"โภคิน" เทียบความเหมือน กรณีรัฐประหารเงียบ 2476 กับตุลาการพิฆาต 2555

ประชาชาติธุรกิจ 12 กรกฎาคม 2555 >>>




ในอดีต "โภคิน พลกุล" เป็นรองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียุค "บรรหาร ศิลปอาชา" ถึงยุค "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" เป็นนายกฯ นั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี-รมว.มหาดไทย ในยุค "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นผู้นำประเทศ
จบ "ด็อกเตอร์" ทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส เช่นเดียวกับ "ปรีดี พนมยงค์" ผู้อภิวัตน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
"โภคิน" หายหน้าไปจากแวดวงการเมือง หลังพรรคไทยรักไทยถูกตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคเมื่อกลางปี 2550 ผลักให้กรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คน กลายเป็นนักโทษการเมือง ห้ามยุ่งเกี่ยวการเมืองอีก
ในวันที่ถูกเว้นวรรค เขาใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับหนังสือแนวปกป้องโลก บางเวลาแบ่งสาระชีวิตกับการชมสารคดี ท่องไปในสวนสัตว์ ทุกย่างก้าวเวลานั้นเป็นช่วงที่เขาใช้ทบทวนชีวิต
แต่เมื่อพ้นโทษการเมือง "โภคิน" ถูกเสนอชื่อเป็นขุนพลในขบวนทัพที่ต่อสู้กับแนวทางตุลาการภิวัตน์ ขึ้นให้การกับศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคเพื่อไทยในฝ่าย "ผู้ถูกร้อง" และฝ่ายประชาธิปัตย์เป็น "ผู้ร้อง" ต่อศาลให้วินิจฉัยกรณีการจัดทำ "ร่าง" รัฐธรรมนูญว่ามีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
จากที่เคยนั่งประชุมอยู่ในวงนอก จากที่ยังไม่ตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยประสบปัญหา "โภคิน" จึงยอมปรากฏตัวอยู่แนวหน้าอีกครั้ง ในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกร้อง
ความเห็นทางกฎหมายของ "โภคิน" ถูกจัดวาระผ่านสื่ออย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับวาระสนทนาพิเศษกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
"โภคิน" เห็นแย้ง มองต่างจาก "จาตุรนต์ ฉายแสง" ที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์ศาลรับคำร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นรัฐประหารเงียบ
มุมมองทางกฎหมายของ "โภคิน" เห็นว่า ยังไม่ถึงรัฐประหารเงียบ แต่กำลังจะไปสู่เหตุการณ์นั้น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และยุบพรรค ถึงจะเป็นรัฐประหารเงียบเต็มรูปแบบ
   "ตอนนี้มันแค่เริ่มต้น ยังไม่เกิดอะไร แต่จะไปสรุปตรงที่ใช่หรือไม่เท่านั้น ถ้าเหมือนกับกรณีคุณสมัคร สุนทรเวช คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั่นถือว่าใช่เพราะมันจบแล้ว"
"โภคิน" เทียบเคียง "รัฐประหารเงียบ" ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ครั้งยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสินให้ "สมัคร" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไปจัดรายการชิมไปบ่นไป คล้ายกับ เหตุการณ์ที่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และปรับปรุงคณะรัฐมนตรี พร้อมกับเนรเทศ "ปรีดี" ไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 ว่าเป็นสเต็ปเดียวกัน
   "เหมือนปี 2476 สมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา มีการปิดสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ยุบคณะรัฐมนตรี ทำลายอีกฝ่ายชัดเจน นั่นคือการรัฐประหารเงียบ ส่วนวันนี้ตุลาการภิวัตน์ก็คือการรัฐประหารโดยศาล แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ถ้าเราดูแล้วว่าเขา (ศาลรัฐธรรมนูญ) มีสิทธิ์ยกคำร้อง เนื้อหาไม่เข้าก็จบ แต่ถ้าถึงยุบพรรคก็จะเข้าข่ายรัฐประหารเงียบ"
ในฐานะที่เคยสวมหมวกเป็นถึงรองประธานปกครองสูงสุด เคยอยู่ในระบบตุลาการ "โภคิน" มองเหตุที่ประมุขของศาลมานั่งแถลงข่าวตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยตัวเอง เป็นสัญญาณที่ส่อให้เห็นถึงการมี "อคติ"
   "การเป็นศาลจะต้องไม่มีอคติ ของเรายังไม่ทันไรบางองค์กรพูดล่วงหน้าไปแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้ว่าศาลจะต้องไม่มีอคติ แต่การที่ไปสัมภาษณ์โต้กับเขาไปมานี่เป็นอคติอย่างชัดเจน จริง ๆ ให้สำนักงานอธิบายแทนก็ได้ แต่ศาลอธิบายเองหมด ล้มล้างอย่างนั้นอย่างนี้ เท่ากับว่ามันไม่ neutral (เป็นกลาง)"
ตามทรรศนะ "โภคิน" เมื่อศาลมีอคติต่อผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง สิ่งที่สะท้อนออกมาว่าใครเอียง ใครตรง นั่นคือคำวินิจฉัย เพราะการเขียนวินิจฉัยจะเขียนให้เป็นคุณหรือโทษก็ย่อมทำได้
   "ถ้าพูดจะให้ถือว่ายุบพรรค เขียนยังไงก็ได้อยู่แล้ว แต่จะสมเหตุสมผล ฟังได้หรือไม่ เอาตามด้วยหรือไม่อีกประเด็น หลายคดีเขาเขียนคำวินิจฉัยไม่ได้หักล้างข้อต่อสู้ให้เห็นชัดเจน 6-7 ปีที่ผ่านมาผิดเพี้ยนเยอะแยะไปหมด การเขียนคำวินิจฉัยต่าง ๆ ถ้าเราเห็นว่าใครชนะเราต้องหักล้างข้อต่อสู้ของอีกฝ่ายให้หมดว่าข้อต่อสู้ของอีกฝ่ายฟังไม่ขึ้นอย่างไร แต่ไม่ใช่อันไหนข้อต่อสู้หักล้างไม่ได้ไม่หยิบมาพูด ไปพูดอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีอย่างนี้เยอะขึ้น อคติหรือไม่อยู่ตรงนี้ และสองมาตรฐานก็จะเกิดขึ้นทันที"
คนในปีก "ทักษิณ" ปีก "สีแดง" มองว่าศัตรูของพรรคเพื่อไทยวันนี้คือ "อำมาตย์" คือ "คนชั้นสูงฝ่ายอนุรักษนิยม" ต้องการทำหมันตัดตอนเครือข่าย "ทักษิณ" และพวก รวมถึงพรรคการเมืองในเครือข่าย
"โภคิน" ก็วิเคราะห์เช่นกันว่า สาเหตุที่ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเครื่องมือที่จะใช้ต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยได้
   "รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเครื่องมือที่เขาจะดำรงความเหนือกว่าไว้ได้ เขาก็เกรงว่าถ้ามีการแก้ไข ความเหนือกว่าแบบอยุติธรรมก็จะหมดไป"
   "เขาคิดว่าขนาดมีเครื่องมือแบบนี้แล้วยังแพ้เลือกตั้งตลอด แล้วถ้าไม่มีเครื่องมือจะไปขนาดไหน แต่ถ้าเขาไม่มีเครื่องมือแบบนี้ เขายอมสู้อย่างปกติก็จะมีความชอบธรรมสูง คนก็จะมาดูฝีมือในการทำงาน ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาตัวไม่รอดคนก็เลือกอีกฝ่ายหนึ่ง แต่คุณไม่เชื่อระบบอันนี้ แทนที่คุณจะพิสูจน์ด้วยการทำงาน แต่กลายเป็นว่าจะล้มด้วยวิธีที่ระบบมันผิดปกติหมด"
ในวันที่ "โภคิน" ต้องอยู่แนวหน้าในการต่อสู้ให้พรรคเพื่อไทย เขาวางยุทธวิธีรบเชิงกฎหมายไว้ว่า
เมื่อฝ่ายตรงข้ามร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยกล่าวหาว่า 1. บุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
2. ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ
"ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ที่เกิดขึ้นมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาสู่สภา มีการแก้ไขมาตรา 291 ให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมา ถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองใช่ไหม ผมว่ามันไม่เกี่ยวเลย มันยังอยู่เหมือนเดิมทุกอย่าง แค่มีกลุ่ม ส.ส.ร.
มายกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น"
   "ถามว่าเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญไหม ถ้าไม่เป็นจะไปยื่นแก้ไขตามรัฐธรรมนูญทำอะไร"
   "ต่อให้ลงวาระ 3 ไปแล้ว คุณก็ห่วงว่าเดี๋ยว ส.ส.ร. จะไปเขียนที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไปล้มล้างโน่นล้มล้างนี่ คือคุณไปห่วงลูกที่ยังไม่เกิดได้อย่างไร"
   "เหมือนเรามีนักโทษที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งท้องมีลูก เราบอกว่าลูกออกมามันคงต้องเป็นอาชญากรแน่เลย อย่าให้ลูกออกมาเลย มันคนละเรื่องกันหมด ลูกออกมาจะเป็นหรือไม่เป็นยังไม่รู้ ถ้าลูกออกมาก็ต้องรับผิดชอบตามระบบที่เขาเป็นไปอย่างนั้น"
"โภคิน" สรุปว่า "ทั้งหมดเป็นจินตภาพที่ยังไม่เกิดขึ้น เหมือนเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตมาลงโทษคนที่อยู่ในปัจจุบัน"
อีกหนึ่งข้อโต้แย้งของฝ่ายผู้ร้องที่ประเด็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไม่สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ แต่ "โภคิน" กลับเห็นว่าเป็นเรื่อง "โจ๊ก" กับโจทย์ของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ร้องที่ตั้งประเด็นนี้ขึ้น
   "สมมติแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2557 โดย ส.ส.ร. แก้ไข 30 มาตรา กับให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 พ.ศ. 2557 โดยให้สภาเป็นคนแก้ไข 30 มาตรา เหมือนกับ ส.ส.ร. ร่างเป๊ะ แล้วมาบอกว่าสิ่งที่ ส.ส.ร. ร่างนั้นผิด ทั้งที่เนื้อหาเหมือนกันทุกประการ อย่างนี้มันไม่โจ๊กไปเหรอ"
ในบรรทัดสุดท้าย "โภคิน" อ่านใจศาล ในฐานะที่เคยเป็นศาลด้วยกันว่า "ถ้าเป็นศาลผมต้องยกคำร้อง เพราะข้อเท็จจริงมันไม่เป็นไปตามคำร้อง เราก็เห็นเอง
สิ่งที่คุณบรรยายมามันไม่เป็นอย่างนั้น แล้วเราจะไปรับได้ไง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีอีกกลุ่มมายกร่าง ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันเข้าข่ายตรงไหน"
แต่ถ้าศาลตัดสินเป็นลบกับพรรคเพื่อไทย เขามองว่า "ถ้าอยุติธรรมสุด ๆ บ้านเมืองมันก็ต้องยุ่ง นี่มันจะรังแกไปถึงเมื่อไหร่ จะทำแบบข้าง ๆ คู ๆ เอาสีข้างเข้าถูก็จะทำ คนจะบอกว่าเอาละวะถูกรังแก"
ถ้าพรรคเพื่อไทยถูกรังแกอีกครั้งจริง ๆ "โภคิน" ก็รู้สึกเห็นใจ "ถ้าเป็นไปในทางลบ ดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันเป็นไปได้ทุกที
ลุงหมัก (สมัคร) แค่ไปทำอาหาร ถือว่าผลประโยชน์ทับซ้อนยังต้องไปเลย บางคนแค่ไปทำอาหารยังถูกเหมารวมว่าเป็นหุ้นส่วนไปเลย"
เมื่ออดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุดอย่าง "โภคิน พลกุล" คนจากระบอบทักษิณที่เคยอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ต้องออกมาเป็นแนวรบแถวหน้าเรียกคืนความยุติธรรมให้กับพรรคเพื่อไทย ก่อนเดินเข้าหลักประหารในวันที่ระบอบทักษิณฟื้นอำนาจอีกครั้ง เขาจะทำสำเร็จหรือไม่
อาถรรพ์วันศุกร์ที่ 13 จะมีคำตอบ