาล รัฐธรรมนูญอ่าน แต่อย่างที่บอกครับว่า การใช้กฎหมายไทยขณะนี้ มันเป็นการใช้กฎหมายที่เราก็คาดไม่ถึง ใครจะไปคิดว่า การยื่นญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้
ทีนี้การใช้กฎหมายแปลกๆ อย่างนี้ ทำให้ผู้ใช้กฎหมายทั้งหลายมั่นใจ ได้ไม่เต็มที่ ที่จะอ่านกฎหมายแล้วตีความตามหลักวิชาตรงไปตรงมา แล้วบอกว่า เรื่องนี้  เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ฉะนั้น เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่รัฐสภา หลังเปิดสมัยประชุม ท่านประธานรัฐสภาจะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบรรจุในวาระให้สมาชิกรัฐสภาทราบ ต้องรอว่าสมาชิกรัฐสภาจะมองอย่างไร เพราะตอนนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เป็นทางการก็จะออกมาแล้ว  เป็นเรื่องของทั้ง ส.ส.และ สว. ที่ต้องอภิปรายกัน เมื่อทราบคำวินิจฉัย

การเดินหน้าโหวตวาระ 3 จะเป็นการท้าทาย การดำรงอยู่ของรัฐบาล หรือไม่

ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญ พูดเรื่องการลงประชามตินั้น ไม่ได้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แต่เป็นความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเห็นเหล่านี้ คู่ความที่เกี่ยวข้องไม่ได้นำเสนอข้อมูล ในเรื่องนี้
พูดง่ายๆ ถ้าเป็นประเด็นแห่งคดี เขาก็จะนำเสนอเรื่องนี้กันอย่างรอบคอบ ศาลจะได้ฟังข้อมูลทุกฝ่าย แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีประเด็นที่ ศาลตั้งขึ้นมาเพื่อบอกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะต้องมีการลงประชามติหรือไม่
เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่ศาลมีอยู่ ผมเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่น้อยนิด เพราะคู่ความและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้นำเสนอข้อมูลตรงนี้ไปที่ศาล แต่เป็นความเห็นที่ขาดข้อเท็จจริงและหลักวิชาต่างๆ ที่จะ ประกอบคำวินิจฉัยเยอะมาก เราจะไปให้ความสำคัญระดับไหน ก็เป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภาจะเป็นผู้ใครครวญ
ขณะเดียวกันถ้าถามเหตุผล ที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านให้ฟัง ว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ผ่านการลงประชามติ ถือว่าประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหา รัฐธรรมนูญใหม่ เขาก็มีการผ่านประชามติ จึงถือได้เช่นเดียวกัน และดีกว่าด้วย เพราะ การลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการลงประชามติแบบที่ประชาชนถูกข่มขู่ ว่าถ้าไม่รับ รัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้ ซึ่งคณะรัฐประหาร เขียนมาให้อย่างไรก็ได้
กรณีล่าสุดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นว่าใครให้ไปลงประชามติ 2 ครั้ง ก็เป็น ส่วนที่รัฐสภานำไปอภิปรายกันได้ แต่เขาจะเห็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา